แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เจ้าพนักงานป่าไม้และเจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจพบไม้ได้อายัดไม้ของกลางของโจทก์ไว้ และให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดูแลตามระเบียบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำเลยที่ 3 เป็นเพียงพนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งความ มีหน้าที่ทำการสืบสวนดำเนินคดีให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็วเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับไม้ของกลาง แม้จะเกิดความเสียหายกับไม้ของกลาง จำเลยที่ 3 ก็ไม่ต้องรับผิด ดังนั้นจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดเช่นกัน จำเลยที่ 1 ได้อายัดไม้ของกลางของโจทก์แล้วก็ปล่อยให้อยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ขนย้ายออกไป ไม้ดังกล่าวได้ปลูกสร้างอยู่ในที่ดินของโจทก์ และหลังการอายัดเพียง 28 วัน ก็ได้มีการมุงหลังคาโครงสร้างฉางไว้ แสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้จัดการดูแลรักษาไม้ที่อายัดไว้ดีพอสมควรแล้ว แม้จะเสื่อมสภาพไปบ้างก็เป็นไปตามกาลเวลา ไม่ใช่เพราะความบกพร่องของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ปฏิบัติหน้าที่ในนามของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรมในรัฐบาล จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจตำแหน่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ปฏิบัติหน้าที่ในนามของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นกรมในรัฐบาล เมื่อระหว่างเดือนพฤษภาคม 2523 จำเลยที่ 1เป็นหัวหน้านำเจ้าพนักงานป่าไม้และเจ้าพนักงานตำรวจไปทำการตรวจจับประทับตรา ยึดไม้แปรรูปหลายประเภท หลายขนาด มีปริมาตร18.56 ลูกบาศก์เมตรของโจทก์ที่อยู่ในที่ดินอันมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ของโจทก์ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในนามของจำเลยที่ 2 ที่ 4 แล้วจำเลยที่ 1 กับพวกได้กล่าวหาโจทก์ว่ามีไม้แปรรูปไว้ในความครอบครองโดยผิดกฎหมายและส่งมอบไม้ของกลางดังกล่าวต่อจำเลยที่ 3 ซึ่งขณะนั้นเป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอวานรนิวาสเป็นผู้เก็บรักษาไม้ของกลาง และต่อมาโจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น ปรากฏตามสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 761/2524 ของศาลชั้นต้น ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง และสั่งคืนไม้ของกลางให้โจทก์ โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานป่าไม้และพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอวานรนิวาสเมื่อเดือนกรกฎาคม 2525 เพื่อขอรับไม้ของกลางคืน เจ้าพนักงานดังกล่าวเบี่ยงบ่าย ต่อมาเมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2525 โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยทั้งสี่ให้ส่งมอบไม้ของกลางคืนให้โจทก์อีกจำเลยที่ 2 สั่งให้เจ้าพนักงานป่าไม้อำเภอวานรนิวาสร่วมกับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอวานรนิวาสประทับตราปล่อยการยึดและส่งมอบไม้ของกลางคืนให้โจทก์ แต่เจ้าพนักงานดังกล่าวต่างซัดทอดกันไปมา จนบัดนี้โจทก์ยังไม่ได้ไม้ของกลางคืน ไม้ของกลางดังกล่าวมีปริมาตร 18.56 ลูกบาศก์เมตร ราคาลูกบาศก์เมตรละ12,000 บาทเป็นอย่างน้อย จำเลยที่ 1 ที่ 3 ผู้เก็บรักษาไม้ของกลางซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในนามของจำเลยที่ 2 ที่ 4 มีหน้าที่ต้องสงวนดูแลรักษาให้ดีซึ่งไม้ของกลางเสมือนหนึ่งวิญญูชนพึงรักษาทรัพย์ของตน แต่จำเลยที่ 1 ที่ 3 หาได้ปฏิบัติเช่นนั้นไม่ โดยจำเลยไม่มุงหลังคาปล่อยให้ไม้ของกลางตากแดด ตากฝน เป็นเหตุให้ไม้ของกลางแตก หัก เสื่อมสภาพ ใช้การไม่ได้และเสื่อมราคาคิดเป็นเงินประมาณ 100,000 บาท เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2525 โจทก์ได้ไปตรวจดูไม้ของกลางปรากฏว่าไม้ของกลางสูญหายไปคิดเป็นปริมาตร 7.86 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นราคา 90,720 บาท เป็นอย่างน้อย รวมเป็นเงินค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับทั้งสิ้น190,720 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสี่ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบชดใช้ความเสียหายให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ย ขอให้จำเลยร่วมกันประทับตราปล่อยการยึดไม้ของกลางและส่งมอบไม้ของกลางคืนโจทก์ หากจำเลยไม่ยอมประทับตราปล่อยการยึดและส่งมอบไม้ของกลางคืนให้โจทก์ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยประทับตราปล่อยการยึดและมอบไม้ของกลางให้โจทก์ และให้บังคับจำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 190,720 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 190,720 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ แต่เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ร่วมตรวจสอบและอายัดไม้แปรรูปของกลางและได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานป่าไม้อำเภอวานรนิวาสให้ไปร้องทุกข์แทนในคดีที่โจทก์กระทำผิดข้อหาทำไม้และมีไม้แปรรูปไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและเมื่อได้อายัดไม้และมอบบัญชีไม้ให้พนักงานสอบสวนแล้วจำเลยที่ 1 ก็หมดหน้าที่ เจ้าพนักงานป่าไม้อำเภอเคยแจ้งให้โจทก์ไปทำบันทึกการตกลงรักษาไม้ของกลาง โจทก์ก็เพิกเฉย ส่วนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอวานรนิวาสนั้น ก็เพียงได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานป่าไม้ให้สอบสวนคดีอาญาที่โจทก์ถูกกล่าวหาดังกล่าวแล้ว และเจ้าพนักงานป่าไม้เพียงส่งมอบบัญชีไม้ของกลางให้โดยมิได้มีการยึดไม้มา เพราะไม้แปรรูปมีจำนวนมาก และโจทก์กับพวกทำพรางเป็นสิ่งปลูกสร้างไว้ จึงได้แต่อายัดไว้มิให้โจทก์ขายหรือเคลื่อนย้ายไปในระหว่างคดี โจทก์จึงเป็นผู้ครอบครองและมีหน้าที่ดูแลรักษาไม้ของกลาง ซึ่งอยู่ในสภาพเดิมในที่ดินของโจทก์เอง จำเลยที่ 1 ที่ 3 ได้ปฏิบัติหน้าที่ไปถูกต้องตามระเบียบแบบแผนของทางราชการแล้ว มิได้ประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหายแต่อย่างใด จำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องรับผิดขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันประทับตราปล่อยการยึดไม้ของกลางและส่งมอบไม้ของกลางคืนโจทก์หากไม่ส่งมอบคืนให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 แทน และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 140,720 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จโจทก์จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 64,727.10 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าเดิมโจทก์ถูกฟ้องคดีอาญาข้อหาว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์และให้คืนไม้ของกลางแก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอไม้ของกลางคืนจากจำเลยที่ 1 ที่ 3 จำเลยที่ 1 ที่ 3 ไม่ประทับตราส่งมอบไม้ของกลางคืนแก่โจทก์ คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 จะต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ และค่าเสียหายมีเพียงใด กับมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ว่าจะต้องรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่าจำเลยที่ 3ที่ 4 จะต้องร่วมรับผิดจำเลยที่ 1 ที่ 2 ด้วยหรือไม่นั้น เห็นว่าปรากฏตามเอกสารหมาย ล.13 ว่า นายพันเทพ อันตระกูลเจ้าพนักงานป่าไม้อำเภอวานรนิวาสกับเจ้าพนักงานตำรวจจำนวนหนึ่ง ได้ออกตรวจปราบปรามผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้และพบไม้ของกลางจึงอายัดไว้ แล้วนายพันเทพได้แจ้งความแก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอวานรนิวาสให้สืบสวนหาตัวผู้เป็นเจ้าของไม้ของกลางมาดำเนินคดี ต่อมาในวันเดียวกันนั้นร้อยเอกสุรจิตร ชมาฤกษ์ นายอำเภอวานรนิวาสได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นคณะหนึ่ง มีจำเลยที่ 3ร่วมอยู่ด้วยตามเอกสารหมาย ล.19 คณะกรรมการได้ตรวจสอบและได้ทำบันทึกการตรวจสอบไว้ตามเอกสารหมาย ล.20 เห็นว่าการอายัดไม้ของกลางนั้น เจ้าพนักงานป่าไม้และเจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจพบไม้ได้อายัดไว้ก่อนแล้ว จำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้รับแจ้งความเท่านั้น และยังได้ความต่อไปจากข้อตกลงระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงเกษตร เรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับไม้ของกลางในคดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ตามเอกสารหมาย ล.23 อีกว่าไม้ของกลางที่ตรวจยึดได้ให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดูแลตามระเบียบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พนักงานสอบสวนมีหน้าที่เพียงทำการสืบสวนดำเนินคดีให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็วเท่านั้น เห็นว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับไม้ของกลางด้วย แม้จะเกิดความเสียหายกับไม้ของกลาง จำเลยที่ 3 ก็ไม่ต้องรับผิดชอบดังนั้น จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดเช่นกัน ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะต้องรับผิดชอบต่อโจทก์เพียงใดเกี่ยวกับไม้ที่สูญหายและราคาไม้ที่สูญหายนั้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยอมรับในฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ว่า ถูกต้องตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในปัญหาที่เกี่ยวกับไม้ที่สูญหาย โจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์คำนวณเนื้อไม้และราคาไม้เป็นลูกบาศก์เมตรนั้นไม่ถูกต้องที่ถูกต้องคิดตามลูกบาศก์ฟุตตามที่พยานโจทก์เบิกความ ข้อนี้ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์คำนวณเนื้อไม้เป็นลูกบาศก์ฟุตแล้ว ฎีกาของโจทก์ในปัญหานี้จึงไม่ตรงกับที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย โจทก์ฎีกาต่อมาว่าศาลอุทธรณ์คิดราคาไม้ตามคำเบิกความของพยานโจทก์เป็นลูกบาศก์เมตรจึงคลาดเคลื่อน ความจริง 1 ลูกบาศก์เมตรเท่ากับ36.20 ลูกบาศก์ฟุต เห็นว่า ปริมาตร 1 ลูกบาศก์เมตร เท่ากับ35.3198 ลูกบาศก์ฟุต ที่ศาลอุทธรณ์เทียบ 1 ลูกบาศก์เมตรเท่ากับ36.10 ลูกบาศก์ฟุต และคิดค่าไม้ที่หายไปเป็นเงิน 44,727.10 บาทนับว่าเป็นประโยชน์แก่โจทก์อยู่แล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 แก้ฎีกาว่า ฎีกาของโจทก์เคลือบคลุมนั้น เห็นว่า ฎีกาของโจทก์ได้คัดค้านการคำนวณปริมาตรเนื้อไม้ชัดแจ้งแล้ว หาได้เคลือบคลุมดังที่จำเลยที่ 1 ที่ 2กล่าวอ้างไม่
คงมีปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2จะต้องรับผิดชอบในไม้เสื่อมสภาพหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1ได้อายัดไม้ของกลางของโจทก์แล้วก็ปล่อยให้อยู่ในสภาพเดิม ไม่ได้ขนย้ายออกไป ซึ่งไม้ดังกล่าวได้ปลูกสร้างอยู่ในที่ดินของโจทก์และต่อมาเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2523 หลังการอายัดไม้เพียง28 วัน ก็ได้มีการมุงหลังคาโครงสร้างฉางไว้ ปรากฏตามเอกสารซึ่งมีภาพถ่ายประกอบหมาย ล.1 แสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้จัดการดูแลรักษาไม้ที่อายัดไว้ดีพอสมควรแล้ว แม้จะเสื่อมสภาพไปบ้างก็เป็นไปตามกาลเวลาไม่ใช่เพราะความบกพร่องของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ที่ 2จึงไม่ต้องรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้แก่โจทก์”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 44,727.10 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.