คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1329-1330/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายกระดูกสันหลังแตกยุบเป็นเหตุให้ขาทั้งสองข้างสูญเสียสมรรถภาพอย่างถาวรข้างละร้อยละ 7 นั้น การคำนวณค่าทดแทนต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 54 (2) มิใช่ข้อ 54 (3) เพราะเป็นกรณีที่ลูกจ้างสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของขาทั้งสองข้างไปเพียงบางส่วนซึ่งตามข้อ 54 วรรคสอง ให้ถือว่าลูกจ้างสูญเสียอวัยวะนั้นด้วย จึงต้องคำนวณค่าทดแทนรายเดือนเทียบส่วนร้อยละจากระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับการสูญเสียอวัยวะบางส่วนของร่างกายตามข้อ 54(2)
ค่าครองชีพที่โจทก์จ่ายให้แก่ลูกจ้างมีวิธีการจ่ายเช่นเดียวกับการจ่ายค่าจ้างตามปกติและวัตถุประสงค์ของการจ่ายก็เพื่อให้ลูกจ้างมีรายได้เพิ่มขึ้น ถือได้ว่าค่าครองชีพที่ลูกจ้างได้รับเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่โจทก์จ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงาน จึงเป็นค่าจ้างอันต้องนำมาคำนวณค่าทดแทนด้วย

ย่อยาว

โจทก์สำนวนแรกฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๒๓ โจทก์ได้ประสบอันตรายเนื่องจากรถยนต์พลิกคว่ำในขณะทำงานให้กับนายจ้างเป็นเหตุให้กระดูกสันหลังแตกยุบ ขาทั้งสองข้างสูญเสียสมรรถภาพอย่างถาวรข้างละ ๗ เปอร์เซ็นต์ โจทก์ได้ร้องต่อพนักงานเงินทดแทนจังหวัดชัยภูมิ พนักงานเงินทดแทนมีคำสั่งที่ ๕/๒๕๒๔ ลงวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๒๔ สั่งให้นายจ้างจ่ายเงินทดแทนตามข้อ ๕๔(๒) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน แก้ไขเพิ่มเติม ลงวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๑๖ ความจริงโจทก์ควรจะได้ค่าทดแทนตามข้อ ๕๔(๓) โจทก์จึงได้อุทธรณ์คำสั่งต่ออธิบดีกรมแรงงาน อธิบดีกรมแรงงานได้มีคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนที่ ๔๕/๒๕๒๔ ลงวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๒๔ ยืนตามคำสั่งของพนักงานเงินทดแทน จึงขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งเงินทดแทนที่ ๔๕/๒๕๒๔ ลงวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๒๔ และมีคำสั่งใหม่ไปตามอุทธรณ์ของโจทก์
จำเลยให้การว่าขาของโจทก์สูญเสียสมรรถภาพในการทำงานไปบางส่วนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ ๕๔ วรรคสอง การคำนวณค่าทดแทนต้องเป็นไปตามข้อ ๕๔(๒) คือร้อยละห้าสิบของค่าจ้างรายเดือนโดยเฉลี่ยเป็นระยะเวลาไม่เกินห้าปีส่วนการคำนวณค่าทดแทนตามข้อ ๕๔(๓) นั้น ต้องเป็นกรณีที่อวัยวะเสียสมรรถภาพในการทำงานโดยสิ้นเชิง ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๒๔ โจทก์ได้รับคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนที่ ๔๕/๒๕๒๔ จากจำเลยสั่งให้โจทก์จ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้างครั้งเดียวเป็นเงิน ๒,๑๖๙.๐๕ บาท กรณีไม่สามารถทำงานได้เป็นเวลา ๔๓ วัน และค่าทดแทนเป็นรายเดือน ๆ ละ ๑,๓๑๑.๕๒ บาท มีกำหนดเวลา ๖.๗๒ เดือน กรณีที่ลูกจ้างสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของขาไปข้างละร้อยละ ๗ โดยจ่ายครั้งเดียวเป็นเงิน ๘,๘๑๓.๔๑ บาทคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนดังกล่าวไม่ชอบ เพราะจำเลยคำนวณค่าทดแทนโดยนำเอาเงินค่าครองชีพมารวมกับเงินเดือนของลูกจ้างเป็นฐานเพื่อคิดค่าทดแทน ขอให้เพิกถอนคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนที่ ๔๕/๒๕๒๔ ของจำเลย
จำเลยให้การว่า การคำนวณค่าจ้างรายเดือนโดยเฉลี่ยเพื่อนำมาเป็นหลักในการคำนวณค่าทดแทนรายเดือนนั้น จะต้องนำเงินค่าครองชีพที่ลูกจ้างได้รับรวมกับค่าจ้างรายวันด้วย ทั้งนี้เพราะเงินค่าครองชีพนายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นเงินค่าจ้างตามความหมายแห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ คำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนที่ ๔๕/๒๕๒๔ จึงชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนที่ ๔๕/๒๕๒๔ ลงวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๒๔ เฉพาะเกี่ยวกับเงินทดแทนรายเดือนหรือจ่ายครั้งเดียวตามคำสั่งข้อ ๒ เป็นให้จ่ายเงินทดแทนให้แก่นายปกรณ์หมู่ไพศาล เป็นรายเดือน ๆ ละ ๑,๖๔๓.๑๕ บาท มีกำหนด ๘.๔ เดือน หรือจ่ายครั้งเดียวเป็นเงิน ๑๓,๘๐๒.๔๖ บาท ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๕๔(๓) และวรรคสองแก้ไขเพิ่มเติม ลงวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๑๕ ข้อ ๓ ประกอบด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการจ่ายเงินทดแทน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๒(๙) ให้ยกฟ้องโจทก์สำนวนหลัง
โจทก์สำนวนหลังและจำเลยสำนวนแรกอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ ๕๔ ซึ่งแก้ไขโดยประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๑๖ ข้อ ๓ กำหนดว่า เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือนดังต่อไปนี้ (๑) _ _ _ (๒) ร้อยละห้าสิบของค่าจ้างรายเดือนโดยเฉลี่ยสำหรับกรณีที่ลูกจ้างต้องสูญเสียอวัยวะบางส่วนของร่างกายโดยจ่ายตามประเภทของการสูญเสียอวัยวะ และตามระยะเวลาที่จะต้องจ่ายให้ตามที่กระทรวงมหาดไทยจะได้กำหนดแต่ต้องไม่เกิน ๕ ปี (๓) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือนโดยเฉลี่ยสำหรับกรณีที่ลูกจ้างต้องทุพพลภาพ โดยจ่ายตามประเภทของการทุพพลภาพและตามระยะเวลาที่จะต้องจ่ายตามที่กระทรวงมหาดไทยจะได้กำหนดแต่ต้องไม่เกินสิบปี (๔) การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยซึ่งเป็นเหตุให้สูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของอวัยวะไปเพียงบางส่วนให้ถือว่าลูกจ้างสูญเสียอวัยวะนั้นด้วย แต่การคำนวณค่าทดทแนให้เทียบอัตราส่วนร้อยละจากจำนวนระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับการสูญเสียอวัยวะประเภทนั้นตามข้อกำหนดของกระทรวงมหาดไทย
การที่นายปกรณ์ประสบอันตรายได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังเป็นเหตุให้ขาทั้งสองข้างเสียสมรรถภาพในการทำงานไปข้างละร้อยละเจ็ดนั้น เป็นกรณีที่ลูกจ้างสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของขาทั้งสองข้างไปเพียงบางส่วนซึ่งตามข้อ ๕๔ วรรคสอง ให้ถือว่าลูกจ้างสูญเสียอวัยวะนั้นด้วย จึงต้องคำนวณค่าทดแทนรายเดือนเทียบส่วนร้อยละจากระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับการสูญเสียอวัยวะบางส่วนของร่ายกายตามข้อ ๕๔(๒) ส่วนกำหนดค่าทดแทนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๕๔ (๓) นั้น เป็นกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยถึงทุพพลภาพซึ่งได้กำหนดประเภทไว้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการจ่ายค่าทดแทน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๒ การสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของขาทั้งสองที่จะถือว่าทุพพลภาพตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการจ่ายค่าทดแทน ข้อ ๒(๙)ต้องเป็นกรณีเสียสมรรถภาพในการทำงานโดยสิ้นเชิง หาใช่กรณีสูญเสียอวัยวะบางส่วนของร่างกายไม่
ส่วนปัญหาเรื่องค่าครองชีพนั้น เห็นว่าเงินประเภทใดจะถือว่าเป็นค่าจ้างหรือไม่นั้น ต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๒ ซึ่งให้คำนิยามไว้ว่า “ค่าจ้าง” หมายความว่าเงิน หรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาปกติของวันทำงาน หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ และหมายความรวมถึงเงินหรือเงินและสิ่งของที่จ่ายให้ในวันหยุดซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานและในวันลาด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณหรือช่วยเป็นการตอบแทนในวิธีอย่างไรและไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร” ได้ความว่าค่าครอบชีพที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจ่ายให้แก่ลูกจ้างมีวิธีการช่วยเช่นเดียวกับการช่วยค่าจ้างปกติ วัตถุประสงค์ของการจ่ายก็เพื่อให้ลูกจ้างมีรายได้เพิ่มขึ้น เห็นได้ว่าค่าครองชีพที่ลูกจ้างได้รับเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือนหรือค่าจ้างที่โจทก์จ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงาน จึงเป็นค่าจ้างอันต้องนำมาคำนวณค่าทดแทนด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์สำนวนแรกเสียด้วยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share