คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 382/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 105 ให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนเรื่องหนี้สินที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นส่งสำนวนเรื่องหนี้สินที่ขอรับชำระนั้นต่อศาลโดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้นั้นว่าต้องกระทำเมื่อใด การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นเสนอต่อศาลล้มละลายกลางว่าเห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียนั้นมีผลเท่ากับว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ การทำความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในส่วนนี้จึงชอบแล้ว
เจ้าหนี้ทราบว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะมีหนี้สินล้นพ้นตัวถูกฟ้องให้ล้มละลาย เมื่อลูกหนี้ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการและศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการปรากฏว่าที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่มีมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการ ต่อมาศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แสดงให้เห็นว่ากิจการของลูกหนี้ไม่อาจดำเนินต่อไปได้ การที่เจ้าหนี้ให้ลูกหนี้กู้ยืมเงินไปย่อมไม่ใช่หนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทำขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้ซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่เจ้าหนี้อาจนำไปขอรับชำระหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 (2) ตอนท้าย แต่เป็นหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94 (2) ตอนต้น

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมากจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลย (ลูกหนี้) ที่ 1 เด็ดขาดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 7,297,838.36 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วทำความเห็นว่า เจ้าหนี้ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่ามูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินมีการจ่ายเงินกันจริง โดยมีเพียงสำเนาตั๋วสัญญาใช้เงิน 5 ฉบับมาแสดง ซึ่งต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 และกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายที่จะอ้างได้ ทั้งไม่ปรากฏหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน เอกสารการรับจ่ายเงิน หรือมีการจ่ายคืนต้นเงินและดอกเบี้ย หรือหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ เจ้าหนี้เป็นผู้ประกอบธุรกิจ การให้กู้ยืมเงินจำนวนมากควรมีความรอบคอบรัดกุมในการทำสัญญากรรมการผู้มีอำนาจของลูกหนี้ที่ 1 เป็นคณะบุคคลชุดเดียวกันกับกรรมการของเจ้าหนี้ อาจถือได้ว่าเป็นบุคคลภายในของลูกหนี้ที่ 1 อันเป็นข้อพิรุธและถือเป็นมูลหนี้ที่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 เห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 107 (1)
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แก้อุทธรณ์ว่า เจ้าหนี้ยื่นอุทธรณ์ล่วงเลยกำหนดเวลานั้น เห็นว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งหนังสือแจ้งคำสั่งศาลล้มละลายกลางให้เจ้าหนี้ทางไปรษณีย์ มีผู้รับหนังสือไว้เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2548 เจ้าหนี้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2548 ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2548 ศาลอนุญาต ต่อมาวันที่ 23 พฤศจิกายน 2548 เจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 2 ถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2548 ศาลอนุญาต เจ้าหนี้ยื่นอุทธรณ์วันที่ 22 ธันวาคม 2548 ยังไม่พ้นระยะเวลาที่ศาลขยายให้ ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของเจ้าหนี้มาจึงชอบแล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้มีว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้หรือไม่ เจ้าหนี้อุทธรณ์ข้อแรกว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 105 ให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการค้นหาความจริงว่าหนี้สินที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้หรือไม่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจออกหมายเรียกพยานหลักฐานมาสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องหนี้สินได้ทุกกรณีไม่ว่าจะมีผู้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้หรือไม่ จึงต้องโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้อย่างช้าในชั้นสอบสวนคำขอรับชำระหนี้เพราะเมื่อมีการนำพยานหลักฐานเข้าสอบสวนและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีความสงสัยไม่เชื่อถือพยานหลักฐานที่สอบสวนหรือคิดจะโต้แย้งทักท้วงว่าเป็นหนี้กันจริงหรือไม่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องเรียกพยานบุคคลหรือพยานเอกสารมาสอบสวนเพิ่มเติม หากเจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือผู้โต้แย้งไม่มาให้การหรือส่งพยานหลักฐาน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมสามารถทำความเห็นเสนอศาลตามพยานหลักฐานเท่าที่ปรากฏในสำนวนได้ การทำความเห็นในทำนองตัดสิทธิโดยไม่บอกหรือเตือนให้รู้ก่อนขัดกับวัตถุประสงค์ของมาตรา 105 และขัดกับสภาพความเป็นจริงในการดำเนินคดีล้มละลายชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เนื่องจากการยื่นคำขอรับชำระหนี้กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องเป็นทนายความ หากเจ้าหนี้ไม่ใช่นักกฎหมายอาจนำพยานหลักฐานเข้าสอบสวนตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยที่ตนเองไม่รู้ว่าครบถ้วนสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ คดีนี้นางสาวจงกล พิสุทธิ์พิเชฏฐ์ ผู้รับมอบอำนาจเจ้าหนี้ไม่ใช่ผู้ประกอบอาชีพทางกฎหมายที่จะทราบขั้นตอนกระบวนการดำเนินคดีล้มละลายว่าการให้ถ้อยคำปากเดียวประกอบตั๋วสัญญาใช้เงินไม่พอที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะฟังว่าเป็นหนี้กันจริง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและเอกสารจากนางสาวจงกลโดยไม่ได้โต้แย้งว่า พยานหลักฐานที่อ้างส่งไม่ครบถ้วนไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายและไม่ได้หมายเรียกเจ้าหนี้มาให้การสอบสวนเพิ่มจึงเท่ากับเจ้าพนักงาพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้ติดใจโต้แย้งพยานหลักฐานของเจ้าหนี้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ภายหลังการสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ เป็นเวลาเกือบ 1 ปี โดยไม่มีกฎหมายรองรับให้ทำได้ จึงขัดต่อกฎหมาย เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา105 ให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจออกหมายเรียกเจ้าหนี้หรือบุคคลใดมาสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องหนี้สินที่มีการยื่นคำขอรับชำระหนี้ก็ตาม แต่เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้โดยกล่าวอ้างว่าตนเป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้ หน้าที่ในการพิสูจน์ตามข้ออ้างย่อมตกเป็นของเจ้าหนี้ที่จะต้องนำพยานหลักฐานมาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนเพื่อแสดงถึงมูลหนี้ตามที่กล่าวอ้าง มิใช่หน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องมีหมายเรียกพยานหลักฐานต่าง ๆ มาด้วยตนเอง เจ้าหนี้จะอ้างความไม่รู้กฎหมายไม่รู้ขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณามาเป็นข้อยกเว้นภาระการพิสูจน์ตามข้ออ้างของตนหาได้ไม่ นอกจากให้อำนาจสอบสวนเรื่องหนี้สินดังกล่าวแล้วบทบัญญัติมาตรา 105 ยังกำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นส่งสำนวนเรื่องหนี้สินที่ขอรับชำระนั้นต่อศาล สำหรับระยะเวลาโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้นั้นกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องกระทำเมื่อใด การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นเสนอต่อศาลล้มละลายกลางว่าเห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียนั้นมีผลเท่ากับว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้ การทำความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในส่วนนี้จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
เจ้าหนี้อุทธรณ์ข้อที่สองว่า ลูกหนี้เป็นบริษัทในเครือของเจ้าหนี้โดยกรรมการของเจ้าหนี้ 3 คน คือนายศิวะ งานทวี นายสุกิจ งานทวี และนายสุวัฒน์ จิตตมัย เป็นกรรมการของลูกหนี้ด้วย นายสุกิจและนายศิวะยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของเจ้าหนี้และลูกหนี้อีกด้วย ในทางธุรกิจถือว่าสามารถให้ความช่วยเหลือทางการค้าหรือการเงินได้โดยผ่านทางกรรมการซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มีอำนาจในการจัดการแทนบริษัท ลูกหนี้ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำของประเทศไทยเมื่อปี 2540 ทำให้กิจการของลูกหนี้ขาดเงินทุนหมุนเวียนขาดสภาพคล่องในการจัดซื้อวัตถุดิบและอุปกรณ์ในการผลิตสินค้า ผลประกอบการขาดทุนไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้จนถูกฟ้องล้มละลายคดีนี้ ก่อนถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและให้งดการพิจารณาคดีล้มละลายไว้ชั่วคราว ต่อมาที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่มีมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ โจทก์ขอให้ยกคดีล้มละลายขึ้นพิจารณาจนกระทั่งศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด หลังจากศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ยังดำเนินกิจการอยู่ตลอดมาและค้างชำระหนี้จำนวนมาก จึงขอกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้ไปใช้จ่ายในกิจการ เจ้าหนี้ทราบดีว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะมีหนี้สินล้นพ้นตัวต้องฟื้นฟูกิจการและถูกฟ้องล้มละลายซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่มีสถาบันการเงินอนุมัติวงเงินสินเชื่อหรือไม่มีผู้ใดให้ลูกหนี้กู้ยืมเงิน เจ้าหนี้ก็ไม่มีความจำเป็นต้องให้ลูกหนี้กู้ยืมเงินแต่เมื่อลูกหนี้เป็นบริษัทในเครือเดียวกันและยังคงดำเนินกิจการอยู่เจ้าหนี้จึงพิจารณาอนุมัติให้ลูกหนี้กู้ยืมเงินไปตามความจำเป็นโดยลูกหนี้ต้องออกตั๋วสัญญาใช้เงินเท่ากับจำนวนเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยเพื่อเป็นหลักฐานการชำระหนี้มอบให้เจ้าหนี้ไว้ตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.6 เจ้าหนี้ให้กู้ยืมเงินเพื่อไปใช้ประโยชน์ในกิจการของลูกหนี้ซึ่งเข้าข้อยกเว้นที่สามารถขอรับชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ดังกล่าวฟังได้ว่าเจ้าหนี้ทราบว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะมีหนี้สินล้นพ้นตัวถูกฟ้องให้ล้มละลายเมื่อลูกหนี้ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการและศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการก็ปรากฏว่าที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่มีมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการ ต่อมาศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ แสดงให้เห็นว่ากิจการของลูกหนี้ไม่อาจดำเนินต่อไปได้ หากเจ้าหนี้ให้ลูกหนี้กู้ยืมเงินไปจริงตามที่อ้างในชั้นสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ หนี้ดังกล่าวย่อมไม่ใช่หนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทำขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้ซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่เจ้าหนี้อาจนำไปขอรับชำระหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 (2) ตอนท้ายแต่เป็นหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94 (2) ตอนต้น อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของเจ้าหนี้เนื่องจากไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share