แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การยุติและการถอนข้อเรียกร้องในกรณีที่ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องไม่ประสงค์จะเรียกร้องต่อไป ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือ การที่จำเลยยื่นข้อเรียกร้องแล้วได้มีการเจรจากัน 2 ครั้ง หลังจากนั้นเป็นเวลาถึง 2 ปีเศษไม่มีการเจรจากันอีก เช่นนี้ย่อมถือได้โดยปริยายว่าทั้งสองฝ่ายต่างไม่ติดใจที่จะเจรจากันในเรื่องของข้อเรียกร้องนั้นต่อไปอีก โดยต่างยอมยุติข้อเรียกร้องนั้นหลังจากนั้นจำเลยย้ายโจทก์ซึ่งเป็นรองประธานสหภาพแรงงานและกรรมการลูกจ้างไปปฏิบัติงานต่างจังหวัด จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 31 และมาตรา 52
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ตำแหน่งพนักงานธุรการ ๔ โจทก์เป็นรองประธานสหภาพแรงงานสถาบันวิจัยฯ และเป็นลูกจ้าง ขณะอยู่ระหว่างเจรจาข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งโจทก์เป็นตัวแทนสหภาพแรงงานเข้าจรจากับจำเลย จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่ ณ สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์โดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์มาตรา ๓๑ และมาตรา ๕๒ ขอให้ยกเลิกคำสั่งของจำเลย ให้จำเลยย้ายโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม
จำเลยให้การว่า จำเลยย้ายโจทก์เพราะมีความจำเป็นให้โจทก์ไปแก้ไขปัญหาที่หน่วยงานนั้น โจทก์ได้รับเงินเพิ่ม จำเลยมิได้กลั่นแกล้งโจทก์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ จำเลยได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเลิกการหยุดพักระหว่างเวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกาถึง ๑๐.๓๐ นาฬิกา และระหว่าง ๑๕.๐๐ นาฬิกาถึง ๑๕.๓๐ นาฬิกา จำเลยได้เรียกประชุมและแจ้งให้พนักงานทุกคนทราบโดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน และต่างได้ปฏิบัติตามตลอดมา ข้อเรียกร้องนี้จึงยุติ เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๒๗ ฝ่ายลูกจ้างได้ยื่นข้อเรียกร้องเรื่องขยายขั้นเงินเดือนได้มีการประชุมระหว่างผู้แทนทั้งสองฝ่ายครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘ ปรากฏว่าลูกจ้างไม่ติดใจนำผลของการเจรจาไปจดทะเบียน และไม่ถือว่าเป็นข้อเรียกร้องโดยยอมถอนข้อเรียกร้องทั้งหมด ข้อเรียกร้องของลูกจ้างจึงยุติแล้วเช่นกันการที่จำเลยย้ายโจทก์ไม่เกี่ยวกับการยื่นข้อเรียกร้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คำสั่งย้ายโจทก์กระทำในขณะที่ไม่มีข้อพิพาทแรงงานอยู่ในระหว่างการเจรจา และเป็นคำสั่งที่กระทำด้วยความจำเป็นและเหมาะสมแก่หน่วยงานเพื่อประโยชน์แก่งานของจำเลย มิใช่เป็นการกลั่นแกล้งและฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๑ และมาตรา ๕๒ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๓ กำหนดไว้ว่า การยื่นข้อเรียกร้องของนายจ้างหรือของลูกจ้างจะต้องทำเป็นหนังสือ และเมื่อต่อมามีการเจรจาและตกลงกันได้ก็ต้องทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นหนังสือลงลายมือชื่อนายจ้างหรือผู้แทนกับผู้แทนลูกจ้างต่อไปเท่านั้นการยุติหรือการถอนข้อเรียกร้องในกรณีที่ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องไม่ประสงค์จะเรียกร้องต่อไปนั้น ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือแต่อย่างใด การที่จำเลยยื่นข้อเรียกร้องแล้วได้มีการเจรจากัน ๒ ครั้ง ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ซึ่งเป็นปีที่ยื่นข้อเรียกร้อง หลังจากนั้นเป็นเวลาถึง ๒ ปีเศษ ก็ไม่มีการเจรจาต่อกันอีกเช่นนี้ก็ย่อมถือได้โดยปริยายแล้วว่า ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ติดใจที่จะเจรจากันในเรื่องของข้อเรียกร้องนั้นต่อไปอีก อันแสดงให้เห็นเจตนาได้ว่าต่างยอมยุติข้อเรียกร้องนั้นมิฉะนั้นแล้วกรณีจะกลายเป็นว่า เมื่อไม่มีการเจรจาโดยต่างฝ่ายต่างเพิกเฉยเช่นนี้ตลอดไป ข้อพิพาทแรงงานนั้นก็จะยังคงมีอยู่ต่อไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งจะไม่เกิดผลที่ดีแก่นายจ้างและลูกจ้างเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ด้วย ดังนั้น จึงถือว่าข้อเรียกร้องนี้ได้ยุติไปโดยปริยายแล้ว
ส่วนข้อเรียกร้องที่ฝ่ายลูกจ้างยื่นขอขยายขั้นเงินเดือนต่อจำเลยนั้นได้มีการตกลงกันแล้วว่าฝ่ายลูกจ้างไม่ถือเป็นข้อเรียกร้องต่อไป โดยยอมถอนข้อเรียกร้องนั้น เมื่อข้อเรียกร้องของทั้งสองฝ่ายยุติ และได้มีการถอนไปแล้วเช่นนี้ การที่จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘
พิพากษายืน