แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กับบริษัท ด. และบริษัท อ. ได้จดทะเบียนการค้าสำหรับงานก่อสร้างสะพานไว้กับกรมสรรพากรว่า “สาธรบริดจ์ จอยเวนเจอร์” โดยมี อ. เป็นผู้มีอำนาจทำการแทน เช่นนี้ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่ากิจการ ” สาธรบริดจ์ จอยเวนเจอร์” ก็คือห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลซึ่งจำเลยที่ 1 กับบริษัทในต่างประเทศอีกสองบริษัทร่วมกันกระทำในประเทศไทยนั่นเอง ดังนั้นเมื่อรถยนต์บรรทุกของโจทก์ตกลงไปในหลุมที่ “สาธรบริดจ์ จอยเวนเจอร์” ขุดไว้อันเป็นการละเมิดตามฟ้อง เกิดขึ้นในกิจการที่เป็นธรรมดาของ “สาธรบริดจ์ จอยเวนเจอร์” จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดโดยไม่จำกัดจำนวน ในการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นจากการละเมิดนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1050 โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ ทั้งการที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยค้ำจุน “สาธรบริดจ์ จอยเวนเจอร์” สัญญาประกันภัยก็ผูกพันจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบต่อวินาศภัยที่เกิดขึ้นตามฟ้อง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นบริษัทจำกัดได้ร่วมกับบริษัทต่างประเทศสองบริษัทประมูลงานก่อสร้างสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จากกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย และได้จดทะเบียนการค้าสำหรับงานนี้ว่า “สาธรบริดจ์ จอยเวนเจอร์” ซึ่งเป็นจำเลยที่ ๒ ส่วนจำเลยที่ ๓ เป็นบริษัทประกันภัย ได้รับประกันภัยค้ำจุนจำเลยที่ ๒ ไว้ สำหรับความเสียหายอันเนื่องจากงานก่อสร้างดังกล่าว โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกซึ่งลูกจ้างของโจทก์ได้ขับไปตกลงในหลุมที่จำเลยที่ ๒ ขุดไว้ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวน ๒๙๘,๘๔๔ บาท ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ไม่ใช่ตัวแทนของจำเลยที่ ๑ เหตุเกิดนอกเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย และเกิดจากความประมาทของคนขับรถของโจทก์เอง หากโจทก์เสียหายก็ไม่เกิน ๘,๐๐๐ บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ปัญหาที่ขึ้นมาสู่ศาลฎีกามีว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ หรือไม่ เห็นว่าแม้โจทก์จะฟ้อง “สาธรบริดจ์ จอยเวนเจอร์” โดยนายเอก กรรณสูต เป็นจำเลยที่ ๒ ให้รับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ฐานกระทำละเมิดตามฟ้องต่อโจทก์ และทางพิจารณาฟังไม่ได้ว่า “สาธรบริดจ์ จอยเวนเจอร์” มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายก็ตาม แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ กับบริษัทดราก๊าจ เอต ทราโวพับบลิกส์ จำกัด และบริษัทอิมเพรชาเจนเนอรัล ดีคอนสตรัคเซิน อีตัลวี จำกัด ได้ไปจดทะเบียนการค้าสำหรับงานก่อสร้างสะพานตามฟ้องไว้กับกรมสรรพากรว่า “สาธรบริดจ์ จอยเวนเจอร์” โดยมีนายเอก กรรณสูต เป็นผู้มีอำนาจทำการแทน และโจทก์นำสืบฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ กับบริษัทดังกล่าวได้ร่วมกันจดทะเบียนการค้าต่อกรมสรรพากรโดยใช้ชื่อร่วมกันว่า “สาธรบริดจ์ จอยเวนเจอร์” โดยมีนายเอก กรรณสูต เป็นผู้ดำเนินการในการก่อสร้างสะพานตามฟ้อง จากข้อเท็จจริงดังกล่าวมาแล้วย่อมเห็นได้ว่า กิจการ “สาธรบริดจ์ จอยเวนเจอร์” ก็คือห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งจำเลยที่ ๑ กับบริษัทในต่างประเทศอีกสองบริษัทร่วมกันกระทำในประเทศไทยนั่นเอง เมื่อการที่มิได้แสดงหรือติดตั้งเครื่องหมายหรือสัญญาณเพื่อให้ทราบว่าเป็นเขตก่อสร้างเป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกของโจทก์ตกลงไปในหลุมที่ “สาธรบริดจ์ จอยเวนเจอร์” ขุดไว้ อันเป็นการละเมิดตามฟ้อง เกิดขึ้นในกิจการที่เป็นธรรมดาของ “สาธรบริดจ์ จอยเวนเจอร์” จำเลยที่ ๑ จึงต้องรับผิดโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นจากการละเมิดนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๕๐ โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ ๑ ได้ ทั้งการที่จำเลยที่ ๓ รับประกันภัยค้ำจุน “สาธรบริดจ์ จอยเวนเจอร์” สัญญาประกันภัยก็ผูกพันจำเลยที่ ๑ ด้วย เมื่อจำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดชอบต่อวินาศภัยที่เกิดขึ้นตามฟ้อง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๓ ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน