แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยตกลงจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างต่อไปเป็นรายปีหลังจากมีคำสั่งอนุมัติให้โจทก์ออกจากหน้าที่เพราะเกษียณอายุตามกฎหมายแล้วนั้น มิใช่เป็นการขยายกำหนดเวลาการทำงานของโจทก์ออกต่อไปหากแต่เป็นการตกลงทำสัญญาจ้างกันใหม่ จึงเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนดังนั้น เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างและโจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยเนื่องจากถูกจำเลยเลิกจ้างตามสัญญาใหม่นี้จำเลยจึงได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมา จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ขอบังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสองพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 พ้นจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยเพราะเหตุเกษียณอายุตามกฎหมาย โจทก์ที่ 1 เกษียณอายุเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2514 หลังจากนั้นถึงวันที่ 30 กันยายน 2517 จำเลยจ้างโจทก์ที่ 1 เป็นลูกจ้างชั่วคราว การจ้างโจทก์ที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2514 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2517 เป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ย คดีโจทก์ขาดอายุความขอให้พิพากษายกฟ้อง
ในวันนัดพิจารณาคู่ความแถลงรับกันว่า โจทก์ที่ 1 ได้ออกจากงานเพราะเกษียณอายุเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2514 หลังจากนั้นได้เป็นลูกจ้างชั่วคราวของจำเลยมีสัญญาการจ้างเป็นรายปี จำเลยไม่จ้างโจทก์ที่ 1 หลังจากหมดสัญญาปี 2517 แล้ว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสองพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยเกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 ว่าตามฟ้องและคำแถลงรับของโจทก์ที่ 1 เห็นได้ว่าโจทก์ที่ 1 ประสงค์จะเรียกค่าชดเชยเพราะเหตุที่จำเลยเลิกจ้างเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2517 โจทก์ที่ 1 ครบเกษียณอายุเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2514 จำเลยได้มีคำสั่งอนุมัติให้โจทก์ที่ 1 ออกจากหน้าที่แล้วจำเลยได้จ้างโจทก์ที่ 1 เป็นลูกจ้างชั่วคราวเป็นรายปี ในปีแรกตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2514ถึงวันที่ 30 กันยายน 2515 ปีที่สองตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2515 ถึงวันที่ 30 กันยายน2516 ปีที่สามตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2516 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2517 เมื่อครบปีที่สามแล้วจำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2517 เป็นต้นไป การที่จำเลยตกลงจ้างโจทก์ที่ 1 เป็นลูกจ้างต่อไปเป็นรายปีจนครบ 3 ปีแล้วเลิกจ้างนั้น มิใช่เป็นการขยายกำหนดเวลาการทำงานของโจทก์ที่ 1 ออกต่อไป หากแต่เป็นการตกลงทำสัญญาจ้างกันใหม่ภายหลังจากโจทก์ที่ 1 มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว โดยจ้างมีกำหนดเป็นปี ๆ ไปสัญญาจ้างดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับยกเว้นไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องเฉพาะโจทก์ที่ 1 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง