คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 380/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเก็บแร่ไว้ในระหว่างที่ใบอนุญาตเดิมหมดอายุ แม้ภายหลังจำเลยจะได้รับใบอนุญาตให้เก็บแร่ได้อีก ใบอนุญาตใหม่ก็ไม่มีผลย้อนหลังไปลบล้างหรืออภัยความผิดก่อนได้รับอนุญาต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2510 มาตรา 101, 105, 143, 148, 154 ริบของกลาง จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2510 มาตรา 101, 143, 154 ให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองคนละ 2,000 บาท ของกลางริบ จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาเพียงว่า การที่จำเลยทั้งสองเก็บแร่ไว้ในระหว่างที่ใบอนุญาตเก็บแร่เดิมหมดอายุ แต่หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบการกระทำผิดของจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองก็ได้รับใบอนุญาตให้เก็บแร่ได้ใหม่เช่นนี้ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ปรากฏว่าจำเลยนำสืบยอมรับว่าใบอนุญาตเก็บแร่ของจำเลยหมดอายุในวันที่ 31 ธันวาคม 2523 และพันตำรวจตรีศุภโชค พบการกระทำผิดของจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2524 แต่เจ้าหน้าที่เพิ่งออกใบอนุญาตให้จำเลยใหม่เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2524เช่นนี้ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2524 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพบการกระทำผิดของจำเลย จำเลยย่อมได้ชื่อว่าเก็บแร่ไว้โดยไม่มีใบอนุญาต ที่จำเลยนำสืบว่า ได้ยื่นคำขอต่อใบอนุญาตตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2524 อันเป็นวันก่อนวันที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพบการกระทำผิดของจำเลยนั้น เห็นว่าไม่น่าเชื่อ เพราะนายอุบล นาวุฒิ ซึ่งขณะเกิดเหตุรับราชการเป็นทรัพยากรธรณีจังหวัดชลบุรี ได้มาเบิกความเป็นพยานจำเลยว่า จำเลยมายื่นขอต่ออายุประมาณวันที่ 19 พฤศจิกายน 2524 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเก็บแร่ไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตดังฟ้อง แม้ภายหลังจำเลยจะได้รับใบอนุญาตให้เก็บแร่ได้อีก ใบอนุญาตใหม่ก็มีข้อความเพียงว่าใช้ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2524 ไม่มีทางที่จะแปลว่าจะใช้ให้มีผลย้อนหลังไปลบล้างหรืออภัยความผิดที่เก็บแร่ไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นการเก็บโดยได้รับอนุญาตได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองมานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน”

Share