แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ลูกจ้างฟ้องเรียกให้นายจ้างชำระค่าจ้าง ลูกจ้างต้องบรรยายฟ้องมาให้ชัดแจ้งว่าค่าจ้างจำนวนที่เรียกให้ชำระเป็นค่าจ้างประเภทใด เพื่อที่นายจ้างจะได้ให้การต่อสู้ได้ว่าค่าจ้างจำนวนดังกล่าวลูกจ้างมีสิทธิได้รับจริงและนายจ้างยังมิได้ชำระหรือไม่ ฉะนั้น การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าคอมมิชชั่นที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากผลงานขายของลูกทีมโดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า ลูกทีมดังกล่าวมีใครบ้าง และแต่ละคนมีผลงานขายเท่าใด พอที่จำเลยทั้งสองจะให้การต่อสู้ได้ ฟ้องของโจทก์ส่วนนี้จึงเคลือบคลุม
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มิได้เป็นนายหน้าติดต่อให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายและติดตั้งระบบโทรทัศน์วงจรปิดกับธนาคารตามโครงการดีบีเอสไทยทนุ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ยังไม่ได้รับเงินค่าคอมมิชชั่นโครงการดังกล่าว จึงเป็นการอุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงแตกต่างจากที่ศาลแรงงานกลางฟังไว้ เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงาน ฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ได้เลิกจ้างโจทก์ ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีเจตนาเลิกจ้างโจทก์แต่เป็นเรื่องที่โจทก์สมัครใจลาออกเอง จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จ่ายเงินค่าคอมมิชชั่นจำนวน 1,246,249 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และจ่ายเงินเพิ่มอีกร้อยละ 15 ทุกระยะเวลา 7 วันด้วย ให้จำเลยที่ 2 จ่ายเงินค่าคอมมิชชั่นจำนวน 1,311,655.53 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และจ่ายเงินเพิ่มอีกร้อยละ 15 ทุกระยะเวลา 7 วันด้วย และให้จำเลยที่ 2 จ่ายเงินค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 5,000,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การร่วมกันว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 จ่ายเงินค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 278,100 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ในการที่ลูกจ้างจะเรียกให้นายจ้างชำระค่าจ้างนั้น ลูกจ้างต้องบรรยายฟ้องมาให้ชัดแจ้งว่า ค่าจ้างจำนวนที่เรียกให้ชำระเป็นค่าจ้างประเภทใด เพื่อที่นายจ้างจะได้ให้การต่อสู้ได้ว่าค่าจ้างจำนวนดังกล่าวลูกจ้างมีสิทธิได้รับจริงและนายจ้างยังมิได้ชำระหรือไม่ แต่ในฟ้องข้อ 5.1 ที่โจทก์เรียกจากจำเลยที่ 1 จำนวน 1,000,000 บาท และในฟ้องข้อ 5.2 ที่โจทก์เรียกจากจำเลยที่ 2 จำนวนเดียวกัน โจทก์บรรยายเพียงว่าเงินจำนวนที่โจทก์มีสิทธิได้รับในอัตราที่ระบุไว้ในสัญญา โดยมิได้ระบุว่าลูกทีมดังกล่าวมีใครบ้างและแต่ละคนมีผลงานขายเท่าใด พอที่จำเลยทั้งสองจะให้การต่อสู้ได้ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์ส่วนนี้เคลือบคลุมนั้นชอบแล้ว
ที่โจทก์อุทธรณ์เกี่ยวกับฟ้องข้อ 5.3 ว่า โจทก์ยังไม่ได้รับเงินค่าคอมมิชชั่นโครงการดีบีเอสไทยทนุ จำนวน 196,494 บาท พร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่มนั้น ในข้อนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์มิได้เป็นนายหน้าติดต่อให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายและติดตั้งระบบโทรทัศน์วงจรปิดกับธนาคาร จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้ค้างชำระค่าคอมมิชชั่นให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการอุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงที่แตกต่างจากที่ศาลแรงงานกลางฟังไว้ ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 และหลังจากนั้นในวันที่ 28 พฤษภาคม 2544 จำเลยที่ 2 ได้เลิกจ้างโจทก์ อุทธรณ์ดังกล่าวของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน.