แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 ถึง 6 มีนาคม 2528เวลากลางคืนและกลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยนำความเท็จไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสำเหร่ ว่าโจทก์ทำร้ายร่างกายจำเลยและชิงทรัพย์คือสร้อยคอทองคำขาว 1 เส้น พร้อมจี้เพชรของจำเลยเพื่อแกล้งให้โจทก์รับโทษทางอาญา โดยระบุว่าความจริงเป็นอย่างไร โจทก์ไม่จำต้องระบุในฟ้องว่าพนักงานสอบสวนเป็นผู้ใดก็สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ และลักษณะของการกระทำผิดในคดีนี้ปรากฏว่าจำเลยแจ้งความ 2 ครั้ง ต่อเนื่องกันใน 2 วันดังกล่าวทั้งเป็นการกล่าวแสดงเจตนาของจำเลยในตัวว่า จำเลยทราบแล้วว่าความจริงไม่เป็นดังที่จำเลยแจ้งต่อพนักงานสอบสวน ฟ้องโจทก์ได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาสถานที่พอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158(5) แล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5-6 มีนาคม 2528 เวลากลางคืนและกลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยนำข้อความอันเป็นเท็จไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสำเหร่ว่า โจทก์ทำร้ายร่างกายจำเลยและชิงทรัพย์คือ สร้อยคอทองคำขาวหนัก 1 บาท 1 เส้นกับจี้เพชรรวมราคา 50,000 บาท ของจำเลยไป ความจริงแล้วในวันที่ 5มีนาคม 2528 เวลาประมาณ 17.30 นาฬิกา โจทก์ไปทวงเงินค่ารับเหมาจากจำเลย จำเลยไม่ยอมชำระ กลับทำร้ายร่างกายโจทก์แล้วไปแจ้งความเท็จแก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสำเหร่ว่าโจทก์ชิงทรัพย์เพื่อแกล้งโจทก์ให้ได้รับโทษทางอาญา พนักงานสอบสวนควบคุมตัวโจทก์ไว้ดำเนินคดีข้อหาชิงทรัพย์ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องถูกขังอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลสำเหร่ ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2528 ถึงวันที่ 12มีนาคม 2528 รวม 7 วัน และถูกพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังที่ศาลอาญาธนบุรีอีก โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการหาหลักทรัพย์มาประกันตัวและต้องเสียชื่อเสียง ภายหลังพนักงานอัยการ กรมอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องโจทก์ เหตุเกิดที่แขวงบุคคโล เขตธนบุรีกรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 172,173, 174
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 173 จำคุก 6 เดือน คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 ถึง 6มีนาคม 2528 เวลากลางคืนและกลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยได้นำข้อความอันเป็นเท็จไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสำเหร่ว่า โจทก์ทำร้ายร่างกายและชิงทรัพย์คือสร้อยคอทองคำขาว 1 เส้นพร้อมจี้เพชรของจำเลยไปโดยไม่ระบุให้แน่ชัดว่าวันเวลาใดแน่ และใครเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งความ ทั้งไม่มีข้อความว่าจำเลยทราบว่ามิได้มีความผิดจริง แต่ก็ยังแจ้งความเท็จดังกล่าว อันเป็นองค์ประกอบของความผิด เห็นว่าตามคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายไว้แล้วว่าเมื่อวันที่ 5 ถึง 6 มีนาคม 2528 เวลากลางคืนและกลางวันต่อเนื่องกันเป็นวันที่จำเลยแจ้งความเท็จต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งลักษณะของการกระทำผิดในคดีนี้ ปรากฏว่าจำเลยแจ้งความ 2 ครั้งต่อเนื่องกันใน 2 วันดังกล่าว ส่วนพนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งความเป็นผู้ใดโจทก์ไม่จำต้องระบุในฟ้องก็สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้นอกจากนี้ฟ้องโจทก์ยังระบุว่าจำเลยแจ้งความเท็จก็เพื่อแกล้งให้โจทก์รับโทษในทางอาญา อันเป็นการกล่าวแสดงเจตนาของจำเลยในตัวว่าจำเลยทราบแล้วว่าความจริงไม่เป็นดังที่จำเลยแจ้งต่อพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137,172, 173, 174 ฟ้องโจทก์ได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาสถานที่พอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
ส่วนข้อเท็จจริง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยเจตนาแจ้งความเท็จจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173
พิพากษายืน.