คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3169/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ฝ่ายซื้อกับผู้ขายไม่อาจครอบครองเมทแอมเฟตามีนพร้อมกันในเวลาเดียวกันได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นฝ่ายผู้ขาย ส่วนจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นฝ่ายซื้อ จึงไม่เป็นตัวการร่วมในการครอบครองเมทแอมเฟตามีนตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 ริบยาเสพติดให้โทษของกลาง
จำเลยทั้งแปดให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2) (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคสาม (2)), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 คนละ 25 ปี และปรับคนละ 1,500,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 5 และที่ 6 ตลอดชีวิต และปรับคนละ 3,000,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 1 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 7 และที่ 8
โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันชั้นนี้รับฟังได้ว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องจำเลยที่ 2 ได้มอบเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 19,750 เม็ด น้ำหนักสุทธิ 1,806.080 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 333.243 กรัม ตามรายงานการตรวจพิสูจน์ ให้กับจำเลยที่ 1 นำติดตัวเดินทางจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มายังกรุงเทพมหานครด้วยรถยนต์โดยสารปรับอากาศเพื่อส่งมอบให้กับลูกค้า แต่ระหว่างทางเมื่อถึงด่านตรวจห้วยยะอุ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จำเลยที่ 1 ถูกพันตำรวจโทบุญส่ง ตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว จึงถูกจับกุม จำเลยที่ 1 ให้การว่าเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวรับมาจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 เจ้าพนักงานตำรวจนำตัวจำเลยที่ 1 ไปที่บ้านของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นสามีภรรยากันและจับกุมตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามฟ้องฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ยื่นฎีกา คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และคดีนี้โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2551 จึงเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่ค้างพิจารณาอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ใช้บังคับ การฎีกาจึงไม่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้คือไม่จำต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องขออนุญาตฎีกา แต่การฎีกายังคงอยู่ภายใต้บทบัญญัติว่าด้วยการฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ร่วมกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจโทบุญส่ง สิบตำรวจเอกมนต์และสิบตำรวจเอกนริศเป็นพยานเบิกความได้ความว่า ในวันเกิดเหตุคือวันที่ 29 มกราคม 2551 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา หลังจากที่จับกุมจำเลยที่ 1 ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลางและจำเลยที่ 1 ได้ให้การว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่าจ้างให้นำไปส่งที่กรุงเทพมหานคร จากนั้นได้นำจำเลยที่ 1 มาที่บ้านของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นสามีภรรยาและได้จับกุมจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 ให้การว่าเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 30,000 บาท ให้นำไปส่งแก่จำเลยที่ 4 ที่จังหวัดสมุทรปราการ จึงมีการนำตัวจำเลยที่ 2 เดินทางมากรุงเทพมหานคร จนเวลาประมาณ 7 นาฬิกา ของวันที่ 30 มกราคม 2551 จำเลยที่ 4 ได้โทรศัพท์มายังจำเลยที่ 2 สอบถามว่าเดินทางถึงที่ใดแล้ว หากมาถึงให้นำเมทแอมเฟตามีนไปส่งให้จำเลยที่ 4 ที่ห้างสรรพสินค้าคาร์ฟู สาขาสำโรงเหนือ จังหวัดสมุทรปราการ และจำเลยที่ 4 ได้โทรศัพท์มาหาจำเลยที่ 2 อีกหลายครั้ง จนเวลาประมาณ 10 นาฬิกา ได้ควบคุมจำเลยที่ 2 มาถึงห้างสรรพสินค้าคาร์ฟู สาขาสำโรงเหนือ จังหวัดสมุทรปราการ และเวลาประมาณ 10.20 นาฬิกา จำเลยที่ 4 โทรศัพท์มายังจำเลยที่ 2 บอกว่าใกล้จะถึงแล้ว พันตำรวจโทบุญส่งกับพวกจึงให้จำเลยที่ 2 ทำทีถือถุงเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งให้จำเลยที่ 4 สักครู่จำเลยที่ 4 เดินมาหาจำเลยที่ 2 โดยพันตำรวจโทบุญส่งกับพวกซุ่มดูเหตุการณ์อยู่ภายในรถยนต์ใกล้กับที่จำเลยที่ 2 นั่งอยู่ เมื่อจำเลยที่ 4 มาถึงได้นั่งคุยกับจำเลยที่ 2 และขอดูถุงที่จำเลยที่ 2 ถืออยู่มีการพูดคุยกัน จำเลยที่ 2 ส่งถุงที่ใส่เมทแอมเฟตามีนให้จำเลยที่ 4 เมื่อคุยกันสักครู่จำเลยที่ 4 ก็แยกตัวออก พันตำรวจโทบุญส่งกับพวกจึงเข้าจับกุม จำเลยที่ 4 รับว่าเป็นคนกลางมารับเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 2 ไปให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 โดยได้รับค่าจ้างจากจำเลยที่ 5 และที่ 6 มัดละ 5,000 บาท และให้การว่าเมื่อได้รับเมทแอมเฟตามีนแล้วจำเลยที่ 5 และที่ 6 ให้นำไปส่งให้ที่บ้านของจำเลยที่ 5 และที่ 6 และมีหน้าที่นำเงินค่าเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 5 และที่ 6 มาให้จำเลยที่ 2 พันตำรวจโทบุญส่งกับพวกจึงนำจำเลยที่ 4 ไปที่บ้านของจำเลยที่ 5 และที่ 6 จากนั้นให้จำเลยที่ 4 ถือถุงใส่เมทแอมเฟตามีนไปส่งมอบให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 พบจำเลยที่ 5 และที่ 6 ยืนรออยู่หน้าบ้าน จำเลยที่ 4 ได้มอบถุงเมทแอมเฟตามีนของกลางให้จำเลยที่ 6 พันตำรวจโทบุญส่งกับพวกจึงเข้าจับกุม ซึ่งจำเลยที่ 4 ชี้ยืนยันจำเลยที่ 5 และที่ 6 ว่าเป็นผู้ว่าจ้าง พันตำรวจโทบุญส่งกับพวกตรวจค้นบ้านจำเลยที่ 5 และที่ 6 พบเงิน 709,880 บาท จำเลยที่ 5 และที่ 6 รับว่าเป็นเงินที่ไว้จ่ายค่าเมทแอมเฟตามีนของกลาง จากคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าว เห็นว่า การที่พันตำรวจโทบุญส่งกับพวกไปจับกุมจำเลยที่ 4 เกิดจากคำให้การของจำเลยที่ 2 ที่ให้การว่า ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 นำไปส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 2 ให้ความร่วมมือติดต่อนัดหมายกับจำเลยที่ 4 ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการใช้โทรศัพท์ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 4 ที่มีการติดต่อกันในวันที่ 29 มกราคม 2551 เวลา 15.19 นาฬิกา และเวลา 22.21 นาฬิกา และโดยเฉพาะในวันที่ 30 มกราคม 2551 เวลา 10.25 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาขณะที่จำเลยที่ 2 รอส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลยที่ 4 ส่วนหมายเลขโทรศัพท์ที่พวกจำเลยใช้ติดต่อว่าหมายเลขใดเป็นของจำเลยคนใดปรากฏตามบันทึกการจับกุมที่ระบุไว้โดยชัดเจนว่ายึดโทรศัพท์หมายเลขใดได้จากจำเลยคนใด นอกจากนี้โจทก์ยังมีภาพถ่ายสนับสนุนคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าว ที่เป็นภาพจำเลยที่ 4 กำลังข้ามถนนไปหาจำเลยที่ 2 ที่นั่งรออยู่และภาพที่ทั้งสองนั่งคุยกันและจำเลยที่ 4 หิ้วเอาถุงที่ใส่เมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 2 ไป และภาพที่จำเลยที่ 4 ชี้เมทแอมเฟตามีนของกลางหลังจากถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 มารับเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 2 ส่วนที่จำเลยที่ 4 นำสืบว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 4 มาซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าคาร์ฟู มีชาย 3 คน หญิง 1 คน มาสอบถามว่าชื่อสมพรหรือไม่ เมื่อบอกว่าไม่ใช่ก็ถูกบังคับให้รับและถูกตรวจค้นตัว ชายกลุ่มดังกล่าวนำกระเป๋ามาเปิดบังคับให้จำเลยที่ 4 ชี้แล้วถ่ายรูป จากนั้นพามาที่บ้านของจำเลยที่ 4 ซึ่งอยู่ติดกับบ้านของจำเลยที่ 5 และที่ 6 นั้น เห็นว่า เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีน้ำหนักพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ โดยเฉพาะ ที่ปรากฏภาพของจำเลยที่ 4 เดินเข้าไปหาจำเลยที่ 2 แล้วนั่งคุยกันมีการเปิดดูถุง ซึ่งไม่มีลักษณะของการขู่บังคับให้เห็นตามที่จำเลยที่ 4 กล่าวอ้าง และที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 แล้วพามาจับกุมจำเลยที่ 4 เป็นการจัดฉากโดยข่มขืนใจจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ลงชื่อในบันทึกการจับกุม โดยไม่ได้สมัครใจ การจับกุมจำเลยที่ 4 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบ นั้น ฟังไม่ขึ้นไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้เช่นกัน สำหรับฎีกาประการอื่นของจำเลยที่ 4 เห็นว่า ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอีก ส่วนจำเลยที่ 5 และที่ 6 นั้น เห็นว่า การจับกุมจำเลยที่ 5 และที่ 6 ก็สืบเนื่องมาจากคำให้การของจำเลยที่ 4 ที่ให้การว่าจำเลยที่ 4 มารับเมทแอมเฟตามีนของกลางเพื่อนำไปมอบให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 โดยได้ค่าจ้างมัดละ 5,000 บาท จึงมีการนำจำเลยที่ 4 มาที่บ้านของจำเลยที่ 5 และที่ 6 เมื่อมาถึงพยานโจทก์ก็ยืนยันว่าพบจำเลยที่ 5 และที่ 6 อยู่บริเวณหน้าบ้านแล้ว อันเป็นการส่อแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 5 และที่ 6 รอจำเลยที่ 4 อยู่และพยานโจทก์ก็ยืนยันว่าเห็นจำเลยที่ 4 ส่งมอบเมทแอมเฟตามีน ของกลางให้กับจำเลยที่ 6 ซึ่งคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวไม่มีพิรุธและไม่มีข้อระแวงสงสัยว่าจะเบิกความให้ร้ายจำเลยที่ 5 และที่ 6 และโจทก์ยังมีบันทึกการใช้โทรศัพท์ระหว่างจำเลยที่ 4 กับจำเลยที่ 5 ในวันที่ 29 มกราคม 2551 และวันที่ 30 มกราคม 2551 โดยเฉพาะเวลา 9.55 นาฬิกา ของวันที่ 30 มกราคม 2551 ที่จำเลยที่ 4 โทรศัพท์ไปยังจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นเวลาใกล้เคียงกับที่จำเลยที่ 4 ไปพบจำเลยที่ 2 และเวลา 10.56 นาฬิกา ที่จำเลยที่ 5 โทรศัพท์ไปยังจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่จำเลยที่ 4 ถูกจับกุมตัวแล้ว ตามบันทึกการใช้โทรศัพท์ประกอบบันทึกการตรวจยึดโทรศัพท์ที่ระบุไว้ในบันทึกการจับกุม นอกจากนี้การตรวจค้นบ้านของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ยังพบเงินจำนวน 709,880 บาท ซึ่งทำให้เชื่อมโยงได้ว่าน่าจะเป็นเงินที่จำเลยที่ 5 และที่ 6 เตรียมไว้เพื่อชำระค่าเมทแอมเฟตามีนตามคำให้การของจำเลยที่ 4 ที่ให้การไว้กับพยานโจทก์ผู้จับกุม จากหลักฐานของโจทก์ที่ประกอบทั้งหมดดังที่กล่าวจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 4 ไปรับเมทแอมเฟตามีนของกลางนำมาให้ตนที่บ้าน ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 4 ได้รับมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองแล้วและนำมามอบให้แก่จำเลยที่ 5 และที่ 6 ตามที่ตกลงกัน จึงถือว่าจำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 4 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองด้วยเช่นกัน ส่วนข้อที่จำเลยที่ 5 และที่ 6 นำสืบต่อสู้ว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 5 และที่ 6 เห็นเจ้าพนักงานตำรวจมาที่บ้านของจำเลยที่ 4 จึงเข้าไปสอบถามถึงการตรวจค้นทำให้เจ้าพนักงานตำรวจไม่พอใจ จับกุมจำเลยที่ 5 และที่ 6 กล่าวหาว่ามีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น เห็นว่า ไม่มีน้ำหนักพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ และที่จำเลยที่ 5 และที่ 6 ฎีกาว่า ยังไม่ได้รับเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 4 เพราะเจ้าพนักงานตำรวจมาจับกุมจำเลยที่ 5 และที่ 6 ก่อน โดยจำเลยที่ 4 ไม่ได้นำเมทแอมเฟตามีนมามอบให้ตามที่พยานโจทก์เบิกความและจำเลยที่ 5 กับที่ 6 ก็ไม่รู้จักกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 7 และที่ 8 ส่วนเงินที่พบที่บ้านนั้นจำเลยที่ 5 และที่ 6 ได้ชี้แจงให้เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมทราบแล้วแต่ไม่ยอมรับฟังเหตุผลและหมายเลขโทรศัพท์จำเลยที่ 4 ก็ให้การปฏิเสธว่าไม่ใช่หมายเลขของตนพยานหลักฐานของโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 5 และที่ 6 ได้ครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางแล้ว นั้น เห็นว่า ไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้เช่นกัน พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลาง อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นฝ่ายผู้ขาย ส่วนจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นฝ่ายผู้ซื้อ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 จึงไม่อาจครอบครองเมทแอมเฟตามีนพร้อมกันในเวลาเดียวกันได้ จำเลยทั้งห้าคนจึงไม่ใช่ตัวการร่วมกันตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียใหม่
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวการร่วมกันฝ่ายหนึ่ง และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นตัวการร่วมกันอีกฝ่ายหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share