คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3847/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ว่าทนายจำเลยจะไม่ได้แถลงเพื่อขอให้ศาลดำเนินการอย่างไรในการส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์ตามคำสั่งศาลชั้นต้นก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าทนายจำเลยได้วางเงินค่านำหมาย มีการดำเนินการและจัดส่งสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์เรียบร้อยแล้ว กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะจำหน่ายฎีกาของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 174(2) ประกอบด้วยมาตรา 132(1) น้ำมันปาล์มอาร์.บี.ดี. ที่โจทก์นำเข้า ประชาชนไม่นิยมบริโภคเพราะจะทำให้ไขมันในเส้นเลือดสูง ทำให้เส้นเลือดอุดตัน เป็นโรคหัวใจได้ง่าย โดยจะทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดหล่อเลี้ยงและทำให้หัวใจวายถึงแก่ความตายได้ จึงเป็นน้ำมันปาล์มชนิดที่ไม่พึงบริโภค ซึ่งตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503จัดอยู่ในพิกัดอัตราประเภทที่ 15.07 ค. ในอัตราน้ำมันปาล์มชนิดที่ไม่พึงบริโภค โจทก์จึงต้องเสียอากรขาเข้าในอัตราลิตรละ 1.32 บาทมิใช่ลิตรละ 2 บาท ซึ่งเป็นน้ำมันปาล์มชนิดที่พึงบริโภค แม้ว่าน้ำมันปาล์มอาร์.บี.ดี.ที่โจทก์นำเข้าจะเป็นน้ำมันปาล์มชนิดที่ไม่พึงบริโภค แต่โดยสภาพยังเป็นน้ำมันปรุงอาหารอยู่การที่โจทก์ต้องนำไปทำการผลิตโดยกรรมวิธีใหม่เพื่อแยกส่วนข้นออกจากส่วนใส ก็เป็นเพียงเพื่อให้เป็นที่นิยมของผู้บริโภคจะได้จำหน่ายได้มากขึ้น อันเป็นนโยบายทางด้านการค้าของโจทก์ไม่ทำให้น้ำมันปาล์มอาร์.บี.ดี.เปลี่ยนสภาพไปเป็นน้ำมันที่ไม่ใช้ปรุงอาหารแต่อย่างใด เมื่อน้ำมันปาล์มอาร์.บี.ดี. พิพาท เป็นน้ำมันปรุงอาหารตามที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517 บัญชีที่ 1 หมวด 1(5) และเป็นสินค้าที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักรมิใช่เป็นสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักรและส่งออกนอกราชอาณาจักรโดยผู้ผลิตเป็นผู้ส่งออก โจทก์จึงไม่ได้รับการลดอัตราภาษีการค้าตามมาตรา 7(1) และ (4) แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้นำน้ำมันปาล์ม อาร์.บี.ดี. ชนิดไม่พึงบริโภคเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 จัดอยู่ในพิกัดอัตราประเภทที่ 15.07 ค. ต้องเสียอากรขาเข้าลิตรละ 1.32 บาท แต่เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1เรียกเก็บอากรขาเข้าในอัตราน้ำมันปาล์มชนิดที่พึงบริโภค ลิตรละ 2บาท รวมเป็นเงินค่าอากร ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลเกินไป1,612,886.19 บาท โจทก์ยอมชำระภาษีอากรดังกล่าวไปก่อน แต่ได้ทำบันทึกขอสงวนสิทธิดำเนินการขอรับชำระส่วนที่เกินคืนแล้ว ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 922,734.60 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 0.625 ต่อเดือนในต้นเงิน 781,151.85 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินจำนวน 982,486.20 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 0.625 ต่อเดือนในต้นเงิน 831,734.34 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า น้ำมันปาล์ม อาร์.บี.ดี. ที่โจทก์นำเข้าเป็นน้ำมันปาล์มที่ได้ผ่านกรรมวิธีกำจัดกรด สี และกลิ่นแล้วเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิอยู่ในสภาพพร้อมที่จะนำมาบริโภคได้เป็นน้ำมันปาล์มชนิดที่พึงบริโภค ต้องเสียอากรขาเข้าในอัตราลิตรละ2 บาท เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 เรียกเก็บภาษีอากรถูกต้องแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน934,416.22 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ยื่นคำร้องว่าจำเลยทั้งสองไม่นำส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์ภายใน 7 วัน ตามคำสั่งศาล ถือว่าทิ้งคำฟ้องฎีกาขอให้จำหน่ายฎีกาของจำเลยทั้งสองนั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองยื่นฎีกาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2533 เจ้าพนักงานศาลนัดให้จำเลยมาทราบคำสั่งศาลในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2533 ถ้าไม่มาถือว่าทราบคำสั่งแล้วและศาลได้มีคำสั่งในวันที่ 12 เดือนเดียวกันว่า รับฎีกาจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองนำส่งภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ถือว่าทราบคำสั่ง มิฉะนั้นถือว่าทิ้งฎีกา ครั้นวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2533ทนายจำเลยทั้งสองได้วางเงินนำหมายล่วงหน้าต่อศาล ศาลชั้นต้นได้ออกหมายส่งสำเนาฎีกาให้ทนายโจทก์วันที่ 15 มีนาคม 2533 และได้ออกหนังสือลงวันที่ 23 มีนาคม 2533 ถึงศาลจังหวัดนนทบุรี ให้ส่งหมายและสำเนาฎีกาให้ทนายโจทก์ ศาลจังหวัดนนทบุรีได้ส่งให้ทนายโจทก์โดยวิธีปิดหมาย เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2533 แม้ทนายจำเลยทั้งสองจะไม่ได้แถลงเพื่อขอให้ศาลดำเนินการอย่างไรในการส่งสำเนาฎีกา แต่ก็ได้มีการดำเนินการและจัดส่งสำเนาฎีกาแก่ทนายโจทก์เรียบร้อยแล้ว จึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะจำหน่ายฎีกาของจำเลยทั้งสอง ให้ยกคำร้องของโจทก์เสีย
ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองนั้น ในเบื้องต้นจะได้วินิจฉัยเกี่ยวกับอากรขาเข้าว่า น้ำมันปาล์ม อาร์.บี.ดี. ที่โจทก์นำเข้ามานั้น โจทก์ต้องเสียอากรขาเข้าในอัตราลิตรละเท่าใดซึ่งมีปัญหาวินิจฉัยว่าน้ำมันปาล์ม อาร์.บี.ดี. ที่นำเข้ามานั้นเป็นน้ำมันปาล์มชนิดที่พึงบริโภคหรือไม่ โจทก์มีนายยุทธชินสุภัทรกุล และนายแพทย์ปัญญา เสกสรรค์ เบิกความตรงกันว่าน้ำมันปาล์มอาร์.บี.ดี. เป็นน้ำมันที่ไม่เหมาะสมแก่การใช้บริโภคเพราะจะทำให้ไขมันในเส้นเลือดสูงทำให้เส้นเลือดอุดตัน เป็นโรคหัวใจได้ง่ายโดยจะทำให้เกิดโรคหัวใจที่ขาดเลือดหล่อเลี้ยงและหัวใจวายถึงแก่ความตาย ประชาชนไม่นิยมบริโภค ต้องนำไปแยกเอาส่วนข้นออกเสียก่อน จึงจะเหมาะแก่การบริโภค ส่วนจำเลยนำสืบว่าเป็นน้ำมันพึงบริโภค เพราะมีกรดไขมันไม่เกินที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 56 กำหนดไว้ตามข้อนำสืบของจำเลยมิได้สืบให้เห็นว่าการบริโภคน้ำมันดังกล่าวจะเกิดโรคและประชาชนนิยมบริโภคหรือไม่ ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าน้ำมันปาล์มอาร์.บี.ดี.ประชาชนไม่นิยมบริโภค เพราะจะทำให้ไขมันในเส้นเลือดสูง ทำให้เส้นเลือดอุดตันหัวใจขาดเลือดหล่อเลี้ยงและทำให้หัวใจวายถึงแก่ความตายได้ ย่อมเห็นได้ว่าเมื่อบริโภคแล้วทำให้เกิดโรค และอาจทำให้หัวใจวายถึงแก่ความตาย ย่อมเป็นน้ำมันปาล์มที่ไม่พึงบริโภค โจทก์จะต้องเสียภาษีอากรขาเข้าในอัตราลิตรละ 1.32 บาท น้ำมันปาล์มอาร์.บี.ดี. 605,722.29 ลิตร เป็นเงินอากรขาเข้า 799,553.43 บาทอากรพิเศษร้อยละ 10 ของอากรขาเข้าเป็นเงิน 79,955.34 บาทรวมเป็นเงิน 879,508.76 บาท แต่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บอากรขาเข้าลิตรละ 2 บาท เป็นเงิน 1,211,444.58 บาท อากรพิเศษร้อยละ10 เป็นเงิน 121,144.46 บาท รวมเป็นเงิน 1,332,589.04 บาทจึงเรียกเก็บเกินไปเป็นเงิน 453,080.28 บาท จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินอากรขาเข้าให้โจทก์ 453,080.28 บาท ฎีกาจำเลยที่ 1ส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล จำเลยที่ 1 เรียกเก็บแทนจำเลยที่ 2 ในอัตราร้อยละ 7 ของรายรับ โจทก์เห็นว่าควรเสียเพียงร้อยละ 1.5 ของรายรับ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54)พ.ศ. 2517 มาตรา 7(4) เพราะมิใช่เป็นสินค้าประเภทน้ำมันปรุงอาหารตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา บัญชีที่ 1 หมวด 1(5) และไม่เป็นสินค้าที่ระบุในบัญชีที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว กับภาษีบำรุงเทศบาลอีกร้อยละ 10 ของภาษีการค้า เห็นว่าตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ปรากฏว่าน้ำมันปาล์มอาร์.บี.ดี.ที่โจทก์นำเข้ามาใช้บริโภคและปรุงอาหารได้ และตามคำเบิกความของนางสุมิตร ปิติขันติธรรม กับนายวิศิษฐ์ บำรุงกิจ พยานจำเลยว่าน้ำมันปาล์มอาร์.บี.ดี.นำไปใช้ปรุงอาหารบะหมี่สำเร็จรูปบรรจุในซองพลาสติก จึงเห็นได้ว่าน้ำมันปาล์มอาร์.บี.ดี. เป็นน้ำมันปรุงอาหารแต่ประชาชนไม่นิยมบริโภค แต่โดยสภาพยังเป็นน้ำมันปรุงอาหารอยู่ การที่โจทก์ต้องนำไปทำการผลิตโดยกรรมวิธีใหม่เพื่อแยกส่วนข้นออกจากส่วนใส ก็เป็นเพียงเพื่อให้เป็นที่นิยมของผู้บริโภค โจทก์จะจำหน่ายได้มากขึ้น อันเป็นนโยบายทางด้านการค้าของโจทก์ ไม่ทำให้น้ำมันปาล์มอาร์.บี.ดี. เปลี่ยนสภาพไปเป็นน้ำมันที่ไม่ใช้ปรุงอาหาร น้ำมันดังกล่าวจึงเป็นน้ำมันปรุงอาหารตามที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา บัญชีที่ 1 หมวด 1(5)แต่เนื่องจากสินค้าน้ำมันอาร์.บี.ดี. พิพาทเป็นสินค้าที่นำเข้าในราชอาณาจักร มิใช่สินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักร และส่งออกนอกราชอาณาจักรโดยผู้ผลิตเป็นผู้ส่งออกโจทก์จึงไม่ได้รับผลตามกฎหมายในการลดอัตราภาษีการค้า ตามมาตรา 7(1) และ (4) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินอากรขาเข้าให้โจทก์จำนวน 453,080.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share