แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องบริษัทร.จำกัด เป็นจำเลยที่ 3 ในคดีนี้มาตั้งแต่แรกโดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคล แสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องบุคคลธรรมดาเป็นจำเลยที่ 3 การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเปลี่ยนชื่อบริษัทร.จำกัด จำเลยที่ 3 เป็นบริษัทร.จำกัดหรือนายว.จำเลยที่3โดยอ้างว่าคำว่าบริษัทร.จำกัด เป็นชื่อในทางการค้าหรือนามแฝงหรือฉายาของนายว. แล้วต่อมายื่นคำร้องอีกฉบับขอแก้ไขคำฟ้องโดยขอแก้ชื่อจำเลยที่ 3 จากบริษัทร.จำกัดหรือนายว.เป็นนายว.นั้น เท่ากับเป็นการขอแก้ไขคำฟ้องจากเดิมซึ่งฟ้องนิติบุคคลเป็นจำเลยที่ 3 เท่านั้นมาเป็นฟ้องบุคคลธรรมดาเพิ่มเป็นจำเลยที่ 3 ด้วยแล้วขอแก้ไขคำฟ้องอีกครั้งหนึ่งโดยขอเปลี่ยนตัวจำเลยที่ 3 จากนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งมิใช่เป็นเรื่องที่จะขอแก้ไขคำฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179โจทก์จึงขอแก้ไขคำฟ้องเช่นนั้นไม่ได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องตามคำร้องของโจทก์ทั้งสองฉบับ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ บรรดากระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นทั้งหมดในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับนาย ว. หลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเช่นนั้นแล้ว รวมทั้งคำสั่งของศาลชั้นต้นในเวลาต่อมา ซึ่งสั่งให้จำหน่ายบริษัท ร. จำกัด ออกจากสำนวนความ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย ชอบที่ศาลจะเพิกถอนเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 บริษัทร.จำกัดจึงยังคงมีฐานะเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีนี้อยู่ และแม้บริษัทร.จำกัดมิได้ฎีกาขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาอื่นนอกจากคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องตามคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์กับคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายบริษัทร.จำกัด ออกจากสำนวนความแต่เมื่อกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการพิจารณาคดีศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246,247 ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นทั้งหมดในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับนายว. หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์เป็นต้นไป
ย่อยาว
คดีนี้เดิมโจทก์ฟ้อง บริษัทโรนิม มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส (ไทยแลนด์)จำกัด เป็นจำเลย ที่ 1 นายเชาวฤทธิ์ จิตตานุปกรณ์ เป็นจำเลยที่ 2และบริษัทโรไทย จำกัด เป็นจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยทั้งสามตกลงทำสัญญาขายสินค้าเหล็กแผ่นซึ่งต้องส่งมาจากต่างประเทศให้แก่โจทก์ โจทก์ชำระเงินค่าสินค้าให้จำเลยทั้งสามรับไปครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยทั้งสามผิดสัญญาส่งสินค้าให้โจทก์ไม่ตรงตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์นำส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่บริษัทโรไทย จำกัด ไม่ได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แถลงเพื่อดำเนินการต่อไปสำหรับบริษัทโรไทย จำกัด โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 15 เมษายน 2530 ขอแก้ไขคำฟ้อง อ้างว่า ได้ขอคัดหนังสือรับรองความเป็นนิติบุคคลของบริษัทโรไทย จำกัด จากสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ปรากฏว่าไม่มีชื่อบริษัทโรไทยจำกัด ในสารบาญรายชื่อนิติบุคคลที่มีอยู่ ณ สำนักงานทะเบียนแห่งนั้นแต่จากการตรวจสอบเอกสารในทะเบียนนิติบุคคลของจำเลยที่ 1ปรากฏว่าผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่เข้าประชุมมีบริษัทโรไทยจำกัดโดยนายวิลเลียม เอ็ลวู๊ด ไฮเน็ค กรรมการเข้าประชุมด้วย นอกจากนั้นยังปรากฏว่าบริษัท เอ.เอฟ.ไอ. จำกัด ผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1รับโอนหุ้นจากบริษัทโรไทย จำกัด ซึ่งเอกสารรายงานการประชุมและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นดังกล่าวมีนายวิลเลียม เอ็ลวู๊ด ไฮเน็คในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องไว้ จากหลักฐานดังกล่าวแสดงว่า คำว่าบริษัทโรไทยจำกัดนั้น นายวิลเลียม เอ็ลวู๊ด ไฮเน็ค ได้นำมาแสดงต่อทางราชการและบุคคลทั่วไปหลายครั้งหลายหน ทั้งที่บริษัทโรไทย จำกัดมิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ฉะนั้นคำว่าบริษัทโรไทยจำกัด จึงเป็นชื่อทางการค้าหรือนามแฝงหรือฉายาของนายวิลเลียม เอ็ลวู๊ด ไฮเน็ค จึงขอแก้ไขคำฟ้อง เปลี่ยนชื่อบริษัทโรไทย จำกัด จำเลยที่ 3 เป็นบริษัทโรไทย จำกัดหรือนายวิลเลียม เอ็ลวู๊ด ไฮเน็ค จำเลยที่ 3 และเปลี่ยนข้อความจากจำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจดทะเบียน ณสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ เป็นจำเลยที่ 3 ใช้ชื่อในทางการค้าว่าบริษัทโรไทยจำกัด ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องได้ตามที่ขอ
ต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2530 บริษัทโรไทย จำกัดยื่นคำให้การว่า บริษัทโรไทย จำกัด จำเลยที่ 3ได้ทราบจากจำเลยที่ 1 ว่าถูกโจทก์ฟ้องบริษัทโรไทย จำกัด จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายฮ่องกงมีสำนักงานอยู่ในเมืองฮ่องกง มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ทั้งโจทก์มิได้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่บริษัทโรไทย จำกัด จำเลยที่ 3ในประเทศไทย นายวิลเลียม เอ็ลวู๊ด ไฮเน็ค ไม่ได้เป็นกรรมการของบริษัทโรไทย จำกัด บริษัทโรไทย จำกัด มิใช่คู่สัญญากับโจทก์และมิได้เกี่ยวข้องกับการซื้อขายของโจทก์ ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นสั่งรับไว้เป็นคำให้การของจำเลยที่ 3
ต่อมาวันที่ 15 มกราคม 2531 โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องว่า เดิมโจทก์ระบุชื่อจำเลยที่ 3 ว่า บริษัทโรไทย จำกัด หรือนายวิลเลียม เอ็ลวู๊ด ไฮเน็ค บัดนี้ เพื่อมิให้สับสน จึงขอแก้ชื่อจำเลยที่ 3 เป็นนายวิลเลียม เอ็ลวู๊ด ไฮเน็ค ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องได้ตามที่ขอ
ต่อมาวันที่ 8 มีนาคม 2531 ซึ่งเป็นวันชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เนื่องจากการขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยที่ 3คือ นายวิลเลียม เอ็ลวู๊ด ไอเน็ค ดังนั้น บริษัทโรไทย จำกัดซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากยื่นคำให้การเข้ามาในฐานะจำเลยที่ 3จึงมิได้เป็นคู่ความในคดี ให้จำหน่ายบริษัทโรไทย จำกัด ออกจากสำนวนความบริษัทโรไทย จำกัด อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นขอกลับเข้ามามีฐานะเป็นคู่ความในคดีตามเดิม ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนบริษัทโรไทย จำกัด ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของบริษัทโรไทย จำกัด ว่า โจทก์มีสิทธิขอแก้ไขคำฟ้องเพิ่มชื่อบุคคลอื่นเข้ามาเป็นจำเลยที่ 3 ด้วยอีกคนหนึ่ง แล้วต่อมาขอแก้ไขคำฟ้องตัดชื่อบริษัทโรไทย จำกัด ออกจากการเป็นจำเลยที่ 3 หรือไม่ และคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้บริษัทโรไทย จำกัด ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 พ้นจากการเป็นคู่ความในคดีโดยให้จำหน่ายบริษัทโรไทยจำกัด ออกจากสำนวนความเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในการที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องดังกล่าวนั้น เห็นว่าการแก้ไขคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 จะต้องเป็นการแก้ไขข้อหาหรือข้ออ้างที่มีต่อจำเลย โดยการเพิ่มหรือลดทุนทรัพย์หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทในฟ้องเดิม หรือสละข้อหาในฟ้องเดิมเสียบางข้อหรือเพิ่มฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ มิใช่เป็นการเพิ่มหรือเปลี่ยนตัวจำเลยซึ่งเป็นตัวบุคคลที่จะต้องระบุไว้แน่ชัดตามมาตรา 67 หากโจทก์ประสงค์จะให้บุคคลอื่นนอกจากบุคคลที่โจทก์ยื่นฟ้องเป็นจำเลยไว้ตามฟ้องเดิมเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องไว้แต่เดิมแล้ว โจทก์ก็ชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกบุคคลนั้นเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยเดิมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(3) ที่โจทก์ฟ้องบริษัทโรไทย จำกัด เป็นจำเลยที่ 3 ในคดีนี้มาตั้งแต่แรกโดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลนั้นแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องบุคคลธรรมดาเป็นจำเลยที่ 3 แต่ได้ฟ้องนิติบุคคลเป็นจำเลยที่ 3 เท่านั้น การที่โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 15 เมษายน 2530 ขอแก้ไขคำฟ้องเปลี่ยนชื่อบริษัทโรไทย จำกัด จำเลยที่ 3 เป็นบริษัทโรไทย จำกัด หรือนายวิลเลียม เอ็ลวู๊ด ไฮเน็ค จำเลยที่ 3 โดยอ้างว่าคำว่าบริษัทโรไทย จำกัด เป็นชื่อในทางการค้าหรือนามแฝงหรือฉายาของนายวิลเลียม เอ็ลวู๊ด ไฮเน็ค แล้วต่อมายื่นคำร้องลงวันที่ 15มกราคม 2531 ขอแก้ไขคำฟ้องโดยขอแก้ชื่อจำเลยที่ 3 จากบริษัทโรไทย จำกัด หรือนายวิลเลียม เอ็ลวู๊ด ไฮเน็ค เป็นนายวิลเลียม เอ็ลวู๊ด ไฮเน็ค นั้น เท่ากับเป็นการขอแก้ไขคำฟ้องจากเดิมซึ่งฟ้องนิติบุคคลเป็นจำเลยที่ 3 เท่านั้นมาเป็นฟ้องบุคคลธรรมดาเพิ่มเป็นจำเลยที่ 3 ด้วย แล้วขอแก้ไขคำฟ้องอีกครั้งหนึ่งโดยขอเปลี่ยนตัวจำเลยที่ 3 จากนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งมิใช่เป็นเรื่องที่จะขอแก้ไขคำฟ้องได้เช่นนั้นตามนัยแห่งบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น โจทก์จึงขอแก้ไขคำฟ้องเช่นนั้นไม่ได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องตามคำร้องของโจทก์ลงวันที่ 15 เมษายน 2530 และวันที่ 15 มกราคม 2531จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในเรื่องการพิจารณาคดี ซึ่งเมื่อคำสั่งของศาลชั้นต้นตามคำร้องของโจทก์ลงวันที่ 15 เมษายน 2530ดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบแล้ว บรรดากระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นทั้งหมดในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับนายวิลเลียม เอ็ลวู๊ด ไฮเน็คหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเช่นนั้นแล้ว รวมทั้งคำสั่งของศาลชั้นต้นลงวันที่ 8 มีนาคม 2531 ซึ่งสั่งให้จำหน่ายบริษัทโรไทยจำกัด ออกจากสำนวนความ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยชอบที่ศาลจะเพิกถอนเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 บริษัทโรไทย จำกัด ตามฟ้องเดิม จึงยังคงมีฐานะเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีนี้อยู่ และแม้บริษัทโรไทย จำกัด มิได้ฎีกาขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาอื่นนอกจากคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องตามคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ลงวันที่ 15 เมษายน 2530 และวันที่ 15 มกราคม 2531 กับคำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 8 มีนาคม 2531 ที่ให้จำหน่ายบริษัทโรไทย จำกัดออกจากสำนวนความ แต่เมื่อกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการพิจารณาคดี ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246, 247 ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นทั้งหมดในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับนายวิลเลียม เอ็ลวู๊ด ไฮเน็ค หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ลงวันที่ 15 เมษายน 2530 เป็นต้นไป”
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องตามคำร้องลงวันที่ 15 เมษายน2530 และวันที่ 15 มกราคม 2531 ของโจทก์ กับให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 8 มีนาคม 2531 ที่ให้จำหน่ายบริษัทโรไทย จำกัดออกจากสำนวนความ ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นทั้งหมดในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับนายวิลเลียม เอ็ลวู๊ด ไฮเน็ค หลังจากที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องลงวันที่ 15 เมษายน 2530ของโจทก์ และให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวใหม่ให้ถูกต้องแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี