คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1468/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ค่าพาหนะที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เฉพาะวันที่โจทก์ไปทำงานแม้จะมีจำนวนเท่ากันทุกเดือน ก็ไม่ถือว่าเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
บริษัทจำเลยมีธรรมเนียมปฏิบัติว่า เลขานุการมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ตามวันซึ่งบุคคลผู้ที่ตนทำหน้าที่เป็นเลขานุการหยุดพักผ่อนประจำปี และจำเลยได้วางระเบียบไว้ว่าจำเลยจะไม่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างที่มาทำงานในวันหยุดโดยจำเลยมิได้ขอให้มาทำงาน ดังนั้นการที่โจทก์มาทำงานในวันที่บุคคลผู้ที่โจทก์เป็นเลขานุการหยุดเป็นบางวัน โดยจำเลยมิได้ขอให้โจทก์มาทำ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยให้โจทก์ทำงานในวันหยุดพักผ่อนอันจำเลยจะต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้โจทก์ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
ปัญหาว่าศาลวินิจฉัยคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความ เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๑๒,๐๐๐ บาท ค่ารถเดือนละ ๒,๒๐๐ บาท รวมเดือนละ ๑๔,๒๐๐ บาท โจทก์แจ้งต่อนายลือชัย ผลาพิบูลย์ ผู้บังคับบัญชาโจทก์ว่าระหว่างวันที่ ๔ ถึงวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๒๔ โจทก์มีความจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศพร้อมกับยื่นใบลาหยุดพักผ่อนประจำปี นายลือชัย ผลาพิบูลย์ แจ้งว่าตนไม่มีอำนาจ แต่โจทก์ก็หยุดงานในระยะดังกล่าวเป็นเวลา ๗ วัน เมื่อกลับมาทำงานจำเลยสั่งเลิกจ้างโจทก์อ้างว่าโจทก์ขาดงาน ๓ วันโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุผลเพียงพอ เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเพราะจำเลยเห็นว่าโจทก์ได้รับเงินเดือนสูงต้องการบีบบังคับให้ลาออก และนายลือชัย ผลาพิบูลย์ มีสาเหตุกับโจทก์ จึงกลั่นแกล้งไม่อนุญาตให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปี ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียงทั้งมิได้บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหาย ค่าจ้างที่โจทก์ทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๘ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นจำนวนปีละ ๑๔ วัน โบนัสและค่าตอบแทนในการหาโฆษณา ให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ๘๕,๒๐๐ บาท ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๑๔,๒๐๐ บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรม ๑๗๐,๔๐๐ บาทหรือ มิฉะนั้นให้รับโจทก์กลับเข้าทำงาน ค่าจ้างในการทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๓๘,๗๕๙.๗๒ บาท โบนัส ๑๔,๒๐๐ บาท และค่าตอบแทนในการหาโฆษณา ๒๒,๐๐๐ บาท รวม ๓๔๔,๗๕๙.๗๒ บาท ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ ๑๑,๘๐๐ บาท ส่วนค่ารถจ่ายให้เฉพาะเดือนที่โจทก์มาทำงาน หากหยุดงานก็ไม่มีสิทธิได้รับจึงมิใช่ค่าจ้าง การที่โจทก์ขอลาหยุดพักผ่อนตั้งแต่วันที่ ๔ ถึงวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๒๔ และไม่ได้รับอนุญาตนั้น เป็นความจำเป็นเกี่ยวกับงานมิใช่เป็นการกลั่นแกล้ง ทั้งการหยุดพักผ่อนดังกล่าวนายจ้างจะเป็นผู้กำหนดวันหยุดให้มิใช่ลูกจ้างเป็นผู้กำหนด การที่โจทก์หยุดงานระหว่างวันที่ ๔ ถึงวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๒๔ เป็นการหยุดโดยมิได้รับอนุญาตจึงเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรและก่อนหน้านี้โจทก์ได้ขาดงานตั้งแต่วันที่ ๑๔ ถึงวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๒๔ ซึ่งจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว ดังนั้นการเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่การเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรมและเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกเลิกสัญญาล่วงหน้าจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าและค่าเสียหาย สำหรับการทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีมีระเบียบว่าถ้าลูกจ้างไม่หยุด จำเลยก็ไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง โจทก์ได้หยุดพักผ่อนประจำปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๓ ครบถ้วนแล้ว โจทก์มิได้ทำงานในวันหยุด และมิได้ทำงานจนถึงวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๒๔ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับโบนัสและจำเลยจ่ายเงินตอบแทนในการหาโฆษณาให้โจทก์ครบถ้วนแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ละทิ้งหน้าที่ติดต่อกันเกินสามวันโดยไม่มีเหตุสมควร มิใช่การเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมและไม่ต้องบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า โจทก์ไม่มีสิทธิได้เงินตอบแทนในการหาโฆษณาเพราะโจทก์ตกลงกับจำเลยว่าโจทก์ไม่รับเงินดังกล่าว ตามระเบียบผู้มีสิทธิได้รับเงินโบนัสต้องทำงานจนถึงวันจ่ายโบนัสในเดือนธันวาคม โจทก์ทำงานไม่ถึงวันดังกล่าวจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัส โจทก์มิได้หยุดพักผ่อนประจำปีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๘ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๒ รวม ๓๐ เศษ ๑ ส่วน ๓ วัน โดยจำเลยมิได้กำหนดวันหยุดให้มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ค่ารถเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้เฉพาะวันที่ออกไปทำงานจึงมิใช่ค่าจ้าง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในการทำงานในวันหยุดให้โจทก์ ๙,๐๙๘.๓๘ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ผู้พิพากษาสมทบนายหนึ่งทำความเห็นแย้งว่าจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยต้องจ่ายเงินตามฟ้องทุกรายการให้โจทก์มิฉะนั้นให้รับโจทก์กลับเข้าทำงาน
จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างในการทำงานในวันหยุดให้โจทก์
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อ้างในฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่านายหน้าหาโฆษณานั้น จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธ จำเลยยกข้อต่อสู้แต่เพียงว่าจำเลยได้จ่ายเงินรายนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว จึงต้องถือว่าจำเลยรับว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าโฆษณาตามฟ้อง ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่านายหน้าหรือไม่จึงเป็นอันยุติตามคำรับของจำเลย คดีคงมีข้อพิพาทในเรื่องค่านายหน้าแต่เพียงว่า จำเลยจ่ายให้โจทก์แล้วหรือไม่ ไม่มีประเด็นพิพาทว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่านายหน้าหาโฆษณาหรือไม่ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้ค่านายหน้าเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วเป็นอย่างอื่น ไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ การที่ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วพิพากษายกคำขอของโจทก์โดยไม่วินิจฉัยว่า จำเลยได้ชำระค่านายหน้าให้โจทก์แล้วหรือไม่เป็นการไม่ชอบ เห็นสมควรให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหาที่ว่า จำเลยชำระค่านายหน้าหาโฆษณาให้โจทก์แล้วหรือไม่เสียใหม่
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยจ่ายค่าพาหนะให้โจทก์เดือนละ ๒,๒๐๐ บาททุกเดือนเป็นการจ่ายค่าพาหนะเป็นจำนวนแน่นอน จึงถือได้ว่าค่าพาหนะเป็นค่าจ้าง เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่าจำเลยจ่ายค่าพาหนะให้โจทก์เฉพาะวันที่โจทก์ไปทำงาน แม้ค่าพาหนะจะมีจำนวนเท่ากันทุกเดือน ก็ถือไม่ได้ว่า จำเลยจ่ายค่าพาหนะให้โจทก์เป็นจำนวนแน่นอน จึงถือไม่ได้ว่าค่าพาหนะเป็นค่าจ้าง
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ข้อเท็จจริงในคดีถือได้ว่าจำเลยกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์แล้ว และโจทก์มิได้มาทำงานในวันหยุดนั้นเลยแต่หากจะฟังว่าโจทก์มาทำงานในวันหยุดดังกล่าว ก็มิใช่โดยจำเลยขอให้โจทก์มาทำ จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างทำงานในวันหยุดตามระเบียบนั้นข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า ในบริษัทของจำเลยมีธรรมเนียมปฏิบัติกันว่า เลขานุการมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ตามวันซึ่งบุคคลผู้ที่ตนทำหน้าที่เป็นเลขานุการหยุดพักผ่อนประจำปีและโจทก์ก็ได้ใช้สิทธิที่หยุดพักผ่อนประจำปีทุกปีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๘ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๓ แต่มิได้หยุดจนครบตามสิทธิของโจทก์ คงมาทำงานในวันที่บุคคลผู้ที่โจทก์เป็นเลขานุการหยุดเป็นบางวัน ทั้งนี้โดยจำเลยมิได้ขอให้โจทก์มาทำงานในวันดังกล่าว และจำเลยได้วางระเบียบไว้ตามเอกสารหมาย ล.๘ ว่า จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างที่มาทำงานในวันหยุดโดยจำเลยมิได้ขอให้มาทำงาน เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์แล้ว หาใช่ไม่กำหนดให้ดังศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไม่ เมื่อโจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีในวันดังกล่าวได้ แต่โจทก์ไม่หยุดกลับมาทำงานเป็นบางวันในวันที่โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อน โดยจำเลยมิได้ขอให้โจทก์มาทำนั้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ให้โจทก์ทำงานในวันหยุดพักผ่อนอันจำเลยจะต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และระเบียบของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.๘ ซึ่งระบุว่า จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างทำงานในวันหยุดให้ลูกจ้างที่มาทำงานในวันหยุดโดยจำเลยมิได้ขอให้ทำ ก็เป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวนั้น หาขัดกันไม่ ระเบียบดังกล่าวจึงใช้บังคับได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างทำงานในวันหยุด-ให้โจทก์เป็นเวลา ๓๐ เศษ ๑ ส่วน ๓ วันนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยจ่ายค่านายหน้าหาโฆษณาให้โจทก์แล้วพิจารณาพิพากษาประเด็นข้อนี้ใหม่ตามรูปคดี และให้ยกฟ้องโจทก์ข้อที่เรียกเอาค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share