คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2149/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14 ขอให้ลงโทษตามมาตรา31แต่พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา31 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2522 มาตรา 3 แม้โจทก์จะมิได้อ้างกฎหมายฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติมศาลปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้
การกระทำของจำเลยตามฟ้องมีโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2522 มาตรา 3 วรรคสอง ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปีจึงเป็นกรณีที่จะต้องถามจำเลยว่ามีทนายหรือไม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 เมื่อยังไม่มีการสอบถามจำเลยเรื่องทนาย การพิจารณาของศาลชั้นต้นเป็นการไม่ชอบ สมควรจัดการให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจเก็บหาไม้ฟืนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และมีไม้ฟืนปริมาตร 5.94 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นของป่าหวงห้ามไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31, 35 ฯลฯ ริบของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษปรับ 600 บาทจำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงปรับ 300 บาท ริบของกลาง

โจทก์อุทธรณ์ว่า ความผิดของจำเลยเป็นสองกรรม ต้องเรียงกระทงลงโทษและขอให้กำหนดโทษหนักขึ้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 5,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 3 เดือน ปรับ 2,500 บาท รอการลงโทษจำคุกไว้ 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดสองกรรม ต้องเรียงกระทงลงโทษ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 ขอให้ลงโทษตามมาตรา 31 แต่พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2522 มาตรา 3 แม้โจทก์จะมิได้อ้างกฎหมายฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม ศาลปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยตามฟ้องมีโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522มาตรา 3 วรรคสอง ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี จึงเป็นกรณีที่จะต้องถามจำเลยว่ามีทนายหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 173 เมื่อยังไม่มีการสอบถามจำเลยเรื่องทนายการพิจารณาของศาลชั้นต้นเป็นการไม่ชอบ สมควรจัดการให้ถูกต้อง

พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นสอบจำเลยเรื่องทนายแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่

Share