แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โทษปรับตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493 มาตรา 38ทวิมิได้มีข้อความจำกัดไว้ว่าถ้ามีผู้ร่วมกระทำผิดหลายคนด้วยกันก็ให้ปรับรวมกันตามปริมาณน้ำสุราที่ทำการขน พระราชบัญญัติสุราฯมิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นตามที่ยกเว้นไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 จึงต้องลงโทษปรับผู้กระทำผิดเรียงตามรายตัวบุคคลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 31 (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 14/2506)
ย่อยาว
คดีได้ความตามฟ้องและคำรับสารภาพว่าจำเลยได้สมคบกันขนสุรา630 ขวดมีน้ำสุรา 393 ลิตรเศษโดยมิได้รับอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493มาตรา 14, 38 ทวิ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2497 มาตรา 8 ให้ปรับคนละ 3,940 บาทรับลดกึ่ง คงปรับคนละ 1,970 บาท ของกลางให้คืน
จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นปรับจำเลยเรียงตัวไม่ชอบ
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โทษปรับผู้กระทำผิดตามมาตรา 38 ทวินั้นมีเกณฑ์กำหนดโทษให้ปรับตามปริมาณน้ำสุราที่ทำการขนในอัตราลิตรละ10 บาทฯ การปรับเรียงตามรายตัวบุคคลจึงไม่ชอบ พิพากษาแก้ ให้ปรับจำเลยทุกคนรวมกันเป็นเงิน 3,940 บาท รับลดกึ่งคงปรับ 1,970 บาท
โจทก์ฎีกา ขอให้ปรับจำเลยทั้ง 3 เรียงตามรายตัวบุคคล
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติสุราพ.ศ. 2493 มาตรา 14, 38 ทวิ ผู้ใดกระทำผิดฐานนี้จะต้องถูกลงโทษปรับตามปริมาณน้ำสุราที่ทำการขนในอัตราลิตรละ 10 บาท เศษของลิตรให้ถือเป็นหนึ่งลิตร มิได้มีข้อความจำกัดไว้ว่าถ้ามีผู้ร่วมกระทำผิดหลายคนด้วยกันก็ให้ปรับรวมกันตามปริมาณน้ำสุรา เมื่อได้พิเคราะห์ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 และ 31 ประกอบด้วยแล้ว เห็นว่าพระราชบัญญัติสุราฯ มิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น เพียงแต่ให้ถือตามปริมาณน้ำสุราที่ทำการขนเป็นเกณฑ์ในการปรับผู้กระทำผิดเท่านั้นจึงต้องลงโทษปรับจำเลยในคดีนี้เรียงตามรายตัวบุคคล
พิพากษาแก้ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น