คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3828/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136,137,326 และ 328 อันเป็นคดีที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี แม้โจทก์จะยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดก็ต้องนำวิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติ ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้กระทำโดยขาดเจตนามีผลให้จำเลยไม่ต้องรับผิดในทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 ดังนั้นการวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่าการกระทำของโจทก์จะเป็นการปฏิบัติหน้าที่อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 หรือไม่ จึงไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์ ข้อกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระ ในการไต่สวนมูลฟ้องแม้จะได้ความว่าจำเลยได้กระทำการตามฟ้องแต่เมื่อศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวไม่เป็นความผิดไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยขาดเจตนาหรือมีกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิด ศาลก็ชอบที่จะทำการวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องไปได้เลยไม่จำเป็นต้องประทับฟ้องไว้แล้วไปพิพากษายกฟ้องในภายหลัง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามแจ้งความเท็จต่อผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เป็นการดูหมิ่น และเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 137, 326, 328ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 137, 326, 328, 83 และ 91อันเป็นคดีที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี แม้โจทก์จะยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัด ก็จะต้องนำวิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 คดีนี้จึงเป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ได้กล่าวถ้อยคำในทำนองต่อว่าเจ้าพนักงานตำรวจจริง หรือมิฉะนั้นก็เป็นถ้อยคำที่ทำให้จำเลยที่ 1เข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์ได้กล่าวเช่นนั้น เท่ากับเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้กระทำโดยขาดเจตนา จึงมีผลทำให้จำเลยไม่ต้องรับผิดในทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 ดังนั้นการวินิจฉัยปัญหาที่ว่าการกระทำของโจทก์จะเป็นการปฏิบัติหน้าที่อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 หรือไม่จึงไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์ ข้อกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สำหรับฎีกาของโจทก์ที่ว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามทางไต่สวนมูลฟ้องว่า จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันทำหนังสือซึ่งมีข้อความอันเป็นเท็จร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว ศาลก็ชอบที่จะมีคำสั่งให้ประทับฟ้องของโจทก์ มิใช่วินิจฉัยไปเลยว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดเป็นทำนองว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่าในการไต่สวนนั้นแม้จะได้ความว่าจำเลยได้กระทำการตามฟ้อง แต่เมื่อศาลเห็นว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าวไม่เป็นความผิดไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยขาดเจตนาหรือมีกฎหมายบัญญัติว่า การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด ศาลก็ชอบที่จะทำการวินิจฉัย และพิพากษายกฟ้องไปได้เลยไม่จำเป็นจะต้องประทับฟ้องไว้แล้วไปพิพากษายกฟ้องในภายหลัง การดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวจึงชอบแล้ว
ฎีกาข้อสุดท้ายของโจทก์ที่ว่า โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดศาลอุทธรณ์จะยกพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ขึ้นอ้างว่าคดีของโจทก์ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ข้อเท็จจริงจึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่าได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 เพราะฉะนั้นเมื่อคดีของโจทก์เป็นคดีที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี จึงต้องนำวิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับดังที่ศาลฎีกาได้ยกขึ้นวินิจฉัยไว้ในตอนต้น คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในเรื่องนี้จึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share