แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ค่าครองชีพที่จำเลยจ่ายให้แก่พนักงานของจำเลยมีจำนวนแน่นอนและจ่ายให้เป็นประจำ เป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน จึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างและเมื่อรวมกับค่าจ้างบางอัตราที่จำเลยจ่ายให้แก่พนักงานของจำเลยแล้ว มิได้ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศกระทรวงมหาดไทย จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยจ่ายค่าจ้างให้พนักงานของจำเลยต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 10) ลงวันที่ 1 กันยายน 2523
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ จำเลยเป็นองค์การรัฐวิสาหกิจ เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. ๒๕๐๑ และเป็นนายจ้างของพนักงานการไฟฟ้านครหลวงและสมาชิกของโจทก์ เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๒๓ กระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ ๑๐) ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในท้องที่กรุงเทพมหานครเป็นวันละ ๕๔ บาท และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๓ เป็นต้นไป อัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวเมื่อคิดคำนวณเป็นเดือนแล้วจะเท่ากับเดือนละ ๑,๖๒๐ บาท แต่จำเลยซึ่งตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครยังคงจ่ายเงินเดือนให้แก่สมาชิกโจทก์และพนักงานการไฟฟ้านครหลวงในอัตราขั้นต่ำเดือนละ ๑,๓๕๐ บาท เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ขอให้ศาลบังคับจำเลยปฏิบัติตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ ๑๐) โดยจ่ายอัตราเงินเดือนแก่สมาชิกโจทก์และพนักงานของจำเลยเท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเดือนละ ๑,๖๒๐ บาท และจ่ายจำนวนเงินที่ยังขาดอยู่ให้แก่สมาชิกโจทก์และพนักงานของจำเลยตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๓ เป็นต้นไป
จำเลยให้การว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ(ฉบับที่ ๑๐) หมายถึงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน มิได้หมายรวมถึงค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือนโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยคำนวณเป็นรายเดือนอย่างไรก็ตามจำเลยได้จ่ายค่าครองชีพให้แก่พนักงานขั้นต่ำเดือนละ ๔๐๐ บาท ซึ่งเมื่อรวมกับเงินเดือนตามฟ้องโจทก์แล้วเป็นจำนวนมากกว่าที่โจทก์ฟ้องจำเลยจ่ายค่าจ้างให้พนักงานของจำเลยโดยกำหนดอัตราค่าจ้างเป็นรายเดือนตามที่กระทรวงการคลังอนุมัติจึงเป็นการถูกต้องตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณาโจทก์จำเลยแถลงรับกันว่า ในขณะใช้บังคับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ฉบับที่ ๑๐ ให้ลูกจ้างได้ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ ๕๔ บาท จำเลยยังคงจ่ายค่าจ้างให้แก่พนักงานของจำเลยไม่ถึงเดือนละ ๑,๖๒๐ บาท อยู่ ๓ อัตราคือ ๑,๓๕๐ บาท, ๑,๔๕๐ บาท และ ๑,๕๗๐ บาท โดยจำเลยถือว่าเป็นลูกจ้างรายเดือนไม่อยู่ในบังคับของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและพนักงานที่ได้รับค่าจ้างใน ๓ อัตรานี้ยังได้รับค่าครองชีพอีกคนละ ๔๐๐บาท ต่อเดือนเท่ากัน โจทก์จำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยจ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงานของจำเลยต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ ๓ อัตราคือ ๑,๓๕๐ บาท, ๑,๔๕๐ บาท และ๑,๕๗๐ บาท แต่พนักงานของจำเลยทุกคนก็ได้รับค่าครองชีพจากจำเลยเดือนละ ๔๐๐ บาทเท่ากัน ซึ่งค่าครองชีพก็คือค่าจ้าง เมื่อรวมกันแล้วพนักงานดังกล่าวได้รับค่าจ้างเดือนละ ๑,๗๕๐ บาท, ๑,๘๕๐ บาท และ ๑,๙๗๐ บาท จำเลยจึงมิได้จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างของจำเลยต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ ๑๐) พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปรากฏว่าค่าครองชีพที่จำเลยจ่ายให้แก่พนักงานของจำเลยเป็นการจ่ายให้เป็นประจำและมีจำนวนแน่นอนถึงแม้สาเหตุแห่งการจ่ายและวิธีการจ่ายจะสืบเนื่องจากค่าครองชีพระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เพิ่มขึ้นและจะมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ โจทก์สมาชิกของโจทก์และพนักงานของจำเลยประสบปัญหาเรื่องปากท้องไม่พอกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงได้ร้องเรียนให้คณะรัฐมนตรีปรับปรุงโครงสร้างของเงินเดือนเสียใหม่ แต่เนื่องจากกระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานรัฐวิสาหกิจโดยตรงไม่สามารถปรับปรุงโครงสร้างเรื่องเงินเดือนให้ทันได้ กระทรวงมหาดไทยจึงได้นำเรื่องการจ่ายค่าครองชีพเพื่อช่วยเหลือพนักงานรัฐวิสาหกิจเป็นการชั่วคราวก่อนจนกว่าจะมีการประกาศเรื่องโครงสร้างของเงินเดือนเสร็จสิ้นและประกาศใช้ในภายหลังโดยให้ค่าครองชีพคนละ ๔๐๐ บาท ต่อเดือน เฉพาะพนักงานและลูกจ้างประจำของรัฐวิสาหกิจที่มีค่าจ้างเงินเดือนเท่ากับหรือต่ำกว่า ๓,๐๓๐ บาท และเดือนละ ๓๐๐ บาท สำหรับพนักงานและลูกจ้างประจำของรัฐวิสาหกิจที่มีค่าจ้างเงินเดือนกว่า ๓,๐๓๐ บาท แต่ไม่เกิน ๕,๖๕๐ บาท ก็ตาม ก็แสดงว่าค่าจ้างหรือเงินเดือนเดิมไม่ได้ส่วนกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงต้องจ่ายค่าครองชีพเพิ่มเติมให้ ซึ่งแม้จะเป็นในระยะที่ยังปรับปรุงโครงสร้างเงินเดือนไม่ทัน ก็ยังถือได้ว่าค่าครองชีพที่จำเลยจ่ายให้แก่พนักงานของจำเลยในระยะเวลาดังกล่าวแล้วเป็นการตอบแทนการทำงานของพนักงานเช่นกัน จึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างและปรากฏว่าพนักงานของจำเลยที่ได้รับค่าจ้างไม่ถึงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำคือ ๑,๖๒๐ บาท มีอยู่ ๓ อัตราคือ ๑,๓๕๐ บาท ๑,๔๕๐ บาท และ ๑,๕๗๐ บาท แต่เมื่อรวมกับค่าครองชีพซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างด้วยแล้วจะเป็นเดือนละ ๑,๗๕๐ บาท ๑,๘๕๐ บาทและ ๑,๙๗๐ บาท ซึ่งมิได้ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ ๑๐) แต่อย่างใด
พิพากษายืน