แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประมวลรัษฎากรไม่ได้บัญญัติว่ารายรับจากการค้าประเภทคลังสินค้าหมายถึงอะไร จึงต้องถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 770 และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 770, 771 นายคลังสินค้าคือผู้รับทำการเก็บรักษาสินค้าเท่านั้น กฎหมายหาได้กำหนดให้นายคลังสินค้าต้องมีหน้าที่ขนสินค้ามาเข้าหรือออกจากคลังสินค้าของตนด้วยไม่ ฉะนั้นรายรับจากการประกอบการคลังสินค้าก็คือค่าบำเหน็จในการเก็บรักษาสินค้าหรือค่ารับฝากสินค้าเท่านั้น หารวมถึงค่าขนส่งไม่การที่โจทก์ซึ่งเป็นนายคลังสินค้าได้ออกทดรองจ่ายค่าจ้างขนสินค้าให้แก่ผู้รับขนแทนผู้ฝากสินค้าไปนั้น เงินทดรองจ่ายค่าขนสินค้าของผู้ฝากนี้ เป็นรายรับของผู้รับขนซึ่งผู้ฝากสินค้ามีหน้าที่ต้องจ่ายตามสัญญา หาใช่รายรับของโจทก์ซึ่งเป็นนายคลังสินค้า โจทก์จึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีการค้าในเงินค่ารับขนที่ได้ทดรองจ่ายแทนผู้ฝากไป
โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างต้องหักภาษีเงินได้ของลูกจ้างไว้จากเงินได้ของลูกจ้างตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50 เมื่อโจทก์ไม่หักภาษีไว้โจทก์มีหน้าที่ต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้างตามประมวลรัษฎากร มาตรา 54
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าประเภทคลังสินค้า เมื่อประมาณเดือนกันยายน ๒๕๒๑ เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ ๑ ได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าพร้อมทั้งเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ โดยนำค่าขนถ่ายสินค้าซึ่งโจทก์ได้จ่ายทดรองให้แก่ผู้รับขนแทนลูกค้าไปมารวมคำนวณเป็นรายรับของโจทก์ นอกจากนี้ยังประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้ของกรรมกร หัก ณ ที่จ่ายพร้อมทั้งเงินเพิ่มโดยมิชอบ โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินทั้งสองกรณีดังกล่าวต่อจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ วินิจฉัยยกอุทธรณ์ของโจทก์ จึงขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ ๗๐/๒๕๒๔ และ ๗๑/๒๕๒๔ ของจำเลย
จำเลยให้การว่าการประเมินและคำวินิจฉัยของจำเลยชอบแล้วขอให้ศาลยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า การประเมินของจำเลยชอบแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ในปัญหาที่จำเลยวินิจฉัยให้โจทก์เสียภาษีการค้าในเงินที่โจทก์จ่ายทดรองแทนผู้ฝากไป ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าตามบัญชีอัตราภาษีการค้าแห่งประมวลรัษฎากรได้ระบุการค้าประเภทคลังสินค้าไว้ในลำดับ ๖ ให้ผู้ประกอบกิจการทำคลังสินค้า การรับฝากทรัพย์หรือการให้บริการเกี่ยวกับสิ่งของต่าง ๆ ในห้องเย็น เสียภาษีการค้าอัตราร้อยละ ๒.๕ ของรายรับ ส่วนการค้าประเภทรับขนสินค้าระบุไว้ในบัญชีอัตราภาษีการค้าลำดับ ๘ ประเภทการขนส่ง ให้ผู้รับจ้างเสียภาษีการค้าอัตราร้อยละ ๐.๕ ของรายรับการค้าที่พิพาทในคดีนี้ ไม่ใช่การค้าประเภทขนส่ง ไม่ใช่การเก็บสิ่งของในห้องเย็นและไม่ใช่การรับฝากทรัพย์ธรรมดา แต่เป็นการทำคลังสินค้าโดยตรงซึ่งประมวลรัษฎากรไม่ได้บัญญัติไว้ว่ารายรับจากการค้าประเภทคลังสินค้าหมายถึงอะไรบ้างจึงต้องถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๗๐ และมาตรา ๗๗๑ พิจารณาตามมาตรา ๗๗๐ และ ๗๗๑ แล้ว จะเห็นได้ว่านายคลังสินค้าก็คือผู้รับทำการเก็บรักษาสินค้าเท่านั้น กฎหมายหาได้กำหนดให้นายคลังสินค้าต้องมีหน้าที่ขนสินค้ามาเข้าหรือออกจากคลังสินค้าของตนด้วยไม่ ฉะนั้นรายรับจากการประกอบการคลังสินค้าก็คือค่าบำเหน็จในการเก็บรักษาสินค้า หรือค่ารับฝากสินค้าเท่านั้น หารวมถึงค่าขนส่งไม่ซึ่งรายรับของโจทก์ในคดีนี้ก็คือค่ารับฝากน้ำตาลกระสอบละ ๘๐ สตางค์ถึงหนึ่งบาทต่อเดือน ส่วนค่าจ้างขนน้ำตาลเข้าหรือออกจากคลังสินค้านั้นเป็นรายรับของผู้รับขนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๑๐ หาใช่บำเหน็จหรือรายรับเนื่องจากการประกอบการคลังสินค้าตามมาตรา ๗๗๐ ไม่ การที่โจทก์ซึ่งเป็นนายคลังสินค้าได้ออกทดรองจ่ายค่าจ้างขนสินค้าให้แก่ผู้รับขนแทนผู้ฝากสินค้าไป เงินทดรองจ่ายค่าขนสินค้าของผู้ฝากนี้ เป็นรายรับของผู้รับขน ซึ่งผู้ฝากสินค้ามีหน้าที่ต้องจ่ายตามสัญญา หาใช่รายรับของโจทก์ซึ่งเป็นนายคลังสินค้าไม่ โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าในเงินค่ารับขนที่ได้ทดรองจ่ายแทนผู้ฝากไป ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
ในปัญหาส่วนเงินได้ของกรรมการซึ่งโจทก์ไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้โดยอ้างว่าเป็นการจ้างเหมาให้นายเฉลียว ก้อนนาคไปจ้างกรรมกรอีกทอดหนึ่ง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าในสัญญาจ้างเหมาที่อ้างไม่ปรากฏอัตราค่าจ้างเหมาว่าจ้างเหมากันเป็นเงินเท่าใดและโจทก์ก็ไม่ได้นำนายเฉลียวมาสืบอธิบายการจ้างเหมาให้ชัดเจน แต่นายเฉลียวเคยให้การต่อเจ้าพนักงานกรมสรรพากรว่า จำนวนเงินที่ได้รับไปจากโจทก์นี้ได้นำไปแบ่งเฉลี่ยให้กับกรรมกร โดยนายเฉลียวได้รับเพียงหุ้นเดียว ตามแรงงานที่นายเฉลียวได้ทำไป แสดงว่านายเฉลียวคือกรรมกรที่ได้รับค่าแรงงานจากโจทก์ร่วมกับกรรมกรทั้งหลาย และช่วยรับเงินจากโจทก์ไปจ่ายให้กรรมกรเท่านั้นเอง หาใช่ผู้รับเหมาจากโจทก์แต่อย่างใดไม่ ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าโจทก์เป็นผู้ว่าจ้างและผู้จ่ายเงินให้กรรมกร ฉะนั้นโจทก์จึงมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๕๐ เมื่อโจทก์ไม่หักภาษีไว้ โจทก์มีหน้าที่ต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ตามมาตรา ๕๔ ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้ ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยเฉพาะเรื่องภาษีการค้าตามคำวินิจฉัยที่ ๗๐/๒๕๒๔ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์