คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3856/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คณะกรรมการตรวจการจ้างที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ก.ผู้ว่าจ้างตั้งขึ้นเพื่อตรวจรับมอบงานที่โจทก์ได้ทำตามสัญญาจ้างว่าถูกต้องตามสัญญาหรือไม่ แล้วเสนอไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด ก. นั้น ไม่มีอำนาจในการที่จะสงวนสิทธิเรียกเบี้ยปรับ องค์การบริหารส่วนจังหวัด ก.ซึ่งเป็นคู่สัญญากับโจทก์เท่านั้นที่มีอำนาจที่จะรับมอบงานจากโจทก์หรือไม่ เมื่อองค์การบริหารส่วนจังหวัด ก.ได้เรียกเบี้ยปรับที่โจทก์ส่งมอบงานล่าช้ากว่ากำหนดในสัญญาโดยหักจากเงินค่าจ้างแสดงว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัด ก.หาได้ยอมรับมอบงานโดยมิได้อิดเอื้อน อันจะทำให้โจทก์พ้นจากความรับผิดในการส่งมอบเนิ่นช้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 597 ไม่ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ก. แจ้งแก่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ให้มารับเงินแทนว่าจะหักเงินค่าปรับจากเงินค่าจ้าง ถือว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัด ก. ได้บอกสงวนสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381 แล้วจำเลยผู้เข้าเป็นคู่ความแทนที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดจึงมีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ทำการก่อสร้างบ้านพักครูที่โรงเรียนบ้านป่าพุทรา โรงเรียนบ้านปางมะค่าโรงเรียนบ้านโค้งไฝ โรงเรียนบ้านโพธิ์เอน โรงเรียนบ้านโคกเลาะโรงเรียนบ้านวังหามแห โรงเรียนวัดคูหาสวรรค์โรงเรียนวัดสว่างอารมณ์ และโรงเรียนวชิรสารศึกษาอำเภอขานุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร รวมทั้งหมด 9 หลังตกลงค่าจ้างในราคาหลังละ 100,000 บาท รวมเป็นค่าจ้างทั้งสิ้น900,000 บาท เมื่อโจทก์ก่อสร้างบ้านเสร็จตามสัญญาและส่งมอบงานให้คณะกรรมการตรวจรับงานเรียบร้อย โจทก์ได้รับเงินค่าจ้างงวดแรกหลังละ 35,000 บาท จากจำเลยแล้ว แต่ค่าจ้างงวดที่สองจำเลยไม่ยอมจ่ายโดยอ้างว่าโจทก์ส่งมอบงานล่าช้ากำหนดตามสัญญาจำเลยจะหักค่าปรับจากเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับ โจทก์ไม่ยอมให้ปรับ ทั้งนี้เพราะเมื่อโจทก์ทำสัญญากับจำเลยแล้วได้ทำการก่อสร้างตามแบบในสัญญา เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2522 ปรากฏว่าในบริเวณพื้นที่ที่ทำการก่อสร้างไม่สามารถตอกเข็มลงได้ โจทก์จำเป็นต้องทำการขยายฐานรากทั้งหมด โจทก์นำเรื่องหารือคณะกรรมการตรวจการจ้างและจำเลยแล้วไม่อาจลงความเห็นเกี่ยวกับแบบ รายละเอียดและขนาดการขยายฐานรากได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2523โจทก์ได้รับหนังสือสั่งการแจ้งรายละเอียดและขนาดการขยายฐานรากจากจำเลย ทำให้กำหนดระยะเวลาการก่อสร้างตามสัญญาเสียไปเป็นเวลาถึง 75 วัน ซึ่งจะปรับเอาเป็นความผิดของโจทก์ไม่ได้ทั้งก่อนและหลังสิ้นอายุสัญญา โจทก์พยายามขอขยายระยะเวลาการทำงานตามสัญญาออกไปอีก 70 วัน จำเลยปฏิเสธโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรจำเลยจึงใช้สิทธิตามสัญญาโดยไม่สุจริต และจำเลยได้รับมอบงานตามสัญญาแล้วโดยไม่ทักท้วงสงวนสิทธิ์ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินค่าจ้างตามสัญญาให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 585,000 บาท การกระทำของจำเลยก่อให้เกิดความล่าช้าในการทำงาน โจทก์ต้องซื้อสัมภาระและวัสดุในการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์ เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มจากระยะเวลาเดิม ค่าใช้จ่าย เบี้ยเลี้ยงและเงินเดือนรวมทั้งค่าจ้างคนงานของโจทก์อีก 5 เปอร์เซ็นต์รวมเป็นค่าเสียหาย 20 เปอร์เซ็นต์ ของเงินค่าจ้างที่โจทก์จะพึงได้รับจากจำเลย จำนวน 585,000 บาท คิดเป็นเงินจำนวน117,000 บาท และการที่จำเลยไม่ชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์จำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โจทก์ขอคิดจากวันที่โจทก์ควรได้รับเงินจากจำเลยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2523ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 เดือน 15 วัน เป็นเงินค่าดอกเบี้ยจำนวน3,656.25 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 705,656.25 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 585,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์สร้างบ้านพักครูในเขตอำเภอขาณุวรลักษณบุรีทั้งหมด 9 หลัง งานงวดแรกสัญญากำหนดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 5 ธันวาคม 2522 โจทก์ทำแล้วเสร็จตามสัญญาคณะกรรมการตรวจรับงานของจำเลยได้ตรวจรับงานเป็นที่เรียบร้อยจำเลยได้จ่ายเงินค่าจ้างงวดแรกให้แก่โจทก์เรียบร้อยแล้วส่วนงานงวดที่สองโจทก์ทำเสร็จและส่งมอบงานทุกหลังเมื่อวันที่27 พฤษภาคม 2523 ล่วงเลยกำหนดเวลาตามสัญญา 64 วัน และโจทก์จะต้องชำระค่าภาษีตามสัญญาจ้าง หักภาษี ณ ที่จ่ายในยอดเงินรายรับจำนวน 585,000 บาท เป็นเงิน 18,720 บาท คงเหลือเงินที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ 307,080 บาท จำเลยได้เรียกโจทก์ให้มารับแล้วตัวแทนของโจทก์ไม่ยอมรับเงินดังกล่าว และกรณีไม่ใช่ความผิดของจำเลย คณะกรรมการตรวจรับการจ้างของจำเลยได้ตรวจรับมอบงานงวดที่สองได้บันทึกทักท้วงสิทธิที่จะปรับโจทก์ไว้ และบอกสงวนสิทธิที่จะปรับโจทก์ตามสัญญา การที่โจทก์ส่งมอบงานล่าช้า ทำให้จำเลยเสียหาย และจำเลยมีสิทธิตามสัญญาที่จะบังคับเอาค่าปรับจากโจทก์ได้หลังละ 28,800 บาท รวม 9 หลัง เป็นเงิน 259,200 บาทรวมทั้งภาษีเงินได้ ภาษีการค้า ภาษีส่วนท้องถิ่น และค่าใช้จ่ายจัดเก็บภาษีท้องถิ่นที่โจทก์จะต้องเสียในยอดเงินรายได้ 585,000 บาทหัก ณ ที่จ่ายเป็นเงิน 18,720 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์จะต้องชำระให้แก่จำเลย 277,920 บาท จำเลยจึงขอถือเอาคำให้การนี้เป็นการฟ้องแย้งโจทก์ ขอให้บังคับโจทก์ชำระเงิน 277,920 บาท แก่จำเลยโดยจำเลยขอหักกลบลบหนี้เอาจากเงินค่าก่อสร้างตามสัญญาจำนวน585,000 บาท ซึ่งอยู่ที่จำเลย คงเหลือเงินที่โจทก์ควรจะได้รับจากจำเลย 307,080 บาท โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ทำหนังสือชี้แจงเหตุผลและขอขยายระยะเวลาการก่อสร้างออกไปไม่เกินกำหนดเวลาที่โจทก์จะต้องเสียไปเพราะการรอคอยคำสั่งจากจำเลยซึ่งโจทก์มีสิทธิขอได้ โจทก์ได้รับการปฏิเสธจากจำเลยโดยจำเลยมิได้ชี้แจงเหตุผลให้โจทก์เข้าใจ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาโดยไม่สุจริต ความล่าช้าการส่งมอบงานเนื่องมาจากเหตุปฏิบัติงานล่าช้าเกี่ยวกับการหารือแบบการขยายฐานรากของจำเลยจำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับตามสัญญาเอาจากโจทก์ทั้งคณะกรรมการตรวจรับการจ้างและจำเลยไม่เคยบอกกล่าวสงวนสิทธิที่จะเรียกเงินค่าปรับจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง ระหว่างพิจารณาได้มีพระราชบัญญัติโอนกิจการบริหารโรงเรียนประชาบาลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและโรงเรียนประถมศึกษาของกรมสามัญศึกษากระทรวงศึกษาธิการไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2523 ศาลหมายเรียกสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติเป็นจำเลยแทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน585,000 บาท แก่โจทก์ โดยให้นำเงินเบี้ยปรับที่โจทก์จะต้องชำระแก่จำเลยจำนวน 115,200 บาท มาหักกลบลบหนี้ คำขออื่นของโจทก์จำเลยให้ยก โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในปัญหาที่ว่า จำเลยไม่ต่ออายุสัญญาจ้างการก่อสร้างบ้านพักครูในเขตอำเภอขาณุวรลักษบุรีให้แก่โจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่ ข้อนี้โจทก์กล่าวอ้างเหตุแห่งความล่าช้าในการก่อสร้างบ้านพักครูว่า โจทก์เพิ่งรู้ว่าในเขตจังหวัดกำแพงเพชร พื้นดินแข็งตอกเสาเข็มไม่ลงเมื่อโจทก์ลงมือก่อสร้างตามสัญญา ต้องใช้วิธีขยายฐานรากแทน แต่ในแบบแปลนบ้านพักครูท้ายสัญญาว่าจ้างไม่ได้กำหนดขนาดของฐานรากที่ขยายไว้โจทก์จึงทำฐานรากตามแบบแปลนโดยไม่ขยายฐานราก เมื่อทำงานเสร็จคณะกรรมการตรวจการจ้างให้รับมอบงานและองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชรได้จ่ายค่าจ้างสำหรับงานงวดแรกให้แก่โจทก์แต่ในเวลาเดียวกันโจทก์รับจ้างเหมาก่อสร้างบ้านพักครูในเขตอำเภอคลองขลุงด้วย โจทก์ไม่สามารถตอกเสาเข็มได้ คณะกรรมการตรวจการจ้างให้ขยายฐานรากจากเดิม 70 x 70 เซนติเมตรเป็น 90 x 90 เซนติเมตร โจทก์ได้ขยายฐานรากตามคณะกรรมการสั่งแต่เมื่อส่งมอบงาน คณะกรรมการตรวจการจ้างไม่ยอมรับ โจทก์กลัวจะเกิดปัญหาจึงงดการก่อสร้างบ้านพักครูในเขตอำเภอขาณุวรลักษบุรีด้วย เห็นว่า คณะกรรมการตรวจการจ้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชรได้ตรวจรับมอบงานงวดแรกของบ้านพักครูในเขตอำเภอขาณุวรลักษบุรีแล้ว แต่โจทก์กลับไม่ดำเนินการก่อสร้างบ้านพักครูงวดที่สองต่อจึงเป็นความผิดของโจทก์เอง โจทก์หาอาจอ้างเหตุข้อขัดแย้งระหว่างโจทก์กับคณะกรรมการตรวจการจ้างบ้านพักครูในเขตอำเภอคลองขลุงมาเป็นเหตุว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชรดำเนินการหารือข้อขัดข้องในเรื่องแบบขยายฐานรากล่าช้าได้ไม่ ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชรไม่ต่ออายุสัญญาการจ้างบ้านพักครูในเขตอำเภอขาณุวรลักษบุรีชอบแล้ว ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ในปัญหาที่ว่า จำเลยไม่ต่ออายุสัญญาให้แก่โจทก์ โจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใดหรือไม่ ข้อนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วว่าความล่าช้าในการก่อสร้างบ้านพักครูในเขตอำเภอขาณุวรลักษบุรีเป็นความผิดของโจทก์ โจทก์จะเสียหายหรือไม่อย่างไรจำเลยก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
ในปัญหาที่ว่า โจทก์สร้างบ้านพักครูไม่เสร็จตามสัญญาจำเลยได้รับความเสียหายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยย่อมเป็นฝ่ายที่ได้รับความเสียหายเพราะไม่อาจใช้บ้านพักครูได้ และในสัญญาว่าจ้างตามเอกสารหมาย ป.จ.2 ระบุว่า ถ้าหากผู้รับจ้างส่งมอบงานล่าช้ากว่าวันแล้วเสร็จตามสัญญา ผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างปรับผู้รับจ้างเป็นรายวัน วันละ 450 บาทนับแต่วันล่วงเลยกำหนดวันแล้วเสร็จตามสัญญาจนถึงวันที่ทำงานแล้วเสร็จบริบูรณ์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า โจทก์ส่งมอบงานล่าช้าโจทก์ก็จะต้องถูกปรับตามสัญญาดังกล่าว จึงมีปัญหาต่อไปตามที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยไม่บอกสงวนสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากโจทก์จำเลยจึงเรียกเบี้ยปรับจากโจทก์ไม่ได้นั้น ประเด็นข้อนี้ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยมา จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวน และศาลฎีกาเห็นว่าการรับมอบงานจากโจทก์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชรได้ตั้งคณะกรรมการตรวจการจ้างเพื่อตรวจรับมอบงานที่โจทก์ได้ทำตามสัญญาจ้างว่าถูกต้องหรือไม่ แล้วเสนอไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชรเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการที่จะสงวนสิทธิเรียกเบี้ยปรับแต่อย่างใด องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชรซึ่งเป็นคู่สัญญากับโจทก์เท่านั้นที่มีอำนาจที่จะรับมอบงานจากโจทก์หรือไม่คดีนี้ฟังได้ว่า เมื่อโจทก์มอบอำนาจให้นายอำพลไปขอรับเงินค่าจ้างองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชรได้เรียกเบี้ยปรับที่โจทก์ส่งมอบงานล่าช้ากว่ากำหนดในสัญญา นายอำพลไม่ยอมรับจำนวนเงินค่าจ้างที่เหลือจากที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชรได้หักไว้เป็นเบี้ยปรับตามสัญญาปรากฏตามบันทึกเอกสารหมายป.จ.13 แสดงให้เห็นชัดว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชรหาได้ยอมรับมอบงานโดยมิได้อิดเอื้อนไม่ ซึ่งจะทำให้โจทก์พ้นจากความรับผิดเพื่อการที่ส่งมอบเนิ่นช้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 597 และการที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชรแจ้งแก่ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้มารับเงินแทนว่าจะต้องหักค่าปรับจากเงินค่าจ้าง กรณีถือได้ว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชรได้บอกสงวนสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381 จำเลยจึงมีสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับจากโจทก์ได้ และที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเบี้ยปรับโจทก์มานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share