คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 382/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ลูกค้าโจทก์ ไม่ปรากฏรายการเดินสะพัดในบัญชีอันจะเป็นหลักฐานแสดงว่า นับแต่วันสิ้นสุดของสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1 ขอเบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวหรือโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีก แม้ภายหลังครบกำหนดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าบัญชีกระแสรายวัน 2 ครั้งก็ตาม แต่ก็เป็นการนำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ ไม่ใช่เพื่อให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อไป เพราะไม่มีลักษณะเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีหักกลบลบกัน พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอีกต่อไป สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดย่อมเลิกกันนับแต่วันครบกำหนดตามสัญญา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 856 ฉะนั้น โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันสิ้นสุดของสัญญาดังกล่าว และโจทก์ยังคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยโดยไม่ทบต้นตลอดไปจนกว่าจะมีการชำระหนี้รายนี้เสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 3 ค้ำประกันและจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ที่ทำไว้แก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 400,000 บาทหรือไม่เกิน 400,000 บาท แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 3 มีเจตนาค้ำประกันและจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน400,000 บาท เท่านั้น แม้จะปรากฏว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 กู้เบิกเงินเกินบัญชีเกินวงเงิน 400,000 บาท ก็เป็นการผูกพันกันระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 กับโจทก์เท่านั้น หามีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ด้วยไม่ดังนั้น เมื่อครบกำหนดตามสัญญาจำเลยที่ 3 มีหนังสือขอชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 จำนวน400,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย จึงเป็นการขอชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เมื่อหนี้นั้นถึงกำหนดโดยชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 701 วรรคแรก แล้วเมื่อโจทก์ไม่ยอมรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 3 ดังกล่าว ย่อมทำให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในการชำระหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 701, 727ประกอบด้วยมาตรา 744 (3)

Share