แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 บัญญัติให้การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 3 (1) ได้แก่ “การผลิต การจำหน่าย การขนส่ง การมีไว้ในครอบครอง การสำรองและการส่งออกนอกราชอาณาจักรและนำเข้ามาในราชอาณาจักร…” เท่านั้น ดังนั้น คดีนี้ที่โจทก์บรรยายฟ้องมาว่า “…จำเลยร่วมกันซื้อก๊าซปิโตรเลียมเหลว… จากผู้อื่นซึ่งมิได้เป็นผู้ค้าน้ำมัน โดยที่ก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่บรรจุใส่ถังก๊าซหุงต้ม… ดังกล่าว ไม่มีอุปกรณ์ปิดผนึกลิ้นถังก๊าซหุงต้ม (Valve) และไม่มีเครื่องหมายประจำตัวแสดงไว้ที่อุปกรณ์ปิดผนึกลิ้น ถังก๊าซหุงต้ม (Seal)…” การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมิใช่การกระทำที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด เมื่อ พ.ร.ก.แก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 มาตรา 3 (1) มิได้บัญญัติว่าการซื้อก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นความผิด จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องได้ แม้จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพก็ไม่สามารถลงโทษจำเลยทั้งสองได้ การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันซื้อก๊าซปิโตรเลียมเหลว (ก๊าซหุงต้ม) จากผู้อื่นที่มิใช่ผู้ค้าที่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเครื่องหมายประจำตัวผู้บรรจุก๊าซแสดงไว้ที่อุปกรณ์ปิดผนึกลิ้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่คู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 มาตรา 3, 8 พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา 4, 18, 20, 23, 36, 73 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบก๊าซปิโตรเลียมเหลวบรรจุในถังก๊าซหุงต้ม ขนาดบรรจุถังละ 50 กิโลกรัม จำนวน 130 ถัง และขนาดบรรจุถังละ 18 กิโลกรัม จำนวน 288 ถัง ของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 มาตรา 3, 8 พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง, 73 (ที่ถูก ต้องปรับบทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ด้วย) การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันซื้อก๊าซปิโตรเลียมเหลว (ก๊าซหุงต้ม) จากผู้อื่นที่มิใช่ผู้ค้าที่ได้รับใบอนุญาต และไม่มีเครื่องหมายประจำตัวผู้บรรจุก๊าซแสดงไว้ที่อุปกรณ์ปิดผนึกลิ้น จำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันมีวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 (ก๊าซปิโตรเลียมเหลว) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน รวมจำคุกคนละ 2 ปี 6 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี 3 เดือน ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตามมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 ประกอบคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เรื่องกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ข้อ 17 วรรคสาม หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 บัญญัติให้การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 3 (1) ได้แก่ “การผลิต การจำหน่าย การขนส่ง การมีไว้ในครอบครอง การสำรองและการส่งออกนอกราชอาณาจักรและนำเข้ามาในราชอาณาจักร…” เท่านั้น ดังนั้น คดีนี้ที่โจทก์บรรยายฟ้องมาว่า “…จำเลยร่วมกันซื้อก๊าซปิโตรเลียมเหลว… จากผู้อื่นซึ่งมิได้เป็นผู้ค้าน้ำมัน โดยที่ก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่บรรจุใส่ถังก๊าซหุงต้ม… ดังกล่าว ไม่มีอุปกรณ์ปิดผนึกลิ้นถังก๊าซหุงต้ม (Valve) และไม่มีเครื่องหมายประจำตัวแสดงไว้ที่อุปกรณ์ปิดผนึกลิ้น ถังก๊าซหุงต้ม (Seal)…” การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมิใช่การกระทำที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด เมื่อพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ มาตรา 3 (1) มิได้บัญญัติว่าการซื้อก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นความผิด จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องได้ แม้จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพก็ไม่สามารถลงโทษจำเลยทั้งสองได้ การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันซื้อก๊าซปิโตรเลียมเหลว (ก๊าซหุงต้ม) จากผู้อื่นที่มิใช่ผู้ค้าที่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเครื่องหมายประจำตัวผู้บรรจุก๊าซแสดงไว้ที่อุปกรณ์ปิดผนึกลิ้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่คู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า สมควรรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษให้แก่จำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีก๊าซปิโตรเลียมเหลวดังกล่าวไว้ในครอบครองของจำเลยทั้งสองโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสองนับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยทั้งสองอ้างว่า เป็นเพียงผู้รับจ้างขับรถบรรทุกขนส่ง ไม่ใช่เจ้าของหรือมีส่วนร่วมในการติดต่อซื้อขายก๊าซปิโตรเลียมเหลวของกลาง หากจะส่งผลทำให้ประเทศชาติขาดแคลนเชื้อเพลิงและสุ่มเสี่ยง และทำให้เกิดระเบิดเป็นอันตรายต่อชุมชนก็เป็นเรื่องการดำเนินการของผู้เป็นเจ้าของ และจำเลยทั้งสองมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัวและไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ก็ยังไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุก หรือรอการกำหนดโทษให้แก่จำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองโดยไม่รอการลงโทษนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานร่วมกันซื้อก๊าซปิโตรเลียมเหลว (ก๊าซหุงต้ม) จากผู้อื่นที่มิใช่ผู้ค้าที่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเครื่องหมายประจำตัวผู้บรรจุก๊าซแสดงไว้ที่อุปกรณ์ปิดผนึกลิ้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2