คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1557/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญายอมในศาลมีความว่า จำเลยยอมให้โจทก์ลงชื่อในโฉนดเลขที่ 3371 มีส่วนเนื้อที่ 1 ไร่ โดยให้โจทก์เลือกเอาที่ทางส่วนไหนของที่ดินก็ได้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเลือกชี้เอาได้โดยรวมกันแล้วต้องไม่เกิน1 ไร่ตามสัญญา แต่การเลือกชี้เอานั้นต้องกระทำอย่างสุจริต มิใช่เป็นการกลั่นแกล้งจำเลย ถ้าโจทก์เลือกชี้เอาอย่างไม่สุจริตใจแล้ว ศาลก็ย่อมไม่บังคับแบ่งให้ตามนั้น ข้อที่จำเลยไม่ยอมโดยหาว่าโจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริตก็เพียงแต่จำเลยให้เหตุผลว่าที่ดินส่วนที่เหลือ จำเลยใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย ถือไม่ได้ว่าเป็นการที่โจทก์เลือกชี้เอาโดยไม่สุจริต

ย่อยาว

คดีนี้ เดิมโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดที่ 3371 ให้โจทก์ ต่อมาโฉนดนี้แยกออกเป็นโฉนดที่ 19668 จำเลยยอมให้โจทก์ลงชื่อร่วมหรือลงชื่อในโฉนดเมื่อแบ่งแยกเสร็จ โจทก์ขอลงชื่อร่วม จำเลยไม่จัดการให้ ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยให้โจทก์มีชื่อร่วมในโฉนดที่ 19668 ฯลฯ

จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดนัด ฯลฯ

ถึงวันนัดสืบพยานครั้งแรก โจทก์จำเลยทำสัญญายอมความกันและศาลชั้นต้นพิพากษาไปตามยอม สัญญายอมนั้นมีข้อความว่า จำเลยยอมให้โจทก์ลงชื่อในโฉนดที่ 3371 และมีส่วนเนื้อที่ 1 ไร่โดยให้โจทก์เลือกเอาที่ทางส่วนไหนของที่ดินก็ได้ โจทก์จะชำระเงินให้จำเลย 17,000 บาทในวันนั้นโจทก์วางเงิน 17,000 บาทไว้กับศาลแล้ว ศาลชั้นต้นได้จ่ายเงินจำนวนนี้ให้แก่จำเลยรับไปแล้ว

ต่อมาโจทก์มาร้องต่อศาลชั้นต้นว่า โจทก์จำเลยไปพบเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว โจทก์แสดงเจตนาขอให้แบ่งที่ดินตามสิทธิที่จำเลยยอมให้ฝ่ายโจทก์เป็นผู้เลือก ฝ่ายจำเลยกลับไม่ยอมตกลงกันไม่ได้ โจทก์จึงต้องมาดำเนินการทางศาลเพื่อแบ่งแยกที่ดินให้โจทก์ต่อไป ศาลชั้นต้นนัดให้จำเลยนำโฉนดมาศาล จำเลยแถลงว่าที่ดินที่โจทก์เลือกไปแล้วนั้น ส่วนที่เหลือใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ เป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต แกล้งให้เกิดการเสียหายแก่จำเลยศาลชั้นต้นสั่งนัดพร้อมกันใหม่ โดยให้โจทก์ไปทำรูปที่ดิน (ที่เลือกเอา) ว่ากว้างยาวและเหลืออย่างไร ให้คำนวณโดยประมาณก่อน ให้ทำแผนที่ส่งศาลในวันนัดพร้อม ถึงวันนัดพร้อม โจทก์ยื่นคำแถลงพร้อมกับแผนที่ที่ทำมา โดยแถลงว่าโจทก์ซื้อที่ดินเพื่อปลูกบ้านอยู่อาศัย ที่ดินที่จำเลยโอนให้มีลักษณะเป็นถนน แต่เมื่อต้องเป็นไปตามสัญญาประนีประนอมแล้ว โจทก์ก็ไม่อาจว่ากระไรได้ โจทก์จึงได้เลือกที่ดินในลักษณะที่แนบ (แผนที่) มาพร้อมกับคำแถลงนั้น ศาลชั้นต้นเห็นว่าที่ดินที่โจทก์เลือกเป็นไปตามสัญญายอมความ จึงให้โจทก์ได้ตามส่วนที่โจทก์เลือกให้มีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดิน ให้แบ่งที่ดินให้โจทก์ตามแผนที่สังเขปที่โจทก์ยื่นในวันนั้นและกำหนดวันเวลาให้คู่ความไปสำนักงานที่ดิน ถ้าจำเลยไม่ไป ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการแบ่งแยกไปได้

จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ศาลชั้นต้นน่าจะทำการไต่สวนเสียก่อนแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงจึงพิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี

โจทก์ฎีกาคัดค้านขอให้บังคับคดีไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามรูปถ่ายสัญญาจะซื้อขายที่ดินท้ายฟ้องที่จำเลยไม่เคยโต้แย้งว่าไม่ถูกต้องนั้น มีลักษณะที่แสดงให้เห็นว่า โจทก์น่าจะทำสัญญาซื้อที่ดินจากจำเลยเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย หาใช่ซื้อที่ดินอย่างเอาใช้เป็นถนนไม่ เมื่อสัญญายอมรายนี้ซึ่งต่างฝ่ายต่างไม่เถียงกันเลยว่าได้บกพร่องอยู่อย่างไรที่จะบังคับกันไม่ได้ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องบังคับกันไปตามนั้น

เมื่อปรากฏตามสัญญาว่า จำเลยยอมให้สิทธิแก่โจทก์เป็นผู้เลือกที่ดินเอาทางส่วนไหนก็ได้โดยไม่มีข้อแม้นั้นแล้วก็เป็นเรื่องที่โจทก์ย่อมจะมีสิทธิเลือกชี้เอาได้โดยรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1 ไร่ตามสัญญา แต่การเลือกชี้เอานั้นได้กระทำอย่างสุจริต มิใช่เป็นการกลั่นแกล้งจำเลย โดยมิได้คำนึงว่าตนจะมีประโยชน์ดีอะไร ถ้าโจทก์เลือกชี้เอาอย่างไม่สุจริตใจแล้ว ศาลก็ย่อมไม่บังคับแบ่งให้ตามนั้น สำหรับในเรื่องนี้ ข้อที่จำเลยไม่ยอมหาว่าโจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริตดังนัยที่กล่าวมานั้น ก็เพียงแต่จำเลยให้เหตุผลว่าที่ดินส่วนที่เหลือจำเลยใช้ทำประโยชน์อะไรไม่ได้เลยในเหตุผลตามที่จำเลยยกขึ้นอ้างมานี้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการที่โจทก์เลือกชี้เอาโดยไม่สุจริตอย่างไร ทั้งตามสัญญายอมที่ทำกันไว้นั้นก็ไม่ได้กำหนดขอบเขตว่าโจทก์จะต้องเลือกชี้เอาอย่างชนิดที่ว่าที่ที่เหลืออยู่จำเลยต้องทำประโยชน์ได้ด้วย และศาลพิจารณาดูตามแผนที่สังเขปที่ไม่มีการเถียงกันว่าทำมาผิดส่วนหรือคลาดเคลื่อนมากอย่างไรนี้แล้ว ก็เห็นได้ว่าทางเลือกของโจทก์ที่จะเอาประโยชน์ได้ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น กรณีจึงได้ความพอแล้วที่จะสั่งการไปดังที่ศาลชั้นต้นสั่งไว้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าถ้าจำเลยยินยอมเอาที่ดินออกขายเอาเงินแบ่งกันตามส่วน โจทก์ก็ไม่ขัดข้องนั้นเป็นเรื่องของโจทก์จำเลยจะตกลงยอมกันเองได้ไม่ว่าเมื่อก่อน และเมื่อหลังที่มีคำพิพากษาฉบับนี้แล้ว ปัญหาที่ศาลจำต้องชี้ขาดในที่นี้มีเพียงว่า โจทก์เลือกขอแบ่งเอาอย่างที่ชี้มานั้นได้หรือไม่เท่านั้น

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น

Share