คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3871/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่โจทก์ขอถอนฟ้องภายหลังจำเลยยื่นคำให้การแล้วและไม่ใช่กรณีที่โจทก์ขอถอนฟ้องเนื่องจากมีข้อตกลงหรือประนีประนอมยอมความกับจำเลย จึงเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ ที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตภายในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควร อย่างไรก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 175 วรรคสอง เมื่อปรากฏว่าที่ดินตามคำฟ้องของโจทก์ ไม่ใช่ที่ดินแปลงที่ โจทก์ประสงค์จะฟ้องจำเลย และโจทก์ได้ขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องในส่วนนี้แล้วแต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตเนื่องจากล่วงเลยเวลาที่จะอนุญาตได้ หากศาลใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและปล่อยให้คู่ความดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปเมื่อศาลพิพากษา ยกฟ้องโจทก์เพราะโจทก์ฟ้องคดีในที่ดินที่ผิดแปลง โจทก์ ย่อมนำ คดีมาฟ้องจำเลยเกี่ยวกับที่ดินแปลงที่พิพาทกันอย่างแท้จริงใหม่ได้ คู่ความทั้งสองฝ่ายก็จะต้องเสียเวลาเสียค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอีก ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจ อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง เพื่อให้โจทก์ไปดำเนินการจัดทำแผนที่ ที่ดินเพื่อนำคดีมาฟ้องใหม่ ย่อมเป็นประโยชน์แก่คู่ความทั้งสองฝ่ายนับเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบและเหมาะสมแล้ว การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยโดยไม่ได้ตรวจสอบที่ดิน ที่จะฟ้องให้แน่นอน เป็นเหตุให้จำเลยต่อสู้คดีและดำเนินกระบวนพิจารณา เสียค่าฤชาธรรมเนียมต่าง ๆ เรื่อยมาถือได้ว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่จำเป็น อันเกิดเพราะความผิดหรือความประมาทเลินเล่อของฝ่ายโจทก์สมควรที่โจทก์จะต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าวแทนจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161และมาตรา 166

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่า ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 8 (ปัจจุบันเป็นหมู่ที่ 15) ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่ประมาณ 55 ไร่ ต่อมาโจทก์นำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการรังวัดออกโฉนดที่ดิน ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้าคัดค้านขอให้ศาลแสดงว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทห้ามจำเลยทั้งห้าเข้ารบกวนการครอบครองห้ามเข้าเกี่ยวข้องและคัดค้านการออกโฉนดที่ดินพิพาท
จำเลยทั้งห้ายื่นคำให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ใช่ของโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะขอออกโฉนดที่ดินพิพาทได้ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนคำฟ้องอ้างว่ารูปแผนที่ที่ดินท้ายคำฟ้องไม่ใช่รูปแผนที่ที่ดินที่โจทก์จะฟ้อง โจทก์ขออนุญาตแก้ไขรูปแผนที่ที่ดินดังกล่าวแล้ว แต่ศาลไม่อนุญาต โจทก์จำเป็นต้องขอถอนคำฟ้องเพื่อจัดทำแผนที่ให้ถูกต้อง และจะฟ้องจำเลยใหม่
จำเลยทั้งห้าแถลงคัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนคำฟ้องได้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
จำเลยทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาคณะปกครองวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 175 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ก่อนจำเลยยื่นคำให้การโจทก์อาจถอนคำฟ้องได้โดยยื่นคำบอกกล่าวเป็นหนังสือต่อศาล”และวรรคสอง บัญญัติว่า “ภายหลังจำเลยยื่นคำให้การแล้วโจทก์อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่ออนุญาตให้โจทก์ถอนคำฟ้องได้ ศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรืออนุญาตภายในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ (1) ห้ามไม่ให้ศาลให้อนุญาต โดยมิได้ฟังจำเลยหรือผู้ร้องสอด ถ้าหากมีก่อน (2)ในกรณีที่โจทก์ถอนคำฟ้อง เนื่องจากมีข้อตกลงหรือประนีประนอมยอมความกับจำเลย ให้ศาลอนุญาตไปตามคำขอนั้น” กรณีคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ขอถอนฟ้องภายหลังจำเลยทั้งห้ายื่นคำให้การแล้วและไม่ใช่กรณีที่โจทก์ขอถอนฟ้องเนื่องจากมีข้อตกลงหรือประนีประนอมยอมความกับจำเลย จึงเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรืออนุญาตภายในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรอย่างไรก็ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 วรรคสอง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ใช่ที่ดินแปลงที่โจทก์ประสงค์จะฟ้องจำเลยทั้งห้าหรืออีกนัยหนึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าในที่ดินที่ผิดแปลงและโจทก์ได้ขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องในส่วนนี้แล้ว แต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตเนื่องจากล่วงเลยเวลาที่จะอนุญาตได้ อันอาจเป็นเหตุให้ทั้งโจทก์และจำเลยทั้งห้าเสียเวลา เสียค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยในชั้นสุดท้ายจะไม่มีฝ่ายใดได้ประโยชน์เลยซึ่งหากศาลใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ในกรณีเช่นนี้แล้ว ปล่อยให้คู่ความดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปความเสียหายดังกล่าวที่มีอยู่เดิมแล้วกลับจะเพิ่มทวีมากขึ้นในที่สุดเมื่อศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะโจทก์ฟ้องคดีในที่ดินที่ผิดแปลง โจทก์ย่อมนำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งห้าเกี่ยวกับที่ดินแปลงที่พิพาทกันอย่างแท้จริงใหม่ได้ ทั้งสองฝ่ายก็จะต้องเสียเวลาเสียค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอีกอยู่ดี ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องเพื่อให้โจทก์ไปดำเนินการจัดทำแผนที่ที่ดินดังกล่าว เพื่อนำคดีมาฟ้องใหม่ตามคำขอของโจทก์ย่อมเป็นการตัดตอนและเป็นการระงับค่าเสียหายดังกล่าวไปได้ช่วงหนึ่งก่อนอันเป็นประโยชน์แก่คู่ความทั้งสองฝ่ายนับเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบและเหมาะสมแล้ว
อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งห้าโดยไม่ได้ตรวจสอบที่ดินที่จะฟ้องให้แน่นอน เป็นเหตุให้จำเลยทั้งห้าต่อสู้คดีและดำเนินกระบวนพิจารณา เสียค่าฤชาธรรมเนียมต่าง ๆเรื่อยมา ถือได้ว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่จำเป็นอันเกิดเพราะความผิดหรือความประมาทเลินเล่อของฝ่ายโจทก์สมควรที่โจทก์จะต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าวแทนจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 161 และมาตรา 166
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลยทั้งห้าโดยกำหนดค่าทนายความให้ชั้นศาลละ 1,500 บาท

Share