คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4742/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

อายุความเกี่ยวกับการฟ้องผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างทำของนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าห้ามฟ้องผู้รับจ้างเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันการชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้น กล่าวคือ นับแต่วันที่ตรวจพบความชำรุดบกพร่องหาใช่นับแต่เมื่ออธิบดีกรมโจทก์ ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเช่นคดีละเมิดไม่ เพราะผู้ที่พึงต้องใช้ค่าเสียหายก็คือผู้รับจ้างนั่นเอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2527 โจทก์ได้ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ให้ทำการก่อสร้างอาคารและสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งถางป่าและถมพื้นที่ด่านศุลกากรสตูล จังหวัดสตูล รวม 21 รายการ จำเลยที่ 1ทำการก่อสร้าง ตามสัญญาแล้วเสร็จ คณะกรรมการตรวจการจ้างได้ทำการตรวจรับงานจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2529 ต่อมาวันที่3 มีนาคม 2530 ซึ่งอยู่ในระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเกี่ยวกับความชำรุดบกพร่อง โจทก์ตรวจพบว่าอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างนั้นชำรุดเสียหายไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติรวม10 รายการ ค่าซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องเป็นเงิน 1,275,500 บาทและเป็นเหตุให้โจทก์ต้องจ่ายค่าน้ำประปาเป็นจำนวนเงินที่สูงเกินความเป็นจริงนับแต่เดือนกรกฎาคม 2529 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2531เป็นเวลา 20 เดือน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 145,342.50 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้ให้โจทก์และจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ด้วย จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ด้วย โจทก์ได้ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสามไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน1,420,842.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า ความชำรุดเสียหายมิได้เกิดจากความบกพร่องของจำเลยที่ 1 ความชำรุดบกพร่องของอาคารและสิ่งปลูกสร้าง ปรากฏขึ้นแล้วตั้งแต่ก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2530การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องร้องวันที่ 1 มีนาคม 2531 เกินกำหนด 1 ปีนับแต่วันการชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้น ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความโจทก์คำนวณความเสียหายสูงเกินไป ความเสียหายของโจทก์ ไม่เกิน150,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน1,420,842.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2527 โจทก์ได้ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ทำการก่อสร้างอาคารและสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งถางป่าและถมพื้นที่ที่ด่านศุลกากรสตูลตำบลตำมะลัง อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล รวม 21 รายการให้ถูกต้องตามรูปแบบและรายการรายละเอียดแนบท้ายสัญญาเป็นราคารวมทั้งสิ้น 42,348,000 บาท กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 28มีนาคม 2529 การจ่ายเงินค่าจ้างกำหนดจ่ายเป็นงวดรวม 25 งวดปรากฏตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.1 ในการทำสัญญาว่าจ้างดังกล่าว จำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ไว้เป็นเงินไม่เกิน2,540,880 บาท ปรากฏตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2 จำเลยที่ 1 ได้ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในกำหนดตามสัญญา โดยกรรมการตรวจการจ้างได้รับงานก่อสร้างงวดสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2529ต่อมาโจทก์พบว่าอาคารสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างชำรุดเสียหายและระบบน้ำประปารั่วไหล จึงแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทำการซ่อมแซมและให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันร่วมรับผิด แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแก้ไขซ่อมแซมความชำรุดของอาคารและค่าเสียหายจากการที่ต้องจ่ายค่าน้ำประปาสูงเกินกว่าความจริง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,420,842.50 บาท ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเพราะจำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญาหรือไม่ และคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยในประเด็นที่เกี่ยวกับอายุความก่อน ซึ่งจำเลยทั้งสามฎีกาว่า คดีนี้ความชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้นหลังส่งมอบงานงวดสุดท้ายประมาณ 6 เดือน อายุความก็เริ่มนับ หาใช่ต้องสอบสวนหาตัวผู้รับผิดอีกต่างหากอย่างกรณีละเมิด เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปีนับแต่เกิดความชำรุดบกพร่อง จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า อายุความเกี่ยวกับการจ้างทำของนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 601 ห้ามมิให้ฟ้องผู้รับจ้างเมื่อพ้นปีหนึ่ง นับแต่วันการชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้น กล่าวคือ นับแต่วันที่ตรวจพบความชำรุดบกพร่องหาใช่นับแต่วันที่อธิบดีกรมโจทก์ได้รับรายงานถึงความชำรุดบกพร่องไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามคำของนายณรงค์ วิริยะพงศ์อดีตนายด่านศุลกากรเกาะนก จังหวัดสตูล ผู้รับมอบงานจากคณะกรรมการตรวจการจ้างเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2529 ว่า หลังจากรับมอบงานแล้วประมาณ 6 เดือน จึงตรวจพบความชำรุดเสียหายได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายและรายงานให้โจทก์ทราบ หลังจากนั้นโจทก์จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบความเสียหายอีกครั้งหนึ่ง นายมานิตย์วิทยาเต็ม กรรมการผู้ตรวจความเสียหายว่า ได้ทำการตรวจสอบเมื่อวันที่ 21 ถึง 23 กุมภาพันธ์ 2530 ตามรายงานเอกสารหมาย จ.3แสดงว่าเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้พบความชำรุดบกพร่องตั้งแต่หลัง 6เดือน นับแต่รับมอบงานงวดสุดท้ายคือ ประมาณเดือนกันยายน 2529หรืออย่างน้อยในวันที่คณะกรรมการที่โจทก์ตั้งขึ้นมาตรวจพบความเสียหายในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2530 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2531 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ที่โจทก์แก้ฎีกาว่าคดีนี้อธิบดีกรมโจทก์ได้รับทราบรายงานของคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2530 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2531 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่าอายุความเกี่ยวกับการฟ้องผู้รับจ้างนั้นได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าห้ามฟ้องผู้รับจ้างเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันการชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้น หาใช่เมื่อรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเช่นคดีละเมิดไม่ เพราะผู้ที่พึงต้องใช้ค่าเสียหายก็คือผู้รับจ้างนั่นเอง ดังนั้น โจทก์ต้องฟ้องจำเลยทั้งสามภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันการชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้น แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เกิน1 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังขึ้น และไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นข้ออื่นอีกต่อไป”
พิพากษากลับ

Share