แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยเพียงแต่ใช้กำลังทำร้ายเตะและต่อยผู้ตายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ส่วนบาดแผลที่เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายมิได้เกิดจากการกระทำของจำเลย จึงมิใช่กรณีที่ผู้ตายถูกจำเลยทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ โจทก์ร่วมซึ่งเป็นบุพการีของผู้ตายจึงไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(2) โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิอุทธรณ์ว่าจำเลยกระทำโดยทารุณโหดร้ายและให้ลงโทษจำเลยสถานหนัก การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยอุทธรณ์ในข้อดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และแม้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัย เนื่องจากเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้กำลังทำร้ายเตะต่อยนายบุญเรือง ทำทอง ผู้ตาย ถูกบริเวณศีรษะและใบหน้าหลายครั้งโดยไม่มีเจตนาฆ่า แต่เป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับอันตรายแก่กายมีเลือดออกในช่องน้ำเลี้ยงสมอง มีภาวะตีบตันของทางเดินน้ำเลี้ยงสมองสมองบวมและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายสม ทำทอง บิดาของผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2540 จำเลยใช้กำลังทำร้ายเตะและต่อยผู้ตายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ต่อมาวันที่ 18 พฤศจิกายน 2540 ผู้ตายถึงแก่ความตาย โดยบาดแผลที่ขมับด้านขวาซึ่งเป็นบาดแผลที่เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายนั้น ยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจะเป็นบาดแผลที่ถูกจำเลยทำร้ายหรือเป็นบาดแผลที่เกิดขึ้นใหม่หลังจากนั้น ยกประโยชน์แห่งความสงสัยในส่วนนี้ให้แก่จำเลยคงลงโทษจำเลยฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายตามที่พิจารณาได้ความและเป็นความผิดอยู่ในตัวเอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192วรรคท้าย พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก6 เดือน และปรับ 2,000 บาท คำให้การรับสารภาพของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 3 เดือน และปรับ 1,000 บาท การกระทำความผิดของจำเลยไม่ร้ายแรงนัก ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับจำเลยอยู่ในวิสัยที่จะกลับตัวเป็นพลเมืองดีได้โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 2 ปี โดยไม่ลงโทษปรับและไม่รอการลงโทษจำคุก คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลย 1 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์ข้อแรกว่า การที่จำเลยเตะบริเวณแก้มของผู้ตายเป็นการกระทำโดยเล็งเห็นผลว่าจะเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ในข้อหาที่โจทก์ไม่ได้กล่าวมาในคำฟ้อง และเป็นข้อหาที่โจทก์ไม่ได้ประสงค์ให้ลงโทษ ศาลจะลงโทษจำเลยในข้อหาดังกล่าวไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยเพียงแต่ใช้กำลังทำร้ายเตะและต่อยผู้ตายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ส่วนบาดแผลที่เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย มิได้เกิดจากการกระทำของจำเลย จึงมิใช่กรณีที่ผู้ตายถูกจำเลยทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้บุพการีของผู้ตายจึงไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(2) และโจทก์ร่วมไม่มีสิทธิอุทธรณ์ข้อที่สองที่ว่าจำเลยทำร้ายผู้ตายโดยกระทำทารุณโหดร้ายและอุทธรณ์ข้อที่สามที่ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำร้ายผู้ตายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายในสถานหนัก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อที่สองและข้อที่สามของโจทก์ร่วมดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 225 และแม้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัย เนื่องจากเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้บังคับไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และยกฎีกาของจำเลย