คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3824/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า MITSUBA สำหรับสินค้าจำพวกที่ 9 ในรายการสินค้าที่รวมถึงสวิตช์สัญญาณเตือนภัยด้วย แต่นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนเนื่องจากเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า MITSURA ของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกที่ 12 รายการสินค้าสัญญาณกันขโมยสำหรับยานพาหนะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 13 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า MITSUBA กับสินค้าของโจทก์มาก่อนที่จำเลยจะใช้เครื่องหมาย การค้าคำว่า MITSURA กับสินค้าของจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิดีกว่าจำเลย แม้เครื่องหมายการค้าทั้งสองคำจะใช้กับสินค้าต่างจำพวกกัน แต่มีลักษณะอย่างเดียวกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องต่อศาลให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า MITSURA ของจำเลยได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า MITSUBA อ่านว่า มิตซูบะหรือมิตซูบา และเริ่มใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาพร้อมกับการตั้งบริษัทโจทก์ตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๔๘๙ โดยโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไว้ในประเทศญี่ปุ่นและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โจทก์ผลิตและจำหน่ายสินค้าหลอดไฟสำหรับเครื่องปั่นไฟรถจักรยาน และสินค้าจำพวกที่ ๙ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ โดยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย สินค้าของโจทก์ได้รับความนิยมแพร่หลายจากสาธารณชนทั่วไป ต่อมาโจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับสินค้าจำพวกที่ ๙ แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์เนื่องจากเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า MITSURA ของจำเลย ที่ได้จดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกที่ ๑๒ ตามมาตรา ๑๓ แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ จำเลยใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า MITSURA ซึ่งเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า MITSUBA ของโจทก์กับสินค้าของจำเลยซึ่งเป็นสินค้าที่มีความเกี่ยวข้องกับสินค้าของโจทก์โดยตรงและอยู่ในจำพวกเดียวกับสินค้าของโจทก์โดยไม่สุจริต โดยโจทก์ได้ใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า MITSUBA ที่ต่างประเทศก่อนจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลย การกระทำของจำเลยเป็นการเลียนแบบและละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่าเครื่องหมายการค้าและสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า MITSUBA ดีกว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลย และขอให้สั่งห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า MITSURA ที่จำเลยจดทะเบียนไว้กับสินค้าของจำเลย ให้จำเลยเพิกถอนเครื่องหมายการค้าคำว่า MITSURA หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า โจทก์มิใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า MITSUBA ทั้งมิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในหลายประเทศทั่วโลก เพียงแต่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า MITSUBA สำหรับสินค้าจำพวกที่ ๙ โจทก์มิได้ผลิตและจำหน่ายสินค้าจำพวกที่ ๙ ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า MITSUBA แต่อย่างใด จำเลยเป็นเจ้าของและผู้ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า MITSURA เพื่อใช้กับสินค้าสัญญาณกันขโมยสำหรับยานพาหนะกับสินค้าอื่น ๆ โดยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ ๑๒ สำหรับสินค้าสัญญาณกันขโมยสำหรับยานพาหนะและสินค้าจำพวกที่ ๙ สำหรับสินค้าวิทยุ ลำโพง และยังได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าจำพวกที่ ๖ กับจำพวกที่ ๑๑ จำเลยใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยสุจริต และทำการโฆษณาเครื่องหมายการค้านั้นจนเป็นที่แพร่หลาย จำเลยมิได้ลอกเลียนแบบและละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่าเป็นเครื่องหมายการค้าหรือสินค้าของโจทก์ จำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า MITSURA ดีกว่าโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า MITSUBA ดีกว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า MITSURA ของจำเลย ให้จำเลยจดทะเบียนเพิกถอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า MITSUBA ที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกที่ ๙ ในรายการสินค้าที่รวมถึงสวิตช์สัญญาณเตือนภัยนั้นแม้จะเป็นสินค้าต่างจำพวกกันกับสินค้าจำพวกที่ ๑๒ รายการสินค้า สัญญาณกันขโมยสำหรับยานพาหนะ ที่จำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า MITSURA ไว้ แต่นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพราะเห็นว่าสินค้าสวิตช์สัญญาณเตือนภัยของโจทก์กับสินค้าสัญญาณกันขโมยสำหรับยานพาหนะของจำเลยอาจใช้กับยานพาหนะได้เหมือนกัน เป็นสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน และเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ตามมาตรา ๑๓ แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ ปัญหาจึงมีเพียงว่าผู้ใดมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า MITSUBA และ MITSURA ดีกว่ากัน จากพยานหลักฐานของโจทก์ได้ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของและผู้ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า MITSUBA อ่านว่า มิตซูบาหรือมิตซูบะ โดยนำคำในภาษาญี่ปุ่นคำว่ามิตซึ หรือ MITSU ซึ่งแปลว่า สาม มารวมกับคำว่า บะ หรือ BA ซึ่งแปลว่า ใบไม้ มีความหมายว่า ใบไม้ ๓ ใบ มาตั้งเป็นชื่อบริษัทโจทก์ และใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์เนื่องจากผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทโจทก์มี ๓ คน เปรียบเสมือนใบไม้ ๓ ใบ โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า MITSUBA มาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทโจทก์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ จนถึงปัจจุบันและโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐอินเดีย และสาธารณรัฐตุรกี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๒ ต่อมาได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยห้างหุ้นส่วนจำกัดพันธ์ยนต์อะไหล่เป็นผู้นำสินค้าของโจทก์เข้ามาจำหน่ายประมาณ ๑๐ ปี แล้ว ส่วนพยานหลักฐานของจำเลยรับฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า MITSURA พยานจำเลยเป็นผู้คิดขึ้นโดยเห็นว่าคำว่า MITSU เป็นคำที่รู้จักทั่วไปและนำคำว่า RA มาต่อท้ายคำดังกล่าวเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าคำว่า MITSU ที่จำเลยอ้างว่าเป็นคำที่รู้จักทั่วไปนั้น มีความหมายอย่างไรหรือไม่ และเป็นที่รู้จักกันในเรื่องใด เหตุผลใดจึงนำคำว่า RA มาต่อท้ายคำว่า MITSU จึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีเหตุผลและน้ำหนักพอ นอกจากนี้ก่อนดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า MITSURA จำเลยได้ตรวจสอบหลักฐานการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาพบว่ามีสินค้าที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งมีคำนำหน้าว่า MITSU เป็นจำนวนมาก ทำให้มีเหตุผลเชื่อว่าจำเลยนำคำว่า MITSU จากเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นมารวมกับคำว่า RA เพราะเห็นว่ายังไม่มีผู้ใดยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า MITSURA ไว้สำหรับสินค้าจำพวกที่ ๑๒ มาก่อน ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยเพิ่งไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า MITSURA เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖ ส่วนโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า MITSUBA ในต่างประเทศมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๙ ตลอดมาและได้นำสินค้าของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยมาประมาณ ๑๐ ปี แล้วก่อนที่จำเลยจะใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า MITSURA กับสินค้าของจำเลย เมื่อพยานหลักฐานแสดงที่มาของเครื่องหมายการค้าคำว่า MITSUBA ของโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิดีกว่าจำเลย และแม้จะฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า MITSURA ไว้โดยสุจริตดังที่จำเลยฎีกา ก็ไม่อาจกระทบถึงสิทธิของโจทก์ซึ่งดีกว่าจำเลยดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ให้จำเลยจดทะเบียนเพิกถอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนานั้น ยังไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติมาตรา ๖๗ วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า MITSURA ซึ่งจำเลยได้ขอจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกที่ ๑๒ รายการสินค้า สัญญาณกันขโมยสำหรับยานพาหนะ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share