แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยใช้อาวุธมีดของกลางทำร้ายผู้เสียหายซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย มีบาดแผลที่คอและข้อมือซ้าย ตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ระบุว่า ผู้เสียหายมีบาดแผลฉีกขาดที่คอไม่ลึกยาว 3 เซนติเมตร กับแผลฉีกขาดที่ข้อมือซ้ายขนาด 4×1 เซนติเมตรลึก 2 เซนติเมตร มีเอ็นฉีกขาดและเส้นเลือดแดงเล็กฉีกขาด ต้องใช้เวลารักษาประมาณ 21 ถึง 28 วัน จึงจะหายเป็นปกติ แต่ผู้เสียหายเบิกความตอบโจทก์ว่านอนพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลประมาณ 7 วัน และตอบทนายจำเลยถามค้านว่าเอ็นข้อมือซ้ายไม่ขาด ดังนี้ แม้แพทย์ผู้ตรวจรักษาจะมาเบิกความยืนยันบาดแผล แต่ที่ ระบุว่าต้องรักษาบาดแผลประมาณ 21 ถึง 28 วัน ก็เป็นเพียงความเห็น ของแพทย์เกี่ยวกับการรักษาบาดแผลให้หายเป็นปกติโดยคาดคะเนเอาเท่านั้น เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏว่าบาดแผลดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันตลอดระยะเวลานั้นด้วย จึงฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8)
จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวน แม้ในชั้นพิจารณาจำเลยให้การปฏิเสธ แต่จำเลยก็อ้างตัวเองเบิกความเป็นพยานทำนองรับสารภาพความผิดทุกข้อหาตามฟ้อง และข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าจำเลยกับผู้เสียหายเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย หลังเกิดเหตุยังคงอยู่กินด้วยกัน ประกอบกับผู้เสียหายยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นและศาลฎีกาขอให้รอการลงโทษแก่จำเลย ตามพฤติการณ์จึงสมควรลดโทษแก่จำเลยกึ่งหนึ่งและรอการลงโทษแก่จำเลยด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33,80, 91, 288, 310 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4,7, 8, 57, 91 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8), 310 วรรคสอง (ซึ่งระวางโทษตามมาตรา 297) พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57, 91 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน จึงต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสและฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท(ซึ่งแต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน) ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8) ซึ่งเป็นบทหนัก (ที่ถูกเพียงบทเดียว) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 3 ปี ริบของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้จำเลยกระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 แล้ว คงให้ลงโทษฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 1 ปี 4 เดือน ฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำคุก 8 เดือน รวมเป็นจำคุก 1 ปี 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้แม้จำเลยจะฎีกาเพียงขอให้ลดโทษและรอการลงโทษแต่เห็นควรวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัสหรือไม่เสียก่อน ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยใช้อาวุธมีดของกลางทำร้ายผู้เสียหายซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายมีบาดแผลที่คอและข้อมือซ้ายตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ระบุว่าผู้เสียหายมีบาดแผลฉีกขาดที่คอไม่ลึกยาว 3 เซนติเมตร กับแผลฉีกขาดที่ข้อมือซ้ายขนาด 4 x 1 เซนติเมตร ลึก 2 เซนติเมตร มีเอ็นฉีกขาดและเส้นเลือดแดงเล็กฉีกขาด ต้องใช้เวลารักษาประมาณ 21 ถึง 28 วัน จึงจะหายเป็นปกติ แต่ผู้เสียหายเบิกความตอบโจทก์ว่านอนพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลประมาณ 7 วัน และตอบทนายจำเลยถามค้านว่าเอ็นข้อมือซ้ายไม่ขาด ดังนี้ เห็นว่า แม้แพทย์ผู้ตรวจรักษาจะมาเบิกความยืนยันบาดแผล แต่ที่ระบุว่าต้องรักษาบาดแผลประมาณ 21 ถึง 28 วัน ก็เป็นเพียงความเห็นของแพทย์เกี่ยวกับการรักษาบาดแผลให้หายเป็นปกติโดยคาดคะเนเอาเท่านั้น โจทก์หาได้นำสืบให้ปรากฏว่าบาดแผลดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันตลอดระยะเวลานั้นด้วยไม่ จึงฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8) และมาตรา 310 วรรคสอง จำเลยคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 และมาตรา 310 วรรคหนึ่ง เท่านั้น และเมื่อการกระทำความผิดของจำเลยตามบทมาตราดังกล่าวเป็นการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงต้องลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานใดและต้องลงโทษตามบทกฎหมายมาตราใด เป็นปัญหากฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8) ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
สำหรับปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ขอให้ลดโทษและรอการลงโทษแก่จำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวน แม้ในชั้นพิจารณาจำเลยจะให้การปฏิเสธขณะเมื่อศาลอธิบายฟ้อง แต่จำเลยก็อ้างตัวเองเบิกความเป็นพยานทำนองรับสารภาพความผิดทุกข้อหาตามฟ้องดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงก็ปรากฏอยู่ว่าจำเลยกับผู้เสียหายเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายและหลังเกิดเหตุยังคงอยู่กินด้วยกันผู้เสียหายยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นและศาลฎีกาตามคำร้องลงวันที่ 22 เมษายน 2541 และวันที่ 6 มีนาคม 2543 ตามลำดับ ขอให้รอการลงโทษแก่จำเลยตามพฤติการณ์จึงสมควรลดโทษแก่จำเลยกึ่งหนึ่งและรอการลงโทษแก่จำเลยด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลดโทษแก่จำเลยเพียงหนึ่งในสามและไม่รอการลงโทษมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 และมาตรา 310 วรรคหนึ่ง ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 310 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 1 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกในความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษแล้ว เป็นจำคุก 2 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้งภายในกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3