คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3874/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1112 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าผู้ถือหุ้นที่ยังมิได้ส่งใช้ค่าหุ้นตามวันกำหนด จำต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่กำหนดให้ส่งใช้จนถึงวันที่ได้ส่งเสร็จ แม้ตามมาตรา 1123 บัญญัติว่า “ถ้าผู้ถือหุ้นคนใดละเลยไม่ส่งใช้เงินที่เรียกค่าหุ้นตามวันกำหนด กรรมการจะส่งคำบอกกล่าวด้วยจดหมายส่งลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังผู้นั้น ให้ส่งใช้เงินที่เรียกเก็บกับทั้งดอกเบี้ยด้วยก็ได้” ก็มิได้หมายความว่าหากโจทก์ไม่ได้แจ้งเรื่องการคิดดอกเบี้ยในหนังสือบอกกล่าวที่ส่งให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 แล้วจะทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัด แต่มาตรา 7 บัญญัติว่า “ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี” และมาตรา 224 บัญญัติว่า “หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี…” ผู้ถือหุ้นจึงต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ นับแต่วันที่กำหนดส่งใช้เงินค่าหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1122 ประกอบมาตรา 7 และมาตรา 224

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีอากรพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม 1,827,052.31 บาท จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 310,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบ 300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 79,156.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบ 75,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 4 ชำระเงิน 79,156.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบ 75,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 5 ชำระเงิน 79,156.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบ 75,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 6 ชำระเงิน 78,906.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบ 75,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 7 ชำระเงิน 77,484.37 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบ 75,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 8 ร่วมกันชำระเงิน 75,296.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบ 75,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งแปดขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีอากร เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มจำนวน 1,827,052.31 บาท ให้แก่โจทก์ ในจำนวนเงิน 1,827,052.31 บาท ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์นี้ ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ชำระเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 300,000 บาท ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 75,000 บาท ให้จำเลยที่ 4 ชำระเงินจำนวน 75,000 บาท ให้จำเลยที่ 5 ชำระเงินจำนวน 75,000 บาท ให้จำเลยที่ 6 ชำระเงินจำนวน 75,000 บาท ให้จำเลยที่ 7 ชำระเงินจำนวน 75,000 บาท และให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 8 ร่วมกันชำระเงินค่าหุ้นของนายสนิท ที่ยังส่งใช้ไม่ครบจำนวน 75,000 บาท แต่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 8 ไม่จำต้องร่วมรับผิดหนี้เงินค่าหุ้นของนายสนิทที่ยังส่งใช้ไม่ครบเกินกว่าทรัพย์มรดกของนายสนิทที่ตกทอดได้แก่ตน ทั้งนี้ โจทก์มีสิทธิรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 รวมกันได้ไม่เกินจำนวนหนี้ภาษีอากรค้างที่จำเลยที่ 1 คงค้างชำระหนี้โจทก์ในคดีนี้ กับให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยแต่ละรายรับผิดเท่าที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 และนายสนิท เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ซึ่งยังมิได้ส่งเงินใช้เต็มจำนวนมูลค่าหุ้นตามกฎหมาย นายสนิท ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2548 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสนิท จำเลยที่ 8 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้จัดการมรดกของนายสนิท วันที่ 31 สิงหาคม 2548 จำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) และแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) โดยชำระภาษีอากรไว้ไม่ครบถ้วน เจ้าพนักงานของโจทก์จึงได้ตั้งเป็นยอดภาษีอากรค้างไว้ตามใบแจ้งการค้างชำระภาษีอากร (บช 35 ) สำหรับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ฉบับเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 สำหรับเดือนภาษีมกราคม เดือนภาษีกุมภาพันธ์ เดือนภาษีเมษายน ถึงกันยายน และเดือนภาษีธันวาคม 2546 เป็นหนี้ภาษีอากรค้าง ตามใบแจ้งการค้างชำระภาษีอากร (บช 35) เลขที่ บช 35-03014400-25480831-005-00381 ถึง 00389 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2548 เป็นเงินภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มรวม 706,726.36 บาท ส่วนการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ฉบับยื่นปกติ รอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 1 มกราคม 2546 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2546 เจ้าพนักงานของโจทก์ตั้งยอดภาษีอากรค้างไว้ตามใบแจ้งการค้างชำระภาษีอากรเลขที่ บช 35- 030214400-2548831-002-00167 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2548 เป็นเงินภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มรวม 507,870.27 บาท ค่าภาษีที่เหลือหลังหักเช็คที่จำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายไว้ 35,000 บาท อีก 597,870.27 บาท นอกจากนี้เจ้าพนักงานโจทก์วิเคราะห์แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) สำหรับเดือนภาษีเมษายน 2546 (ฉบับเพิ่มเติม ครั้งที่ 1) ที่จำเลยที่ 1 แสดงยอดขายแจ้งไว้ขาด ยอดซื้อแจ้งไว้ขาด พบว่าจำเลยที่ 1 คำนวณเบี้ยปรับตามแบบแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้อง เนื่องจากเดือนภาษีเมษายน 2546 จำเลยที่ 1 ยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1 (ฉบับปกติ) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2546 ฉบับเพิ่มเติม ครั้งที่ 1) เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2548 ต้องเสียเบี้ยปรับสองเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 (2) เท่ากับ 153,912.74 บาท จำเลยที่ 1 ได้ขอลดและชำระเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 20 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย คิดเป็นเบี้ยปรับที่ลดแล้ว 30,782.55 บาท แต่จำเลยที่ 1 แสดงไว้เพียง 16,112.06 บาท จึงชำระเบี้ยปรับขาดจำนวน 14,670 บาท เจ้าพนักงานประเมินจึงประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เลขที่ ภ.พ. 73-03014400-254812027-005-00039 จำนวน 14,670 บาท โจทก์จัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้ว เจ้าพนักงานของโจทก์ได้ดำเนินการอายัดสิทธิเรียกร้องในบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยที่ 1 บางส่วนได้เงินไม่พอชำระหนี้ภาษีอากรค้างและไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอื่นใดที่จะดำเนินการตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 และนายสนิท เป็นผู้ถือหุ้นที่ชำระมูลค่าหุ้นไว้แล้วเพียงหุ้นละ 25 บาท ยังมีมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบอีกหุ้นละ 75 บาท นายสนิทถึงแก่ความตาย โจทก์ได้มีหนังสือเตือนให้จำเลยที่ 1 นำเงินไปชำระหนี้ภาษีอากรและมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 บอกกล่าวให้ผู้ถือหุ้นนำเงินมาชำระค่าหุ้นให้แก่จำเลยที่ 1 ให้ครบถ้วนตามจำนวนหุ้นที่แต่ละบุคคลถือไว้ แต่จำเลยที่ 1 มิได้นำเงินมาชำระหนี้ภาษีอากรให้แก่โจทก์ และมิได้ดำเนินการใช้สิทธิตามกฎหมายเรียกร้องให้ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 และที่ 8 ในฐานะผู้ถือหุ้นและหรือทายาทหรือผู้จัดการมรดกของผู้ถือหุ้นที่ตายนำเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมาชำระให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์จึงได้ใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ โดยมีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 และที่ 8 ในฐานะผู้ถือหุ้น ทายาทและ/หรือผู้จัดการมรดกของนายสนิท ผู้ถือหุ้นที่ตาย เพื่อให้นำเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบ มาดำเนินการชำระหนี้ค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ได้รับหนังสือไว้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้วด้วยวิธีปิดหมาย โดยจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2556 จำเลยที่ 7 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 นางสุพิศ ในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกของนายสนิท เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2557 แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 มิได้นำเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระมาชำระหนี้ค่าภาษีอากรแก่โจทก์ โจทก์จึงมาฟ้องเป็นคดีนี้ ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีอากร เบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวม 1,827,052.30 บาท จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 300,000 บาท จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ชำระเงินคนละ 75,000 บาท จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 8 ร่วมกันชำระค่าหุ้นของนายสนิท 75,000 บาท แก่โจทก์โดยโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย แต่ทั้งนี้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 8 ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงประการเดียวว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากเงินค่าหุ้นที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1122 เป็นเพียงการให้สิทธิกรรมการที่จะแจ้งเรื่องดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดไว้ในหนังสือบอกกล่าวได้ มิได้หมายความว่า หากโจทก์ไม่ได้แจ้งเรื่องการคิดดอกเบี้ยในหนังสือบอกกล่าวที่ส่งให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 แล้ว จะทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ดังที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยได้ นั้น ปัญหานี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1122 บัญญัติว่า “ถ้าและเงินอันจะพึงส่งใช้เป็นค่าหุ้นตามเรียกนั้น ผู้ถือหุ้นคนใดมิได้ส่งใช้ตามวันกำหนดไซร้ ผู้นั้นจำต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่กำหนดให้ส่งใช้จนถึงวันที่ได้ส่งเสร็จ” ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1122 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ผู้ถือหุ้นที่ยังมิได้ส่งใช้ค่าหุ้นตามวันกำหนด จำต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่กำหนดให้ส่งใช้จนถึงวันที่ได้ส่งเสร็จ แม้ตามมาตรา 1123 บัญญัติว่า “ถ้าผู้ถือหุ้นคนใดละเลยไม่ส่งใช้เงินที่เรียกค่าหุ้นตามวันกำหนด กรรมการจะส่งคำบอกกล่าวด้วยจดหมายส่งลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังผู้นั้น ให้ส่งใช้เงินที่เรียกเก็บกับทั้งดอกเบี้ยด้วยก็ได้” ก็มิได้หมายความว่าหากโจทก์ไม่ได้แจ้งเรื่องการคิดดอกเบี้ยในหนังสือบอกกล่าวที่ส่งให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 แล้วจะทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดดังที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยแต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ยังชำระเงินค่าหุ้นแก่จำเลยที่ 1 ไม่ครบถ้วน โจทก์ซึ่งใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ ได้มีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 และที่ 8 ในฐานะผู้ถือหุ้น ทายาทและหรือผู้จัดการมรดกของนายสนิท ผู้ถือหุ้นที่ตาย เพื่อให้นำเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมาดำเนินการชำระหนี้ค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ได้รับหนังสือบอกกล่าวพร้อมกำหนดให้ส่งใช้ค่าหุ้นไว้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้โจทก์มิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ต้องชำระเอาไว้ในหนังสือดังกล่าว แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 บัญญัติไว้ว่า “ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี” และมาตรา 224 บัญญัติว่า “หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี…” ผู้ถือหุ้นจึงต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ นับแต่วันที่กำหนดส่งใช้เงินค่าหุ้นตามมาตรา 1122 ประกอบมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ชำระเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบโดยไม่กำหนดดอกเบี้ยให้ จึงไม่ต้องความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น แต่เมื่อโจทก์ขอดอกเบี้ยมาเพียงนับถัดจากวันฟ้องจึงให้เท่าที่โจทก์ขอ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 310,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบจำนวน 300,000 บาท จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 79,156.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบจำนวน 75,000 บาท จำเลยที่ 4 ชำระเงิน 79,156.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบจำนวน 75,000 บาท จำเลยที่ 5 ชำระเงิน 79,156.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบจำนวน 75,000 บาท จำเลยที่ 6 ชำระเงิน 78,906.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบจำนวน 75,000 บาท จำเลยที่ 7 ชำระเงินจำนวน 77,484.37 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบจำนวน 75,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 8 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 75,296.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบจำนวน 75,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 8 ไม่จำต้องร่วมรับผิดหนี้เงินค่าหุ้นของนายสนิท ที่ยังส่งใช้ไม่ครบเกินกว่าทรัพย์มรดกของนายสนิทที่ตกทอดได้แก่ตน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share