คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3839/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้ออุทธรณ์ที่ว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมในการปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบของจำเลยหรือไม่เป็นข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2524 มาตรา 54
แม้การที่จำเลยปล่อยสินเชื่อเกินอำนาจ จนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายจะเป็นการกระทำผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างก็ตามแต่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมในการปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบของจำเลยโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้จัดการสาขาของธนาคารโจทก์ จำเลยได้ปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าสาขาเกินอำนาจของจำเลยอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติงานของสาขาซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนตามฟ้องแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยปฏิบัติงานฝ่าฝืนระเบียบของโจทก์หากจะมีการให้ลูกค้าเบิกเงินเกินบัญชีผิดระเบียบไปบ้างก็เป็นการกระทำเพื่อช่วงชิงลูกค้า อันก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสิ้น โจทก์ทราบดีและมิได้ทักท้วงถือว่ายินยอมแล้วจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
หลังจากสืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จแล้ว ในวันนัดสืบพยานจำเลยจำเลยขอให้โจทก์รับว่าจำเลยไม่เคยมีประวัติเสื่อมเสียตรงกันข้ามกับมีผลงานดีจนโจทก์ต่ออายุการทำงานหลังเกษียณแล้วให้ถึงสองครั้ง ครั้งละ 1 ปี โจทก์ยอมรับ จำเลยจึงไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่าเมื่อจำเลยรับแล้วว่าได้ฝ่าฝืนระเบียบก็แสดงว่าโจทก์ไม่ยินยอม จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมเกี่ยวกับการปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบอีกต่อไปคำวินิจฉัยเช่นว่านี้ของศาลแรงงานกลางจึงไม่ชอบและเป็นคำวินิจฉัยที่ขัดต่อพยานหลักฐานในสำนวน เพราะไม่มีเอกสารใดมีข้อความว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมหรือพยานโจทก์คนใดเบิกความว่าโจทก์รู้เห็นยินยอม ตรงกันข้ามกับมีพยานหลักฐานว่า โจทก์ได้ท้วงติงตลอดมาว่าการปล่อยสินเชื่อเกินอำนาจของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบของโจทก์ ข้อวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่ว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมในการปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบของจำเลย จึงขัดต่อพยานหลักฐานในสำนวนนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมในการปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบของจำเลยนั้น ก็โดยพิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งหมดในสำนวนแล้วจึงได้วินิจฉัยเช่นนั้น ข้อวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางดังกล่าวจึงหาได้ขัดต่อพยานหลักฐานในสำนวนไม่ และข้ออุทธรณ์ที่ว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมในการปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบของจำเลยหรือไม่เป็นข้อเท็จจริง อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์อีกว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการที่จำเลยผู้เป็นลูกจ้าง ฝ่าฝืนระเบียบไม่ใช่กรณีผิดในมูลสัญญา หากแต่เป็นการผิดต่อคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายจึงเป็นมูลละเมิด เมื่อโจทก์ซึ่งได้รับความเสียหายจากการละเมิดดังกล่าวได้ยินยอมกับการกระทำละเมิดของจำเลยแล้ว สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายย่อมไม่มีเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้อง เพราะระเบียบดังกล่าวเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งผูกพันโจทก์จำเลยจะต้องปฏิบัติตาม การปล่อยสินเชื่อเกินอำนาจของจำเลยจนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงมีมูลมาจากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือตามสัญญา เมื่อโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมในการปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบของจำเลยแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายได้นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้การที่จำเลยปล่อยสินเชื่อเกินอำนาจจนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จะเป็นการกระทำผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังข้ออุทธรณ์ของโจทก์ก็ตาม แต่ศาลแรงงานกลางก็ได้วินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงแล้วว่าโจทก์ก็ได้รู้เห็นยินยอมในการปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบของจำเลยโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ กรณีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาเรื่องอายุความอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.

Share