แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ค่าครองชีพเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง เมื่อรวมกันค่าจ้างแล้วเป็นค่าจ้างวันละ 76.67 บาท ดังนี้ไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำฯ
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสี่สิบเจ็ดฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่สิบเจ็ดเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทุกคนต่ำกว่าวันละ 83 บาท ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 16) ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2529 ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระค่าจ้างที่ขาดจำนวนไปรวม 1,340,132.60 บาทพร้อมดอกเบี้ยกับให้จำเลยจ่ายค่าจ้างตามอัตราขั้นต่ำวันละ73 บาทตลอดอายุการเป็นลูกจ้างของจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสี่สิบเจ็ดเป็นลูกจ้างประจำรายชั่วโมงนอกจากจำเลยจะจ่ายค่าจ้างแล้วยังจ่ายค่าครองชีพให้โจทก์ทุกคนอีกคนละ 500 บาทต่อเดือน ค่าครองชีพเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างเมื่อรวมค่าจ้างกับค่าครองชีพแล้ว โจทก์ทั้งสี่สิบเจ็ดได้รับค่าจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศกระทรวงมหาดไทย
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ค่าครองชีพเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างคำนวณแล้วโจทก์ทั้งสี่สิบเจ็ดจะได้ค่าครองชีพวันละ 16.67 บาท เมื่อนำค่าครองชีพแต่ละวันไปรวมกับค่าจ้างแต่ละวันแล้วโจทก์ทั้งสี่สิบเจ็ดจะได้รับค่าจ้างสูงกว่าวันละ 73 บาทอันเป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ(ฉบับที่ 16) ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2529 เสียอีก จะถือว่าโจทก์ทั้งสี่สิบเจ็ดรับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวตามที่โจทก์ทั้งสี่สิบเจ็ดฟ้องไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสี่สิบเจ็ดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์ทั้งสี่สิบเจ็ดอุทธรณ์เป็นใจความสำคัญสรุปได้ว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำทุกฉบับนั้นหมายความถึงอัตราค่าจ้างที่นายจ้างจ่ายจริงเท่านั้น จะนำค่าครองชีพมารวมคำนวณเป็นค่าจ้างอัตราขั้นต่ำด้วยมิได้ ข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยศาลแรงงานกลางว่า ค่าครองชีพเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง เมื่อถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง การที่นำค่าครองชีพวันละ 16.67 บาทไปรวมกับค่าจ้างของโจทก์บางคนที่ได้รับค่าจ้างวันละ 60 บาทแล้วก็จะเป็นค่าจ้างวันละ 76.67 บาท ซึ่งหาต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ (ฉบับที่ 16) ไม่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว”
พิพากษายืน