คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 637/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ก่อนที่โจทก์ทั้งสามจะฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ โจทก์ทั้งสามได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่าจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดและประสงค์ให้พนักงานตรวจแรงงานดำเนินการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 123 วรรคหนึ่ง ซึ่งในกรณีนี้โจทก์ทั้งสามอาจจะเลือกที่จะใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลแรงงานได้ โดยจะต้องใช้สิทธิในทางใดทางหนึ่ง แต่จะใช้สิทธิพร้อมกันทั้งสองทางไม่ได้ เมื่อโจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้วโจทก์ทั้งสามย่อมไม่มีสิทธิที่จะฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางจนกว่าการดำเนินการของพนักงานตรวจแรงงานจะสิ้นสุด ศาลแรงงานย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามที่ฟ้องเรียกเอาเงินค่าจ้างค้างจ่ายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ข้อกฎหมายนี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142, 246 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31 ได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 33,400 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 65,400 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 23,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การร่วมกันว่า จำเลยทั้งสามไม่มีนิติสัมพันธ์ใดๆ กับโจทก์ทั้งสาม ไม่เคยว่าจ้างโจทก์ทั้งสามตามตำแหน่งงานและอัตราค่าจ้างตามฟ้อง เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2543 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญารับจ้างเหมาปรับปรุงและก่อสร้างต่อเติมโรงจักรใหม่ พร้อมรางสายเคเบิล รางระบายน้ำ ที่ กฟอ. อุ้มผาง จังหวัดตาก โดยมี กฟจ. พิษณุโลกเป็นผู้ว่าจ้าง และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาจ้างเหมาช่วงงานให้แก่นายพาน ศรีหะบุตร เป็นผู้รับจ้างต่อไป ดังนั้น โจทก์ทั้งสามกับนายพานจะมีข้อตกลงกันอย่างใดจำเลยทั้งสามไม่ทราบและไม่เคยสั่งการหรือควบคุมงาน โจทก์ทั้งสามทราบดีว่าได้รับจ้างนายพาน หากมีกรณีผิดสัญญาจ้างโจทก์ทั้งสามต้องเรียกร้องจากนายพาน นอกจากนี้โจทก์ทั้งสามเคยร้องทุกข์กล่าวหาจำเลยทั้งสามต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตากและได้มีการสอบสวนแล้วสั่งยกคำร้องของโจทก์ทั้งสาม เนื่องจากโจทก์ทั้งสามไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสาม ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้เรียกนายพาน ศรีหะบุตร เข้าเป็นจำเลยร่วม
จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยร่วมไม่มีนิติสัมพันธ์ใดๆ กับโจทก์ทั้งสาม ไม่เคยว่าจ้าง ไม่เคยตกลงจ่ายค่าจ้างและไม่มีหน้าที่สั่งงานแก่โจทก์ทั้งสาม แต่โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา ศาลแรงงานกลางพิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การ และคำแถลงของคู่ความแล้ว เห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้จึงสั่งงดสืบพยานโจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสาม แล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 33,400 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 65,400 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 23,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าปีจากต้นเงินของโจทก์แต่ละคนนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 10 กันยายน 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องสำหรับจำเลยร่วม
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ตามแบบคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานในฐานะลูกจ้าง และบันทึกคำให้การของโจทก์ที่ 3 เอกสารท้ายคำฟ้องว่าเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2544 ก่อนที่โจทก์ทั้งสามจะฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ โจทก์ทั้งสามได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งสามระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2543 ถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2544 วันที่ 1 ธันวาคม 2543 ถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2544 และวันที่ 26 ธันวาคม 2543 ถึงวันที่ 6 เมษายน 2544 ตามลำดับ และประสงค์ให้จำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างจ่ายเงินค่าจ้างค้างจ่ายตามที่เรียกร้องแก่โจทก์ทั้งสาม อันเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสามร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่าจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดและประสงค์ให้พนักงานตรวจแรงงานดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง ซึ่งในกรณีนี้โจทก์ทั้งสามอาจจะเลือกที่จะใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลแรงงานก็ได้ โดยจะต้องใช้สิทธิในทางใดทางหนึ่ง แต่จะใช้สิทธิพร้อมกันทั้งสองทางไม่ได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามสิทธิได้รับเงินของโจทก์ทั้งสามดังกล่าวข้างต้นต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้ว โจทก์ทั้งสามย่อมไม่มีสิทธิที่จะฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางจนกว่าการดำเนินการของพนักงานตรวจแรงงานจะสิ้นสุด ศาลแรงงานกลางย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามที่ฟ้องเรียกเอาเงินค่าจ้างค้างจ่ายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับฟ้องและพิพากษาคดีนี้จึงไม่ชอบ ข้อกฎหมายนี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142, 246 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ทั้งสามที่จะฟ้องคดีใหม่ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

Share