คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 322/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยมิได้ยกข้อต่อสู้ว่าหนังสือรับสภาพหนี้ท้ายฟ้องเป็นโมฆะ จำเลยให้การเพียงว่าโจทก์จะคิดดอกเบี้ยเกินกว่า 5 ปีไม่ได้ดอกเบี้ยส่วนที่เกินเป็นโมฆะ คดีจึงไม่มีประเด็นว่าหนังสือรับสภาพหนี้เป็นโมฆะหรือไม่ จำเลยจะฎีกาว่าหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวเป็นโมฆะไม่ได้ เพราะเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาก่อนศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี เมื่อจำเลยมิได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไว้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 226(2) อายุความฟ้องเรียกเงินกู้คืนไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 จำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์ภายในอายุความ จึงมีผลทำให้อายุความเรียกเงินกู้สะดุดหยุดลงต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลาเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดไป คือวันสิ้นกำหนดเวลาที่จำเลยสัญญาว่าจะนำเงินมาชำระหนี้เงินกู้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้ภายในกำหนดอายุความ กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 189ที่ห้ามโจทก์เรียกดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 5 ปี เพราะกรณีตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 189 ต้องเป็นเรื่องสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามมูลหนี้เดิมคือหนี้เงินกู้ขาดอายุความแล้ว เป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้แต่โจทก์ยังมีสิทธิฟ้องบังคับเอาจากทรัพย์สินที่รับจำนองไว้ได้และในกรณีเช่นนี้บทกฎหมายห้ามมิให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 5 ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2517 จำนวนเงิน 100,000 บาท ครั้งหลังเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2521 จำนวน 180,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยจำเลยจำนองที่ดินและตึกแถวไว้เป็นประกันและกำหนดไถ่ถอนจำนองหนี้แต่ละรายภายใน 1 ปี นับแต่ทำสัญญาจำเลยไม่เคยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้โจทก์ คิดดอกเบี้ยและเงินต้นถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2527 รวมเป็นเงิน 592,141.66 บาทต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม 2527 จำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์โดยสัญญาว่าจะชำระหนี้ทั้งหมดภายในวันที่ 12 กันยายน2528 เมื่อถึงกำหนดจำเลยไม่ชำระ ขอให้จำเลยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 696,908.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้น 280,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ มิฉะนั้นให้บังคับจำนองที่ดินและตึกแถวออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์จนครบ จำเลยให้การว่า จำเลยได้ทำสัญญาจำนองทรัพย์สินดังกล่าวกับโจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ทั้งสองจำนวนจริง แม้จำเลยจะทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ก็ตาม แต่โจทก์ก็ไม่อาจคิดดอกเบี้ยค้างชำระเกิน 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 189โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยของเงินต้นเป็นเวลา 5 ปี เท่านั้นดอกเบี้ยส่วนที่เกินกว่านั้นตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ให้งดสืบพยาน แล้ววินิจฉัยว่าการกู้ยืมเงินจำนวนแรก 100,000 บาท เมื่อวันที่ 12 กันยายน2517 โจทก์จำเลยไม่ได้ตกลงกันให้คิดดอกเบี้ย โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในต้นเงินกู้จำนวนดังกล่าว แต่เมื่อจำเลยทำบันทึกขึ้นเงินกู้และจำนองอีก 180,000 บาท รวมเป็นต้นเงินกู้ 280,000บาท เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2521 นั้น จำเลยตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวจากต้นเงินทั้งสองรายการนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 280,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2521 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้บังคับจำนองเอาที่ดินและตึกแถวที่จำนองไว้กับโจทก์ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า หนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารท้ายคำฟ้องเป็นโมฆะ เพราะโจทก์ให้จำเลยทำในขณะที่จิตของจำเลยไม่ปกติอยู่ในอาการป่วย อายุมากตกใจกลัวนั้นเห็นว่าจำเลยมิได้ยกความข้อนี้ขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จำเลยให้การเพียงว่า โจทก์จะคิดดอกเบี้ยเกิน 5 ปีไม่ได้ ดอกเบี้ยส่วนที่เกินเป็นโมฆะ จึงถือว่าจำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธเรื่องหนังสือรับสภาพหนี้ฉบับดังกล่าว คดีจึงไม่มีประเด็นว่าหนังสือรับสภาพหนี้เป็นโมฆะหรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าหนังสือรับสภาพหนี้ไม่เป็นโมฆะก็ดี และที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่มิได้กำหนดประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นข้อพิพาทจำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ปัญหาข้อนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) ก็ดี ล้วนแต่เป็นการวินิจฉัยคดีนอกประเด็นจำเลยจะยกขึ้นฎีกาว่าหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวเป็นโมฆะไม่ได้เพราะเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ฎีกาจำเลยในข้อนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องนั้น เห็นว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องได้ตามคำร้องโจทก์ลงวันที่ 10 เมษายน 2530 นั้นเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาก่อนศาลมีคำสั่งพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี หากจำเลยเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ถูกต้องก็ชอบที่จะโต้แย้งคัดค้านคำสั่งดังกล่าวไว้ก่อนเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้น ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไว้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 226(2) ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยข้อนี้มาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณา ฎีกาจำเลยข้อนี้ต้องห้ามเช่นกัน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาจะวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยข้อสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2521 เป็นต้นไปหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2517 จำนวนเงิน100,000 บาท ครั้งหลังเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2521 จำนวนเงิน180,000 บาท โดยจำเลยจำนองที่ดินและตึกแถวไว้เป็นประกันและกำหนดไถ่ถอนจำนองหนี้แต่ละรายภายใน 1 ปี ปรากฏตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน (อันดับ 20) และบันทึกถ้อยคำข้อตกลงเรื่องขึ้นเงินจำนองครั้งที่หนึ่งท้ายคำฟ้อง ดังนี้ โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้แต่ละรายตั้งแต่วันที่ 12กันยายน 2518 และวันที่ 9 สิงหาคม 2522 ตามลำดับเป็นต้นไปสำหรับอายุความฟ้องเรียกเงินกู้คืนนั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 ดังนั้น โจทก์จึงต้องใช้สิทธิฟ้องเรียกเงินกู้ทั้งสองจำนวนคืนภายในวันที่ 12 กันยายน 2528 และ 9 สิงหาคม2532 ตามลำดับ แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2527จำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ทั้งสองจำนวนนี้ต่อโจทก์ไว้และเป็นการรับสภาพหนี้ภายในอายุความดังกล่าว จึงมีผลทำให้อายุความฟ้องเรียกเงินกู้ทั้งสองจำนวนนี้สะดุดหยุดลง ต้องเริ่มนับอายุความกันใหม่ตั้งแต่เวลาเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดไป คือวันสิ้นกำหนดเวลาที่จำเลยสัญญาว่าจะนำเงินมาชำระหนี้เงินกู้ทั้งสองจำนวนนี้ ซึ่งจำเลยสัญญาว่าจะนำเงินมาชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 12 กันยายน 2528 จึงถือว่าเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดในวันดังกล่าวต้องนับอายุความ 10 ปี ใหม่ตั้งแต่วันนั้นซึ่งเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมเป็นต้นไป ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 181 วรรคสอง ฉะนั้นอายุความ 10 ปีจึงครบกำหนดในวันที่ 12 กันยายน 2538 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2530 จึงยังไม่ขาดอายุความ กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 189ที่จะห้ามโจทก์เรียกดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 5 ปี เพราะกรณีตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 189 ดังกล่าวนั้น ต้องเป็นเรื่องสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามมูลหนี้เดิมคือหนี้เงินกู้ขาดอายุความแล้วเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้ แต่โจทก์ยังมีสิทธิฟ้องบังคับเอาจากทรัพย์สินที่รับจำนองไว้ได้ และในกรณีเช่นนั้นบทกฎหมายดังกล่าวจึงห้ามมิให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 5 ปี แต่คดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้เดิมคือหนี้กู้ยืมเงินโดยมีที่ดินและตึกแถวจำนองไว้เป็นประกัน และหนี้เดิมนั้นก็ยังไม่ขาดอายุความเพราะจำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์ดังวินิจฉัยข้างต้นแล้ว โจทก์จึงไม่ต้องห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 5 ปี ตามมาตรา 189 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 5 ปี ถือว่าขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 แต่ถือว่าจำเลยได้ละเลยซึ่งประโยชน์แห่งอายุความตามมาตรา 192 จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า 5 ปีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าคดีโจทก์เกี่ยวกับการเรียกดอกเบี้ยขาดอายุความตามมาตรา 166 แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผลดังวินิจฉัยแล้วฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share