แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ลูกจ้างมีความจำเป็นต้องเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปร่วมงานบวชน้องเขยที่ต่างจังหวัดประกอบกับในระหว่างที่หยุดงานและอยู่ที่ต่างจังหวัดนั้นได้มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน ไม่มีรถยนต์โดยสารแล่นเข้ากรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้ลูกจ้างไม่สามารถเดินทางกลับมาทำงานได้ การหยุดงานหรือการละทิ้งหน้าที่ของลูกจ้าง จึงมีเหตุอันสมควร นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาเกินหนึ่งปีขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยให้การด้วยวาจาว่า โจทก์ได้ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย โดยละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรกรณีไม่ต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(4) จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาว่า โจทก์หยุดงานไปตั้งแต่วันที่18 พฤษภาคม 2535 ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 เนื่องจากโจทก์เดินทางไปต่างจังหวัด และรัฐบาลได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในช่วงเวลาดังกล่าว ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ เพราะการหยุดงานของโจทก์เป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(4) จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่ากรณีของโจทก์ได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์มีความจำเป็นต้องไปร่วมงานบวชน้องเขยที่ต่างจังหวัดประกอบกับในระหว่างที่โจทก์หยุดงานและอยู่ที่ต่างจังหวัดนั้นได้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินไม่มีรถยนต์โดยสารแล่นเข้ากรุงเทพมหานคร จึงเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถเดินทางกลับมาทำงานได้ ดังนี้ การหยุดงานหรือการละทิ้งหน้าที่ของโจทก์จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยมีเหตุอันสมควรกรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามข้อ 47(4) ของประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุดังกล่าวโดยไม่จ่ายค่าชดเชยหาได้ไม่ คำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบแล้ว”
พิพากษายืน