คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3546/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 มิได้จำกัดว่าการที่คู่ความฝ่ายอุทธรณ์ที่ต้องนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมาวางศาลนั้นเฉพาะคำพิพากษาที่วินิจฉัยชี้ขาดคดีประการเดียว แต่ยังหมายความรวมถึงการอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาภายหลังที่ศาลได้พิพากษาโดยวินิจฉัยชี้ขาดคดี การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นและให้สืบพยานต่อไปนั้น เท่ากับให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและสืบพยานต่อไป จำเลยที่ 1และที่ 3 จึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมตามมาตรา 229 มาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่วาง อุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

มูลคดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 เลื่อนคดีและถือว่าไม่ติดใจสืบพยาน จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำแถลงคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำคัดค้าน ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน7,054,562.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี ของต้นเงิน 6,264,719.72บาท นับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 80523 และ 80524 ตำบลศาลาธรรมสพน์อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบกับให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท

จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์จึงไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์ยกคำร้อง

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่าการที่ศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 เลื่อนคดีโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นชอบหรือไม่ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาว่า การที่คู่ความที่อุทธรณ์จะต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์นั้น หมายถึงอุทธรณ์คำสั่งที่มีผลเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีเสมือนหนึ่งเป็นคำพิพากษา ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 นั้น เป็นการขอให้ศาลสืบพยานต่อไปแม้จะมีผลให้ศาลอุทธรณ์ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็เป็นเพียงผลที่เกิดจากการอุทธรณ์คำสั่ง ไม่ใช่อุทธรณ์คำพิพากษาโดยตรง เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 บัญญัติว่า “การอุทธรณ์นั้นให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในกำหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น และผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วย…” บทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวมิได้จำกัดว่า การที่คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ที่จะต้องนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมาวางศาลนั้นเฉพาะคำพิพากษาที่วินิจฉัยชี้ขาดคดีประการเดียว แต่ยังหมายความรวมถึงการอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาภายหลังที่ศาลได้พิพากษาโดยวินิจฉัยชี้ขาดคดี เพราะการที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นและให้สืบพยานต่อไปนั้น เท่ากับให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและสืบพยานต่อไป จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่นำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 3 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share