แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ผู้จะถูกริบทรัพย์ ถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 (อีเฟดรีน และ เพโมลีน) ไว้ในครอบครองเพื่อขาย ซึ่งเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ดังนี้ การมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขาย จึงอยู่ในความหมายของความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3
ย่อยาว
คดีสาขาทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยเรียกผู้จะถูกริบทรัพย์ทั้งสี่ในคดีสาขาที่ 1 ว่าผู้จะถูกริบทรัพย์ที่ 1 ถึงที่ 4 ตามลำดับ เรียกผู้จะถูกริบทรัพย์ในคดีสาขาที่ 2 ว่าผู้จะถูกริบทรัพย์ที่ 5 และที่ 6 ตามลำดับ
ผู้ร้องยื่นคำร้องทั้งสองสำนวนเป็นใจความขอให้มีคำสั่งริบทรัพย์สินสิทธิเรียกร้อง ดอกผล และดอกเบี้ยจากทรัพย์สินดังกล่าว ทรัพย์สินที่เปลี่ยนสภาพไปเป็นกรรมสิทธิ์ในห้องชุดให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29, 31
ศาลชั้นต้นได้สั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายแล้ว
ผู้จะถูกริบทรัพย์ที่ 1 ถึงที่ 4 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง และคืนทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่ผู้จะถูกริบทรัพย์ที่ 1 ถึงที่ 4
ผู้จะถูกริบทรัพย์ที่ 5 และที่ 6 ยื่นคำคัดค้านทำนองเดียวกันขอให้ยกคำร้องและปล่อยทรัพย์สินที่ยึด
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง เฉพาะทรัพย์รายการที่ 8 คือบัญชีเงินฝากประจำ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาพลับพลาไชย เลขที่ 057 – 1 – 02289 – 4 ในชื่อของผู้จะถูกริบทรัพย์ที่ 1 ยอดเงินคงเหลือ 21,187,576.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยทรัพย์สินดังกล่าวหรือสั่งริบโดยให้มีภาระจำนำสิทธิการรับเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 1 ไว้จะได้บังคับจำนำต่อไป
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านขอให้มีคำสั่งคืนทรัพย์สินของผู้จะถูกริบทรัพย์ที่ 3 รายการที่ 54 ที่ดินโฉนดเลขที่ 121806 เลขที่ดิน 5390 ตำบลบางแคเหนือ อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 60 ตารางวาเศษ พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินทั้ง 99 รายการ ของผู้จะถูกริบทรัพย์ทั้งหก ตามคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่ 23/2538 24/2538 และ 78/2538 ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
ผู้จะถูกริบทรัพย์ที่ 1 ถึงที่ 6 และผู้คัดค้านที่ 2 อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงแก่กรรม นางดรุณียื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนผู้คัดค้านที่ 2 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้จะถูกริบทรัพย์ที่ 1 ถึงที่ 6 และผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ผู้จะถูกริบทรัพย์ที่ 1 เป็นสามีชอบด้วยกฎหมายของผู้จะถูกริบทรัพย์ที่ 2 ส่วนผู้จะถูกริบทรัพย์ที่ 3 และที่ 4 อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา สำหรับผู้จะถูกริบทรัพย์ที่ 5 เป็นสามีชอบด้วยกฎหมายของผู้จะถูกริบทรัพย์ที่ 6 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2537 ผู้ร้องยื่นฟ้องผู้จะถูกริบทรัพย์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 กับนายสมเกียรติ เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4196/2541 โดยฟ้องผู้จะถูกริบทรัพย์ที่ 1 และที่ 3 ฐานร่วมกันมีอีเฟดรีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 น้ำหนักรวม 199.7 กิโลกรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 189.1 กิโลกรัม ไว้ในครอบครองเพื่อขาย และฟ้องผู้จะถูกริบทรัพย์ที่ 5 ฐานมีอีเฟรดรีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 น้ำหนักรวม 199.7 กิโลกรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 189.1 กิโลกรัม ไว้ในครอบครองเพื่อขายและขาย ฐานมีอีเฟรดรีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 น้ำหนักรวม 1,205.75 กิโลกรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 1,152.4 กิโลกรัม ไว้ในครอบครองเพื่อขาย และฐานมีเพโมลีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 น้ำหนักรวม 728.21 กิโลกรัม ไว้ในครอบครองเพื่อขาย สำหรับคดีเกี่ยวกับผู้จะถูกริบทรัพย์ที่ 1 และที่ 5 ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ลงโทษจำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน ส่วนคดีเกี่ยวกับผู้จะถูกริบทรัพย์ที่ 3 ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ลงโทษจำคุก 13 ปี 4 เดือน ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3497/2543
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้จะถูกริบทรัพย์ที่ 5 และที่ 6 ว่า ความผิดที่ผู้จะถูกริบทรัพย์ที่ 5 ถูกศาลลงโทษอยู่ในความหมายของความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3 หรือไม่ โดยผู้จะถูกริบทรัพย์ที่ 5 และที่ 6 ฎีกาว่า ในคดีที่ผู้จะถูกริบทรัพย์ที่ 5 ถูกศาลลงโทษนั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษผู้จะถูกริบทรัพย์ที่ 5 ในความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเท่านั้น จึงไม่อยู่ในความหมายของความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามบทกฎหมายดังกล่าวนั้น เห็นว่า ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4196/2541 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดสำหรับผู้จะถูกริบทรัพย์ที่ 5 ว่า ผู้จะถูกริบทรัพย์ที่ 5 กระทำความผิดฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขาย ซึ่งเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด การมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายจึงอยู่ในความหมายของความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3 ฎีกาข้อนี้ของผู้จะถูกริบทรัพย์ที่ 5 และที่ 6 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน