คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3436/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะโทษที่ลงแก่จำเลยเป็นการแก้ไขเล็กน้อยเมื่อศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคแรก จำเลยฎีกาว่า ส. ภริยาจำเลยซึ่งเป็นบุตรของผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยเอาสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายไปจำนำแก่ ค. การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานยักยอกมิใช่ความผิดฐานลักทรัพย์และสัญญายอมใช้ค่าเสียหายระหว่าง จ. บิดาจำเลยกับผู้เสียหายเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความสิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไปเป็นการโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้นก็เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังนี้ ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525มาตรา 11 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 5,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 วรรคแรก (ที่ถูกมาตรา 335(8) วรรคแรก ให้จำคุก 3 ปีจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปีให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 5,000 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือนจำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะโทษที่ลงแก่จำเลยอันเป็นการแก้ไขเล็กน้อยเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคแรก ที่จำเลยฎีกาว่านางสมบัติ เชิดโสม ภริยาจำเลยซึ่งเป็นบุตรของผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยเอาสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายไปจำนำแก่นายคง โกกะพันธ์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานยักยอก มิใช่ความผิดฐานลักทรัพย์ และสัญญายอมใช้ค่าเสียหายระหว่างนายจันทร์ เชิดโสม บิดาของจำเลยกับผู้เสียหายเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไปนั้นเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟังมาว่าจำเลยเอาสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายไปโดยพลการอันเป็นการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงเป็นการโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนั่นเองและที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้นก็เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 1 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นเดียวกันฎีกาของจำเลยทุกข้อจึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของจำเลย

Share