คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3804/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการผลิตยาแผนโบราณตาม พ.ร.บ.ยานั้น นอกจากผู้ผลิตจะต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตตามมาตรา 46 วรรคหนึ่งแล้ว ยังต้องปรากฏว่ายาแผนโบราณที่จะผลิตนั้นต้องเป็นยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้วตามมาตรา 72 (4) หรือผู้ผลิตได้นำตำรับยานั้นมาขอขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาแล้วตามมาตรา 79 จึงจะผลิตยานั้นได้ หากเป็นการปรุงยาตามตำราที่รัฐมนตรีประกาศตาม พ.ร.บ.ยาพ.ศ.2510 มาตรา 76 (1) โดยผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ และเป็นการทำเพื่อขายเฉพาะสำหรับคนไข้ของตนตามมาตรา 47 (2) แล้ว จึงจะสามารถผลิตยานั้นได้โดยไม่ต้องรับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตตามมาตรา 46วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โดยจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ผลิตยาแผนโบราณตามใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ สาขาเภสัชกรรม ส่วนจำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ สาขาเวชกรรมและเภสัชกรรม การที่จำเลยทั้งสองได้ดำเนินการผลิตยาแผนโบราณเป็นยาเม็ดลูกกลอนของกลาง จำนวน 2 ถุง ซึ่งมีผู้อื่นมาว่าจ้างให้จำเลยทั้งสองผลิต และยาของกลางมีส่วนผสมของมหาหิงคุ์ซึ่งถือว่าเป็นยาแผนโบราณ โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาและไม่นำตำรับยาไปขอขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งจำเลยมิได้ผลิตเพื่อรักษาคนไข้ของตนเอง การที่จำเลยทั้งสองมิได้ผลิตยาของกลางเพื่อขายเฉพาะสำหรับคนไข้ของตน แม้จำเลยทั้งสองจะได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ กรณีก็ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ยาพ.ศ.2510 มาตรา 47 (2) และเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาและไม่นำตำรับยาไปขอขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยจึงไม่ได้ใบรับอนุญาตจากผู้อนุญาตให้ผลิตยาแผนโบราณได้ตามมาตรา 46 วรรคหนึ่งจำเลยทั้งสองจึงต้องมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาฯ มาตรา 72 (4), 79, 122,123 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายกรรม
แม้ขณะ ป.ลงชื่อในคำร้องทุกข์ ขณะนั้นรายละเอียดต่าง ๆยังไม่ได้กรอกข้อความลงไป และ ป.ไม่ทราบว่าจะแจ้งความให้ดำเนินคดีจำเลยในความผิดฐานใดก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่า ป.เป็นผู้ได้ตรวจค้นพบยาของกลางและได้บันทึกการยึดยาไว้ เมื่อผลการตรวจพิสูจน์พบว่าของกลางเป็นเนื้อเยื่อของพืชและมหาหิงคุ์ซึ่งเป็นยาแผนโบราณ ผู้บังคับบัญชาจึงมอบหมายให้ ป.ไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี ดังนั้น เมื่อ ป.ได้รับมอบหมายให้ไปร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และการจะสอบสวนจำเลยในความผิดฐานใดนั้นย่อมเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการต่อไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสอบสวน ดังนั้นการสอบสวนจึงชอบแล้ว

Share