แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ในคดีอาญาโจทก์คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นจำเลยขอให้ลงโทษฐานเบิกความเท็จในคดีแพ่งที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทคดีนี้โดยปรปักษ์ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177 คดีถึงที่สุด คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ได้มาโดยการสืบทอดทางมรดก จำเลยได้กรรมสิทธิ์มาโดยการครอบครองปรปักษ์ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งที่มิชอบ เพราะจำเลยเบิกความเท็จทำให้ศาลหลงเชื่อ จึงขอให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทให้โจทก์ การพิจารณาว่าคดีนี้จะเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหรือไม่ จะต้องปรากฏว่าความรับผิดในทางแพ่งในคดีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากผลของการกระทำผิดอาญาโดยตรง แต่การที่จำเลยเบิกความเท็จในการเบิกความเป็นพยานในคดีแพ่งไม่เป็นผลโดยตรงที่ทำให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทในคดีนี้ เหตุที่ทำให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในคดีแพ่ง ก็เพราะศาลฟังว่าจำเลยได้ครอบครองที่พิพาทต่อมาจนได้กรรมสิทธิ์ กรณีจึงไม่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือทรัพย์สินหรือราคาที่สูญหายไปเนื่องจากการกระทำผิดอาญา จึงไม่ทำให้คดีนี้กลายเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์จึงเป็นคดีฟ้องเรียกอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(1) ถ้าศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี เมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งให้ขับไล่จำเลยก็ได้คำสั่งเช่นว่านี้ให้ใช้บังคับตลอดถึงวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของจำเลยที่อยู่บนอสังหาริมทรัพย์นั้นด้วย เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้โจทก์ชนะคดี ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจพิพากษาเกินคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(1) และ 246 ให้จำเลยรื้อถอนบ้านออกไปและห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่พิพาทต่อไป อันเป็นการขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่พิพาทได้ การที่ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครอง จำเลยย่อมเอาคำสั่งศาลไปขอจดทะเบียนให้จำเลยมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินได้ การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยโอนที่พิพาทคืนให้โจทก์ก็เท่ากับขอให้ที่พิพาทมีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดไม่ให้มีชื่อจำเลย เมื่อจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนให้จำเลยมีชื่อในโฉนดที่ดินส่วนที่พิพาทก็ควรจะพิพากษาห้ามมิให้จำเลยนำคำสั่งของศาลดังกล่าวไปจดทะเบียนลงชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทอีกต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรและเป็นผู้จัดการมรดกของนายยังนางเนื่อง อ่วมสำอางค์ ที่ดินโฉนดเลขที่ 172 เนื้อที่ 19 ไร่20 ตารางวา เป็นทรัพย์มรดกของนายยัง นางเนื่อง จำเลยได้เบิกความเท็จในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 32/2527 หมายเลขแดงที่23/2527 ของศาลชั้นต้นว่า นางเนื่องได้ยกที่ดินแปลงดังกล่าวบางส่วนทางด้านทิศเหนือ เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ให้แก่จำเลย จำเลยได้ครอบครองด้วยความสงบ เปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลา20 ปี แล้วซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วนางเนื่องไม่เคยยกที่ดินดังกล่าวให้จำเลย นางเนื่องได้ให้นางนิพนธ์ สะอาดเอี่ยมอาศัยทำกิน นางนิพนธ์ได้ให้นายพาน เกตุแก้ว ทำกินส่วนหนึ่งและให้จำเลยเช่าทำนาอีกส่วนหนึ่ง จำเลยเพิ่งเข้ามาอาศัยนายพานปลูกโรงเล็ก ๆ ในที่ดินของนายยัง นางเนื่องเมื่อประมาณ 8 ปีก่อนฟ้อง เนื้อที่ 100 ตารางวา และเมื่อ 5-6 ปีก่อนฟ้อง จำเลยได้สร้างรั้วไม้ขัดแตะทางด้านทิศเหนือเพียงด้านเดียวยาว 10 วา และเมื่อ 3-4 ปี ก่อนฟ้อง จำเลยได้ถมดินทางด้านทิศตะวันออก และปลูกโรงเพิ่มขึ้นอีกต่อมา จำเลยจึงได้ล้อมรั้วทั้งสี่ด้านโดยขยายเนื้อที่ออกไปประมาณ 2 ไร่ จากการเบิกความเท็จของจำเลยดังกล่าวทำให้ศาลจังหวัดเพชรบุรีหลงเชื่อมีคำสั่งให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 172 เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ แก่โจทก์ถ้าไม่ยอมโอนให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย หากจำเลยไม่สามารถโอนที่ดินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ได้ ให้จำเลยชดใช้ราคาที่ดินแก่โจทก์เป็นเงิน 500,000บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จ
จำเลยให้การว่า เมื่อประมาณ 20 ปี ก่อนนายยัง นางเนื่องได้ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 172 ของนายยัง นางเนื่อง ด้านทิศเหนือเนื้อที่ 5 ไร่ ให้จำเลยซึ่งขณะนั้นที่ดินมีสภาพเป็นป่า จำเลยได้หักร้างถางป่าครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวโดยความสงบ เปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลาเกิน 10 ปี แล้ว ไม่มีผู้ใดคัดค้าน เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2527 จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่าได้ครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า ที่ดินโฉนดตามฟ้องบางส่วนเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ทางทิศเหนือเป็นของโจทก์หรือจำเลย กับฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ และให้จำเลยนำสืบก่อน จำเลยแถลงคัดค้าน ในวันนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 9 ตุลาคม 2528ทนายจำเลยขอเลื่อนการสืบพยาน ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นการประวิงคดีไม่อนุญาตให้เลื่อนการสืบพยาน จำเลยแถลงคัดค้านคำสั่งดังกล่าวในวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 9 ธันวาคม 2528 ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลออกนั่งพิจารณาคดีและมีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาศาลชั้นต้น สั่งยกคำร้องเพราะโจทก์โทรศัพท์มาแจ้งให้ศาลทราบว่ารถเสียระหว่างทาง จำเลยแถลงคัดค้านคำสั่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 172 เนื้อที่5 ไร่ แก่โจทก์ ถ้าไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากไม่สามารถโอนได้ให้ใช้ราคา 500,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเข้าไปปลูกบ้านอยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของนายยังและนางเนื่องเมื่อนายยังและนางเนื่องถึงแก่กรรมลง ที่พิพาทจึงเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์และทายาทโดยธรรมอื่นอีก โจทก์จึงมีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลยแต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยเพียงแต่ครอบครองและปลูกบ้านอยู่ในที่พิพาท ในโฉนดที่พิพาทยังมีชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายยังและนางเนื่องถือกรรมสิทธิ์อยู่ กรณีจึงไม่ต้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนการโอนหรือใช้ราคาดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์ ย่อมพึงเข้าใจว่าเป็นประเภทเดียวกับฟ้องขอให้ขับไล่จำเลย ศาลอุทธรณ์มีอำนาจสั่งให้ขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(1),246 แล้วมีคำพิพากษาลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2532 พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยรื้อถอนบ้านของจำเลยซึ่งปลูกอยู่ในที่พิพาทและขนย้ายออกไปจากที่พิพาทพร้อมบริวาร ห้ามมิให้จำเลยเกี่ยวข้องกับที่พิพาทอีกต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ระหว่างรอส่งสำนวนสู่ศาลฎีกา เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรีมีหนังสือที่ พบ 0020/4599 ลงวันที่ 8 มีนาคม ถึงศาลชั้นต้นว่าจำเลยได้ยื่นคำร้องขอรังวัดแบ่งที่พิพาทตามคำสั่งศาลชั้นต้นตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 23/2527 โจทก์คัดค้านว่าศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้จำเลยรื้อถอนบ้านของจำเลยออกจากที่พิพาทจำเลยยืนยันให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการรังวัดต่อไปโดยอ้างว่าคดีนี้ยังไม่ถึงที่สุดขอทราบว่าคดีนี้ถึงที่สุดหรือยัง และจะดำเนินการตามคำขอของจำเลยได้หรือไม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 12 มีนาคม 2533 ว่าคดีนี้ยังไม่ถึงที่สุดอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ในระหว่างนี้ให้งดการดำเนินการตามคำขอของจำเลยไว้ก่อนจนกว่าศาลฎีกาจะมีคำพิพากษา จำเลยยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรีดำเนินการตามคำขอของจำเลยต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่14 มีนาคม 2533 ยกคำแถลง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นทั้งสองคำสั่ง
ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาลงวันที่ 5 กันยายน 2533 พิพากษายืน
จำเลยฎีกาขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดการดำเนินการรังวัดที่พิพาท ให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการรังวัดตามคำขอจำเลย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นควรวินิจฉัยก่อนว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 995/2528 ของศาลชั้นต้นซึ่งต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาหรือไม่ปรากฏว่าคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 995/2528 โจทก์คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นจำเลยขอให้ลงโทษฐานเบิกความเท็จในคดีแพ่งที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทคดีนี้โดยปรปักษ์ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 จำคุก 1 ปีศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นลงโทษปรับและรอการลงโทษ คดีถึงที่สุดในชั้นศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การพิจารณาว่าคดีนี้จะเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 995/2528 หรือไม่ จะต้องปรากฏว่าความรับผิดในทางแพ่งในคดีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากผลของการกระทำผิดอาญาโดยตรง ที่จำเลยเบิกความเท็จในการเบิกความเป็นพยานในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 23/2527 ไม่เป็นผลโดยตรงที่ทำให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทในคดีนี้ เหตุที่ทำให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 23/2527 เพราะศาลฟังว่าจำเลยได้ครอบครองที่พิพาทต่อมาจนได้กรรมสิทธิ์ กรณีจึงไม่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือทรัพย์สินหรือราคาที่สูญหายไปเนื่องจากการกระทำผิดอาญา จึงไม่ทำให้คดีนี้กลายเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 995/2528 ของศาลชั้นต้น ไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา
ฎีกาของจำเลยที่ว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาเกินคำขอเพราะโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะละเมิดเรียกค่าเสียหายและตามคำขอท้ายฟ้องมิได้ขอให้ขับไล่หรือรื้อถอนบ้าน ศาลอุทธรณ์กลับมีคำพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนบ้านของจำเลยซึ่งปลูกในที่พิพาทและขนย้ายออกไปจากที่พิพาทพร้อมบริวาร ห้ามมิให้จำเลยเกี่ยวข้องกับที่พิพาทอีกต่อไปโดยหยิบยกเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(1)และ 246 ขึ้นวินิจฉัยนั้น เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จึงเป็นคดีฟ้องเรียกอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(1) ถ้าศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี เมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งให้ขับไล่จำเลยก็ได้ คำสั่งเช่นว่านี้ให้ใช้บังคับตลอดถึงวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของจำเลยที่อยู่บนอสังหาริมทรัพย์นั้นด้วย เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้โจทก์ชนะคดี ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจพิพากษาเกินคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(1) และ 246 ให้จำเลยรื้อถอนบ้านออกไปและห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่พิพาทต่อไป อันเป็นการขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่พิพาทได้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ฎีกาของจำเลยที่คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ลงวันที่ 5 กันยายน2533 ที่พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้งดการดำเนินการตามคำขอของจำเลยไว้จนกว่าศาลฎีกาจะมีคำพิพากษานั้น เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว ฎีกาของจำเลยที่คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวก็ไม่จำเป็นที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยให้เช่นกันการที่ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองจำเลยย่อมเอาคำสั่งศาลไปขอจดทะเบียนให้จำเลยมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินได้ ที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยโอนที่พิพาทคืนให้โจทก์ก็เท่ากับขอให้ที่พิพาทมีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดไม่ให้มีชื่อจำเลย เมื่อจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนให้จำเลยมีชื่อในโฉนดที่ดินส่วนที่พิพาทก็ควรจะพิพากษาห้ามมิให้จำเลยนำคำสั่งของศาลดังกล่าวไปจดทะเบียนลงชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทอีกต่อไป”
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน2532 เป็นว่า ที่พิพาทที่ศาลชั้นต้นสั่งในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 23/2527 ของศาลชั้นต้นว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ห้ามจำเลยนำคำพิพากษาดังกล่าวไปเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์และพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ลงวันที่ 5 กันยายน 2533