คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3808/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้บทบัญญัติของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ จะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเยียวยาแก่ลูกจ้างไว้แตกต่างกัน และเป็นกฎหมายคนละฉบับแต่ก็เป็นเรื่องที่มีวัตถุประสงค์จะให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างไม่ให้ถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำความผิดเช่นเดียวกัน ในกรณีที่การเลิกจ้างนั้นเป็นทั้งการกระทำอันไม่เป็นธรรมและการเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิด แม้ลูกจ้างจะมีสิทธิยื่นคำร้องได้ทั้งต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และพนักงานตรวจแรงงานก็ตาม แต่ลูกจ้างจะถือเอาประโยชน์จากคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานซึ่งมาจากเหตุแห่งการเลิกจ้างเดียวกันทั้งสองทางมิได้ เพราะจะเป็นการซ้ำซ้อนกันไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ลูกจ้างจะต้องเลือกรับเอาประโยชน์ตามคำสั่งดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว
โจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างจึงยื่นคำร้องทั้งต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และพนักงานตรวจแรงงาน เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย และโจทก์ได้รับค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานไปครบถ้วนแล้ว อันเป็นการเลือกเข้าถือเอาประโยชน์ตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานแล้วย่อมถือได้ว่าโจทก์สละสิทธิไม่ถือเอาประโยชน์ตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ซึ่งมาจากเหตุแห่งการเลิกจ้างเดียวกันไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งในส่วนให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือให้จ่ายค่าเสียหายนับแต่วันถูกเลิกจ้างจนถึงวันที่รับกลับเข้าทำงาน โจทก์จึงไม่สิทธิฟ้องร้องบังคับจำเลยตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 174/2543 โดยให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม และให้จ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในระหว่างผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ทำหน้าที่ห้วหน้าแผนกเครื่องดื่มหรือผู้ประสานงานแผนกเครื่องดื่ม ได้รับค่าจ้างเดือนละ 16,000 บาท ก่อนเกิดเหตุโจทก์ทำคำร้องเพื่อให้จำเลยประกาศให้มีการเลือกตั้งกรรมการลูกจ้าง จำเลยได้โยกย้ายตำแหน่งหน้าที่โจทก์ไปเป็นผู้ประสานงานฝ่ายอาหารและเครื่องดื่ม โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่าโจทก์ถูกจำเลยกลั่นแกล้งโยกย้ายหน้าที่ด้วยความไม่เป็นธรรมเนื่องจากโจทก์เตรียมทำคำร้องเพื่อให้จำเลยประกาศให้มีการเลือกตั้งกรรมการลูกจ้าง ต่อมาโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางให้บังคับจำเลยประกาศให้มีการเลือกตั้งกรรมการลูกจ้างและยื่นคำร้องเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่าถูกจำเลยกลั่นแกล้งจนไม่สามารถทำงานอยู่ต่อไปได้ เพราะเหตุโจทก์ยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และยื่นฟ้องต่อศาล วันที่ 7 มีนาคม 2543 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยให้เหตุผลว่าโจทก์มีพฤติกรรมที่ไม่น่าไว้วางใจซึ่งอาจก่อความเสียหายให้แก่กิจการของจำเลย และฝ่าฝืนข้อบังคับในการทำงานกรณีร้ายแรง วันที่ 15 มีนาคม 2543 โจทก์ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กล่าวหาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุทำคำร้องแจ้งต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานให้มีการเลือกตั้งกรรมการลูกจ้าง ยื่นคำร้องเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลแรงงานกลาง อันเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม มีคำสั่งที่ 174/2543 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2543 ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน โดยให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งภายใน 10 วัน นับแต่วันรับทราบคำสั่ง จำเลยทราบคำสั่งเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2543 ต่อมาวันที่ 5 กรกฎาคม 2543 จำเลยได้ยื่นฟ้องโจทก์และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2543 ระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าวโจทก์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่าโจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำความผิด ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พนักงานตรวจแรงงานวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์เป็นการกระทำอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต แต่โจทก์มิได้มีพฤติการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ ไม่ใช่กรณีร้ายแรง จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแต่ต้องจ่ายค่าชดเชย มีคำสั่งที่ 2/2544 ลงวันที่ 22 มกราคม 2544 ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน เป็นเงิน 97,800 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี วันที่ 12 มีนาคม 2544 จำเลยฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน และวันที่ 18 เมษายน 2544 จำเลยได้ยื่นคำร้องของถอนฟ้องคดีที่จำเลยฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ โจทก์ไม่คัดค้าน ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้จำเลยถอนฟ้องและจำหน่ายคดีจากสารบบความ ส่วนคดีทีจำเลยฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ ศาลฎีกาพิพากษายืน คดีถึงที่สุด และโจทก์ได้รับเงินค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานไปครบถ้วนแล้วเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2545 แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การถอนฟ้องคดีที่จำเลยฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่ทำให้คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ถูกเพิกถอน คำสั่งดังกล่าวยังมีอยู่แต่การที่โจทก์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยในระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าว และเมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์และศาลพิพากษายกฟ้องคดีที่จำเลยฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งทำให้จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์ได้รับเอาค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยไปจากจำเลยครบถ้วน แสดงว่าโจทก์เลือกที่จะรับค่าชดเชยจากการถูกเลิกจ้างแทนการกลับเข้าทำงานกับจำเลย คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ในส่วนที่ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน จึงสิ้นผลใช้บังคับโดยปริยายแต่ไม่กระทบถึงคำสั่งในส่วนที่ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายในระหว่างที่ยังมิได้รับโจทก์กลับเข้าทำงาน เพราะค่าเสียหายดังกล่าวกับค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับเมื่อถูกเลิกจ้างเป็นเงินคนละส่วนกัน โจทก์จึงยังมีสิทธิได้รับค่าเสียหาย คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายตั้งแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันที่จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน เมื่อจำเลยไม่ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานจึงไม่มีระยะเวลาสิ้นสุดของการจ่ายค่าเสียหายตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ตามสมควรแก่พฤติการณ์ เป็นเงิน 200,000 บาท โดยให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถึงกำหนดตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยว่า จำเลยต้องปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 174/2543 ซึ่งสั่งให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงานหรือไม่ เห็นว่า การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 หรือไม่ หรือนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 หรือไม่นั้น แม้บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวคือพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเยียวยาแก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างไว้แตกต่างกัน และเป็นกฎหมายคนละฉบับ แต่ก็เป็นเรื่องที่มีวัตถุประสงค์จะให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างไม่ให้ถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำความผิดเช่นเดียวกัน โดยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ให้ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างมีสิทธินำคำร้องกล่าวหานายจ้างไปยื่นต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามมาตรา 124 เพื่อให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาวินิจฉัยและออกคำสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน หรือจ่ายค่าเสียหาย หรือปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรได้ในกรณีที่การเลิกจ้างนั้นเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 41 (4) และมาตรา 125 ส่วนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ให้ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานสอบสวนมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 123 และมาตรา 124 ในกรณีที่การเลิกจ้างนั้นเป็นทั้งการกระทำอันไม่เป็นธรรมและการเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิด แม้ลูกจ้างจะมีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าวได้ทั้งต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และพนักงานตรวจแรงงานก็ตาม แต่ลูกจ้างจะถือเอาประโยชน์จากคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานซึ่งมาจากเหตุแห่งการเลิกจ้างเดียวกันทั้งสองทางมิได้ เพราะกรณีเช่นนี้เห็นได้ชัดเจนว่าจะเป็นการซ้ำซ้อนกันไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ลูกจ้างจะต้องเลือกรับเอาประโยชน์ตามคำสั่งดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากที่โจทก์ถูกจำเลยเลกจ้างเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2543 แล้ว โจทก์ได้ยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้นเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 และเมื่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งที่ 174/2543 ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหายนับแต่วันถูกเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงานแล้ว ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ขอให้มีคำสั่งให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์อีกโดยอ้างเหตุแห่งการเลิกจ้างเดียวกันว่าโจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำความผิดและเมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย โจทก์ก็ได้รับค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานไปครบถ้วนเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2544 อันเป็นการเลือกเข้าถือเอาประโยชน์ตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานแล้ว ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าโจทก์สละสิทธิไม่ถือเอาประโยชน์คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ซึ่งมาจากเหตุแห่งการเลิกจ้างเดียวกันไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งในส่วนที่ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน หรือให้จ่ายค่าเสียหาย นับแต่วันถูกเลิกจ้างจนถึงวันที่รับกลับเข้าทำงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องร้องบังคับจำเลยตามคำสั่งของกรมแรงงานสัมพันธ์ได้อีก ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยบางส่วน อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์จำเลยในข้ออื่นเพราะไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องเสียทั้งหมด

Share