คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 69/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์ร่วมที่ 2 กับจำเลยทำสัญญาขายฝากที่ดินและบ้านพิพาทกันแล้ว แม้จำเลยผู้ขายฝากยังคงครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทต่อไป โดยไม่ได้มอบการครอบครองแก่โจทก์ร่วมที่ 2 ก็ไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่านิติกรรมระหว่างโจทก์ร่วมที่ 2 กับจำเลยเป็นนิติกรรมอำพราง ดังนั้น การที่จำเลยไม่ไถ่ถอนการขายฝากภายในกำหนด และโจทก์ร่วมที่ 2 ผู้รับซื้อฝากขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 โดยสุจริต กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทย่อมเป็นของโจทก์และโจทก์ร่วม โจทก์จึงมีสิทธิขับไล่จำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่ 24927 ตำบลจอหอ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 56 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างคือบ้านเลขที่ 205/2 ซึ่งโจทก์ซื้อมาเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2527 โจทก์แจ้งให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไป แต่จำเลยและบริวารเพิกเฉยขอให้บังคับให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากบ้านเลขที่205/2 ตำบลจอหอ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมาและห้ามเกี่ยวข้องอีก กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากบ้านโจทก์ จำเลยขอให้เรียกนางสมจิต กระบวนรัตน์ กับนายใจพิมพ์พิสาร เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต และให้เรียกนางสมจิต กระบวนรัตน์ ว่าโจทก์ร่วมที่ 1 นายใจพิมพ์พิสาร ว่า โจทก์ร่วมที่ 2 จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นของจำเลย เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2526จำเลยไปติดต่อขอกู้ยืมเงิน 30,000 บาทจากโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นภรรยาของโจทก์ โจทก์ร่วมที่ 1 นำจำเลยไปขอกู้ยืมเงินจากโจทก์ร่วมที่ 2 แทน โจทก์ร่วมที่ 2 ตกลงให้จำเลยกู้เงิน 30,000 บาท โดยคิดดอกเบี้ย โจทก์ร่วมที่ 2 กับจำเลยตกลงว่า ในการกู้ยืมเงินดังกล่าวจำเลยต้องนำที่ดินและบ้านพิพาทของจำเลยจดทะเบียนขายฝากอำพรางไว้แทนการทำสัญญากู้ยืมเงิน ทั้งนี้เพื่อเป็นประกันการชำระเงินคืนเท่านั้น โดยโจทก์ร่วมที่ 2 กับจำเลยหาได้มีเจตนาที่จะให้เป็นไปตามสัญญาขายฝากไม่ จำเลยได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินและบ้านให้โจทก์ร่วมที่ 2 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2526 โดยจำนวนเงินขายฝากได้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน เป็นเวลา 1 ปี จากต้นเงิน30,000 บาท รวมเป็นเงินต้นและดอกเบี้ย 48,000 บาท จำเลยมิได้ส่งมอบการครอบครองบ้านให้โจทก์ร่วมที่ 2 จำเลยครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาประมาณเดือนกันยายน 2527จำเลยติดต่อขอชำระเงินกู้ยืมจำนวน 48,000 บาท ให้โจทก์ร่วมที่ 2และขอให้โจทก์ร่วมที่ 2 จัดการจดทะเบียนโอนที่ดินและบ้านพิพาทคืนแก่จำเลย แต่โจทก์ร่วมที่ 2 ผัดผ่อนเรื่อยมา จนกระทั่งวันที่16 เมษายน 2528 จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวจากทนายโจทก์ให้จำเลยออกจากที่ดินและบ้านพิพาท จึงทราบว่าโจทก์ร่วมที่ 2 ได้ขายที่ดินและบ้านพิพาทแก่โจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม2527 ทั้ง ๆ ที่โจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 ทราบดีถึงข้อตกลงของโจทก์ร่วมที่ 2 กับจำเลย จึงเป็นการรับโอนโดยไม่สุจริตและเป็นการร่วมกันฉ้อฉลจำเลย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง และขอให้พิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนการซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างโจทก์ร่วมที่ 2 ผู้ขาย กับโจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 ผู้ซื้อ โจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 ให้การแก้ฟ้องแย้งทำนองเดียวกันว่า โจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ทราบว่าการขายฝากระหว่างจำเลยกับโจทก์ร่วมที่ 2 มีข้อตกลงกันอย่างใด โจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 ได้รับซื้อที่ดินและบ้านพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนทั้งได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยไม่มีสิทธิขอเพิกถอนการจดทะเบียนการซื้อขายดังกล่าว ขอให้ยกฟ้องแย้ง โจทก์ร่วมที่ 2 ให้การแก้ฟ้องแย้งว่าการขายฝากที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างโจทก์ร่วมที่ 2 กับจำเลยเป็นการจดทะเบียนขายฝากถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีเจตนาขายฝากกันตามกฎหมายโจทก์ร่วมที่ 2 ไม่เคยตกลงกับจำเลยที่จะทำการขายฝากแทนทำสัญญากู้แต่อย่างใด การที่จำเลยยังคงครอบครองที่ดินอยู่เพราะจำเลยไม่มีที่อยู่และขออยู่ไปก่อนจนกว่าจะพ้นเวลาขอไถ่ ต่อมาเมื่อพ้นกำหนดเวลาไถ่แล้ว โจทก์ร่วมที่ 2 ขายที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งโจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 รับซื้อไว้โดยสุจริตและจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยไม่มีสิทธิขอเพิกถอนการขายฝากระหว่างจำเลยกับโจทก์ร่วมที่ 2 ขอให้ยกฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยกับบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากบ้านเลขที่ 205/2หมู่ที่ 3 ตำบลจอหอ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมาและห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไปกับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 500บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากบ้านดังกล่าว ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า สัญญาขายฝากระหว่างโจทก์ร่วมที่ 2 กับจำเลยเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมเงิน การซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างโจทก์ร่วมที่ 2 กับโจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นการไม่สุจริต โดยทำการซื้อขายเพื่อฉ้อฉลจำเลยกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิขับไล่จำเลยนั้น เห็นว่าคดีนี้โจทก์ร่วมที่ 2 จำเลยได้จดทะเบียนสัญญาขายฝากที่ดินและบ้านพิพาทไว้ตามเอกสารหมาย จ.6 หรือ ล.2ที่จำเลยนำสืบว่าสัญญาขายฝากระหว่างโจทก์ร่วมที่ 2 กับจำเลยเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้นั้น ก็มีเพียงตัวจำเลยเบิกความลอย ๆทั้งก่อนที่จะมีการทำสัญญาขายฝากกันนั้น ข้อเท็จจริงก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยและนางสาวจีรพรรณ เจริญพันธ์ พยานจำเลยประกอบกับเอกสารหมาย จ.1 ว่า จำเลยเคยขายฝากที่ดินพิพาทกับบุคคลอื่นมาก่อนแล้ว จำเลยเข้าใจเรื่องการขายฝากตลอดจนการไถ่ถอนการขายฝากเป็นอย่างดี การที่จำเลยทำสัญญาขายฝากกับโจทก์ร่วมที่ 2ก็เพื่อจะได้นำเงินไปไถ่ถอนการขายฝากที่ดินพิพาทจากนางสาวจีรพรรณเจริญพันธ์ ผู้รับซื้อฝากคนก่อนและนำเงินอีกส่วนหนึ่งไปใช้ตอนที่จำเลยไปขอกู้เงินจากโจทก์ร่วมที่ 2 โจทก์ร่วมที่ 2 ก็บอกกับจำเลยว่า จำเลยจะต้องนำที่ดินพิพาทมาจดทะเบียนขายฝากไว้หลังจากที่ทำสัญญาขายฝากกันแล้ว ข้อเท็จจริงก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า ก่อนสัญญาครบกำหนดจำเลยไม่เคยนำดอกเบี้ยไปชำระให้แก่โจทก์ร่วมที่ 2 พยานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักให้น่าเชื่อถือ แม้ภายหลังการทำสัญญาขายฝากจำเลยยังคงครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทต่อไปโดยไม่ได้มอบการครอบครองแก่โจทก์ร่วมที่ 2 ก็ไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่านิติกรรมระหว่างโจทก์ร่วมที่ 2 กับจำเลยเป็นนิติกรรมอำพรางตามที่กล่าวอ้างไม่ ส่วนพยานหลักฐานของโจทก์นั้น โจทก์ร่วมที่ 2 เบิกความยืนยันว่า หากจำเลยไม่นำที่ดินมาขายฝาก โจทก์ร่วมที่ 2 ก็จะไม่ให้จำเลยกู้เงินขณะจดทะเบียนการขายฝาก จำเลยก็เบิกความเจือสมว่าไม่ได้มีการพูดกันถึงเรื่องการขายฝากเป็นการอำพรางสัญญากู้เงิน ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่าจำเลยได้ขายฝากที่ดินและบ้านพิพาทกับโจทก์ร่วมที่ 2 ไม่ได้อำพรางนิติกรรมการกู้ยืมแต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์ร่วมที่ 2 กับจำเลยได้ทำสัญญาขายฝากที่ดินและบ้านพิพาทกันจริง ๆสัญญาขายฝากดังกล่าวจึงไม่ใช่นิติกรรมอำพราง การที่โจทก์ร่วมที่ 2 ขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 จึงเป็นไปโดยสุจริต กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นของโจทก์และโจทก์ร่วม โจทก์จึงมีสิทธิขับไล่จำเลยได้”
พิพากษายืน

Share