คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3171/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องบรรยายฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาจะขายที่ดินให้จำเลย แต่ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยภายในกำหนดได้เนื่องจากขัดข้องเรื่องเอกสาร จึงขอขยายระยะเวลา หลังจากที่มีการขอขยายระยะเวลาแล้วโจทก์คืนมัดจำ 5,000,000 บาท แก่จำเลย โจทก์ได้เสนอให้จำเลยถือเงินสดของโจทก์ไว้ 3,000,000 บาท เป็นประกันว่าโจทก์สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธ์ที่ดินที่ตกลงจะซื้อจะขายแก่จำเลยได้ หาไม่แล้วให้เงินดังกล่าวตกเป็นของจำเลย แต่หากโจทก์ดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายแลัวเสร็จ ก็ให้จำเลยถือปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมพร้อมกับคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ แสดงว่าการที่โจทก์มอบเงินจำนวนนี้แก่จำเลยสืบเนื่องมาจากสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมที่โจทก์จำเลยทำไว้ต่อกัน เพื่อให้การบังคับตามสัญญาเกิดผลในทางปฏิบัติ มิได้มีเจตนาหรือประสงค์ให้เงินจำนวนนี้เป็นการวางมัดจำหรือเป็นการชำระหนี้บางส่วนเพื่อให้เกิดผลบังคับเป็นสัญญาใหม่แทนสัญญาจะซื้อจะขายเดิมไม่ อีกทั้งโจทก์ผู้จะขายมอบเงินแก่จำเลยผู้จะซื้อเพื่อเป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญาก็ไม่มีลักษณะเป็นการวางมัดจำหรือชำระหนี้บางส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์จำเลยฉบับเดิมตกเป็นโมฆะไปแล้ว โจทก์กลับอุทธรณ์ว่าเงินจำนวนนี้เป็นการวางมัดจำหรือเป็นการชำระหนี้บางส่วนเป็นคำเสนอสนอง สัญญาย่อมเกิดขึ้นใหม่เพื่อให้โจทก์สามารถฟ้องร้องบังคับจำเลยตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินได้อีก จึงเป็นเรื่องนอกฟ้อง และเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ๑๗,๖๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า หลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน จำเลยทราบภายหลังว่าเนื่องจากโจทก์ถูกศาลแพ่งสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ประกอบกับที่ดินติดจำนองธนาคาร โจทก์จึงไม่อาจจดทะเบียนโอนที่ดินแก่จำเลยได้ โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จนในที่สุดโจทก์ยอมคืนมัดจำ ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่จำเลย จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและทวงถามค่าเสียหายจากการลงทุนพัฒนาที่ดิน โจทก์ชำระค่าเสียหายแก่จำเลย ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ ๕๐,๐๐๐ บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาให้ยกอุทธรณ์โจทก์ คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้โจทก์ ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด ในคดีหมายเลขแดงที่ ล. ๗๑๙/๒๕๓๙ ตามประกาศของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ลงวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๓ ในระหว่างที่โจทก์ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๓๕ โจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๗๖๒ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ของโจทก์แก่จำเลยในราคา ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยชำระมัดจำจำนวน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ในวันทำสัญญา ส่วนที่เหลือกำหนดชำระเมื่อจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันทำสัญญาตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ. ๑ ครั้งแรกโจทก์จำเลยตกลงจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๓๕ แต่โจทก์ขอเลื่อนไปวันที่ ๑๐ เดือนเดียวกัน เมื่อถึงวันนัดโจทก์ไม่สามารถไปจดทะเบียนโอนที่ดินแก่จำเลยได้ โจทก์จึงคืนมัดจำ ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่จำเลย และตกลงเลื่อนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินไปภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันดังกล่าว โดยโจทก์มอบเงินจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่จำเลยไว้เป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา และจำเลยได้ขออายัดที่ดินไว้เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๕ ต่อมาวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๓๕ ศาลแพ่งมีคำสั่งพิจารณาคดีล้มละลายของโจทก์ใหม่ แล้วได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะส่วนของโจทก์ออกจาก สารบบความ โจทก์ได้ชำระเงินแก่จำเลยอีก ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท ต่อมาวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๓๕ จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญากับโจทก์ แต่สัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆะมาแต่แรกเพราะในขณะทำสัญญาโจทก์ถูกศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
คดีมีปัญหาชั้นฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ภาค ๑ มีคำพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามคำฟ้องของโจทก์ได้ความว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยตามสัญญาจะซื้อจะขายโดยมีหลักฐานเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ. ๑ เป็นสำคัญ โจทก์อุทธรณ์ว่า แม้สัญญาจะซื้อจะขายตามเอกสารหมาย จ. ๑ จะตกเป็นโมฆะ แต่หลังจากศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีล้มละลายใหม่ซึ่งมีผลให้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นอันถูกเพิกถอนแล้ว โจทก์ได้ชำระเงินจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่จำเลยเป็นการวางมัดจำหรือชำระหนี้บางส่วน ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๕๖ วรรคสอง โจทก์จึงสามารถฟ้องร้องบังคับจำเลยตามสิทธิที่เกิดขึ้นใหม่ได้อีกนั้น เห็นว่า ในส่วนของเงินจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท นั้น โจทก์ได้บรรยายไว้ในคำฟ้องว่า หลังจากที่มีการขอขยายระยะเวลาแล้วโจทก์ได้คืนมัดจำ ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่จำเลยไปแล้ว โจทก์ได้เสนอให้จำเลยถือเงินสดของโจทก์ไว้ ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นประกันว่า โจทก์สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ตกลงจะซื้อขายแก่จำเลยได้ หากโจทก์ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่จำเลยให้เงินประกันจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตกเป็นของจำเลย แต่หากโจทก์ดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารการโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายแล้วเสร็จก็ให้จำเลยถือปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ. ๑ พร้อมกับคืนเงินประกันจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารแล้วเสร็จ จึงแจ้งให้จำเลยมาจดทะเบียนรับโอนที่ดิน แต่จำเลยผิดสัญญาไม่มาดำเนินการและกลับบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายต่อโจทก์ การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงขอเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ตามคำฟ้องดังกล่าว แสดงว่า การที่โจทก์มอบเงินจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่จำเลย เป็นผลสืบเนื่องมาจากสัญญาจะซื้อจะขายที่โจทก์จำเลยทำไว้ต่อกันตามเอกสารหมาย จ. ๑ เพื่อให้การบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวเกิดผลในทางปฏิบัติ โจทก์จำเลยมิได้มีเจตนาหรือจุดประสงค์ให้เงินจำนวนดังกล่าวเป็นการวางมัดจำหรือเป็นการชำระหนี้บางส่วน เพื่อให้เกิดผลบังคับเป็นสัญญาใหม่ แทนสัญญาจะซื้อจะขายเดิมแต่อย่างใดไม่ อีกทั้งที่โจทก์ในฐานะเจ้าของที่ดินผู้จะขายมอบเงินจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่จำเลยเพื่อเป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญาตามข้ออ้างของโจทก์ ก็ไม่มีลักษณะเป็นการวางมัดจำหรือเป็นการชำระหนี้บางส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๕๖ วรรคสอง แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์จำเลยได้ตกเป็นโมฆะไปแล้ว โจทก์กลับอุทธรณ์อ้างว่าเงินประกันจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ที่โจทก์มอบแก่จำเลยนั้นเป็นการวางมัดจำหรือเป็นการชำระหนี้บางส่วน ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๕๖ วรรคสอง เป็นคำเสนอสนอง สัญญาย่อมเกิดขึ้นใหม่ทั้งนี้เพื่อให้โจทก์สามารถฟ้องร้องบังคับจำเลย ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินได้อีก จึงเป็นเรื่องนอกฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ โดยเห็นว่าอุทธรณ์ของโจทก์เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share