คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 388/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไม่ได้กำหนดเวลาและวงเงินไว้จำเลยเดินสะพัดทางบัญชีมาจนถึงวันที่ 29 มีนาคม 2515 หลังจากนั้นไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชี คงมีเพียงรายการดอกเบี้ยที่โจทก์คิดตามสัญญาตลอดมาจนถึงวันหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม2517 แสดงว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายถือว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดโดยปริยายในวันที่ 26 ธันวาคม 2517 โจทก์ย่อมบังคับตามสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2517 แล้ว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 28 กรกฎาคม 2540 เกินกำหนด 10 ปี คดีจึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า มูลคดีเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2511หรือวันที่ 26 ธันวาคม 2517 เป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองรับผิด ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน487,534 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน94,889.44 บาท นับถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2511 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2หุ้นส่วนผู้จัดการ ได้เปิดบัญชีเดินสะพัดกับโจทก์ตามคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.4 จากนั้นได้เบิกเงินเกินบัญชีและเดินสะพัดทางบัญชี โดยมิได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นหนังสือและกำหนดวงเงินไว้ ครั้นวันที่ 26 ธันวาคม 2517 โจทก์หักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายจำเลยที่ 1 มียอดหนี้จำนวน 94,889.44 บาท ต่อมาวันที่ 23 มิถุนายน2540 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายใน15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ โดยระบุยอดหนี้เพียงสิ้นวันที่ 31 พฤษภาคม2540 จำนวน 1,900,974.05 บาท จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 เดือนเดียวกัน ตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 แต่ไม่ชำระหนี้โจทก์จึงฟ้องคดีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2540 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า การเบิกเงินเกินบัญชีและเดินสะพัดทางบัญชีต่อกันมิได้มีกำหนดเวลา อีกทั้งไม่ปรากฏการกำหนดวงเงินไว้ จากรายการแสดงบัญชีเอกสารหมาย จ.11 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1เดินสะพัดทางบัญชีมาจนถึงวันที่ 29 มีนาคม 2515 มียอดหนี้ 64,038.01บาท หลังจากนั้น ไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีดังจะเห็นได้จากโจทก์ได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน,20 กรกฎาคม และวันที่ 15 สิงหาคม 2515 ตามลำดับ และคงมีเพียงรายการดอกเบี้ยที่โจทก์คิดตามสัญญาตลอดมาจนถึงวันหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2517 ดังกล่าว ซึ่งมียอดหนี้ 94,889.44บาท พฤติการณ์เช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นได้ว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายถือว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่มีต่อกันเป็นอันสิ้นสุดโดยปริยายแล้ว ในวันที่ 26 ธันวาคม 2517 โจทก์ย่อมบังคับตามสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2517 แล้ว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 28 กรกฎาคม 2540 เกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ คดีจึงขาดอายุความ”

พิพากษายืน

Share