คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 385/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ก็ต่อเมื่อยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์ คำให้การจำเลย และที่โจทก์กับจำเลยนำสืบฟังได้ว่ารัฐมนตรีฯ ได้วินิจฉัยเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์แล้วเป็นตารางวาละ 45,000 บาท ซึ่งมากกว่าที่โจทก์อุทธรณ์ขอเพิ่มเป็นตารางวาละไม่ต่ำกว่า 40,000 บาทจึงไม่มีข้อโต้แย้งที่โจทก์จะอ้างว่ายังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีฯ ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งข้อเท็จจริงที่นำมาสู่การวินิจฉัยปัญหาก็ปรากฏตามคำฟ้องโจทก์คำให้การจำเลยและที่โจทก์กับจำเลยนำสืบซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในสำนวนโดยการดำเนินการกระบวนพิจารณาโดยชอบศาลฎีกาย่อมหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินโจทก์ทั้งสามแปลงมีเขตติดต่อกันในลักษณะเป็นผืนเดียวกัน มีเนื้อที่รวมกันทั้งหมด 1 ไร่ 2 งานที่ดินดังกล่าวบางส่วนเนื้อที่ 414 ตารางวา อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด พ.ศ. 2530เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่ และสายพญาไท – ศรีนครรินทร์ คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์เฉพาะค่าทดแทนที่ดินเป็นเงิน6,735,000 บาท โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อพ้น 60 วันแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้วินิจฉัยเพิ่มค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์อีก 7,594,500 บาท โจทก์เห็นว่าค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวไม่เป็นธรรม เพราะกำหนดต่ำกว่าราคาที่ดินที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน24,672,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี ในต้นเงิน23,040,000 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า คณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นฯ และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ซึ่งพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ครั้งหลังได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์อยู่ในแนวเขตที่ที่จะเวนคืนจำนวน408 ตารางวา ให้ตารางวาละ 45,000 บาท โจทก์รับเงินค่าทดแทนที่ดินไปแล้วรวมเป็นเงิน 18,360,000 บาท เงินค่าทดแทนที่ดินที่โจทก์ได้รับไปแล้วจำนวนดังกล่าวเกินกว่าที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ไว้เสียอีกจึงเป็นการสมประโยชน์ของโจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่ถูกโต้แย้งสิทธิแต่อย่างใด ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้และไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลย ส่วนอัตราดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของเงินฝากประเภทประจำของธนาคารออมสิน ก็มีอัตราไม่เกินร้อยละ 6.5 ต่อปีขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มจำนวน8,280,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20เมษายน 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง(วันที่ 22 มีนาคม 2537) ไม่เกิน 1,632,000 บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มจำนวน 14,490,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ8.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์คำให้การจำเลยและที่โจทก์กับจำเลยนำสืบฟังเป็นยุติได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 19982, 96352 และ 96353ตำบลบางเขน (ลาดโตนด) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ)จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างและไม้ยืนต้นบนที่ดินดังกล่าวซึ่งบางส่วนของที่ดินเนื้อที่รวม 414 ตารางวา อยู่ในแนวเขตที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนบุรีจังหวัดนนทบุรี และเขตบางเขน เขตดุสิต เขตพญาไท เขตปทุมวันเขตบางรัก เขตยานนาวา เขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่และสายพญาไท-ศรีนครินทร์ วันที่ 6 มิถุนายน 2533 โจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายและค่าทดแทนทรัพย์สินที่จะถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษโครงการก่อสร้างทางพิเศษระบบทางด่วนขั้นที่ 2สายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่ ในกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนโดยจำเลยตกลงจ่ายเงินค่าทดแทนตามราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้แก่โจทก์รวมเป็นค่าทดแทนที่ดินทั้งสิ้น 6,735,000 บาท ตามสัญญาซื้อขายฯ เอกสารหมาย จ.3แต่โจทก์ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวจึงยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2533ว่าโจทก์ของค่าทดแทนในการเวนคืนครั้งนี้ไม่ต่ำกว่าตารางวาละ30,000 บาท ทั้ง 408 ตารางวา เป็นเงินไม่ต่ำกว่า 12,240,000 บาทตามหนังสืออุทธรณ์เอกสารหมาย จ.4 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว เพิ่มค่าทดแทนที่ดินอีกจำนวน 1,425,000 บาท ตามหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ เอกสารหมาย จ.5ต่อมาภายหลังมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 44 แล้ววันที่ 7 มกราคม 2536 จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์เพิ่มตามประกาศดังกล่าว ค่าทดแทนที่ดินเป็นเงิน2,605,500 บาท ตามหนังสือเอกสารหมาย จ.6 แต่โจทก์ยังไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยให้เพิ่ม จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอีกครั้งเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์2536 ขอให้คิดราคาที่ดินทั้งผืนในราคาเดียวกันหมดในอัตราตารางวาละไม่ต่ำกว่า 40,000 บาท ตามหนังสืออุทธรณ์เอกสารหมาย จ.8 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยเพิ่มค่าทดแทนที่ดินให้อีก 7,594,500 บาท แล้วมีหนังสือลงวันที่ 5 ตุลาคม 2536 แจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนเพิ่มตามหนังสือเอกสารหมาย จ.9 โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวน 408 ตารางวา รวมกันทั้งหมดเป็นเงิน18,360,000 บาท เฉลี่ยตารางวาละ 45,000 บาท แล้วต่อมาเมื่อได้ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินที่อยู่ในเขตที่จะเวนคืน ปรากฏว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 19982 ถูกเขตทางพิเศษเพิ่มขึ้นอีก 6 ตารางวาจำเลยจึงมีหนังสือเชิญโจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเขตทางเพิ่มอีก 6 ตารางวา ตารางวาละ 45,000 บาท เป็นเงิน270,000 บาท โจทก์ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม2537 ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ก็ต่อเมื่อยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีเมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์ คำให้การจำเลย และที่โจทก์กับจำเลยนำสืบฟังได้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้วินิจฉัยเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์แล้วเป็นตารางวาละ 45,000 บาท ซึ่งมากกว่าที่โจทก์อุทธรณ์ขอเพิ่มเป็นตารางวาละไม่ต่ำกว่า 40,000 บาทจึงไม่มีข้อโต้แย้งที่โจทก์จะอ้างว่ายังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนทั้งข้อเท็จจริงที่นำมาสู่การวินิจฉัยปัญหาที่ปรากฏตามคำฟ้องโจทก์คำให้การจำเลยและที่โจทก์กับจำเลยนำสืบซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในสำนวนโดยการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ ศาลฎีกาย่อมหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้ เมื่อได้วินิจฉัยดังกล่าวแล้วจึงไม่ต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์และฎีกาของจำเลยต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share