แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินให้โจทก์ โจทก์วางมัดจำ 3,000 บาทค่าที่ดินตกลงชำระกันเป็นงวด ๆ เมื่อได้ชำระค่าที่ดินไปบ้างแล้วโจทก์ฟ้องให้จำเลยคืนเงินและเช็คที่ได้ชำระค่าที่ดินไปตามสำเนาหนังสือบอกเลิกสัญญาท้ายฟ้อง อ้างเหตุแตกร้าวที่โจทก์ถูกตำรวจจับเรื่องอายัดเช็ค ทั้งหาว่าจำเลยผิดสัญญาไม่สามารถไปโอนโฉนดให้แต่ตามฟ้องโจทก์หาได้กล่าวอ้างตั้งประเด็นว่า จำเลยทำผิดสัญญาแต่ประการใดไม่ กลับอ้างว่าจำเลยไม่สุจริตพยายามกลั่นแกล้งให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนอับอายโดยถูกพนักงานสอบสวนควบคุมตัวจึงไม่ประสงค์ซื้อที่ดินต่อไป ดังนี้แสดงว่า เหตุเลิกสัญญาไม่ใช่เกิดจากจำเลยทำผิดสัญญาข้อใด ๆ แต่เป็นเพราะโจทก์ไม่พอใจจำเลย จึงไม่ต้องการซื้อที่ดินเท่านั้น
การเลิกสัญญานอกจากจะได้ระบุไว้ชัดในสัญญาว่า ให้เลิกกัน ได้อย่างไรแล้วก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387, 388, 389 และมาตรา 466 ฯลฯ แม้ตามสัญญาจะระบุว่า ถ้าผู้ซื้อ(โจทก์)ผิดสัญญาโดยไม่ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว ผู้ซื้อยอมให้ผู้ขาย(จำเลย)ริบเงินมัดจำก็เป็นแต่ข้อสัญญาที่ให้ถือปฏิบัติไปตามมาตรา 378นั่นเอง จะแปลเลยไปถึงกับว่าเมื่อโจทก์แสดงเจตนาไม่ซื้อที่ดินแล้วเท่ากับผิดสัญญาแล้วหาได้ไม่ เพราะการทำผิดสัญญาก็ยังไม่เกิดขึ้นสัญญาข้อนี้ไม่ได้ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะบอกเลิกสัญญากับจำเลยได้อย่างใด การที่โจทก์บอกปัดเลิกสัญญาเสียตามชอบใจไม่มีผลให้สัญญาจะซื้อขายระงับสิ้นความผูกพันต่อกัน โจทก์จะเรียกร้องเอาค่าที่ดินที่ชำระไปแล้วคืนโดยอาศัยสิทธิเรียกเงินคืนจากการเลิกสัญญาตามมาตรา 391 ไม่ได้
สัญญาซื้อขายเป็นสัญญาต่างตอบแทนคู่สัญญาจะต้องพร้อมที่จะปฏิบัติตามสัญญาทั้งสองฝ่ายพร้อม ๆ กันตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 369 จำเลยจะบังคับให้โจทก์ชำระค่าที่ดินไปก่อนทำการโอนตลอดจนส่งมอบที่ดินคืนตามฟ้องแย้งไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากัน โจทก์ที่ ๑ ได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อที่ดินของจำเลย ๑ แปลง ราคา ๒๕๐,๐๐๐ บาทในวันทำสัญญาโจทก์ได้วางเงินมัดจำไว้ ๓,๐๐๐ บาท เงินที่เหลือจะจ่ายเป็น ๕ งวด ถ้าผู้ขายผิดสัญญายอมให้ผู้ซื้อปรับสองเท่าของราคาขายถ้าผู้ซื้อผิดสัญญายอมให้ผู้ขายริบเงินมัดจำ นอกจากนั้นยังตกลงกันด้วยวาจาว่าให้โจทก์ออกเช็คล่วงหน้าตามงวดและจำนวนเงินที่ต้องจ่ายเป็นค่าที่ดินแล้วจำเลยจะโอนโฉนดให้ทันที โจทก์ทั้งสองออกเช็คให้จำเลย จำเลยได้รับเงินไปตามเช็คแล้ว ๑๑๗,๐๐๐ บาท ยังเหลืออีก๑๓๐,๐๐๐ บาท คือตามเช็ครวม ๓ ฉบับ ก่อนถึงกำหนดวันสั่งจ่ายเงินตามเช็คจำเลยถูกนายกริชฟ้องหาว่าบุกรุกที่ดินแปลงที่โจทก์ซื้อประมาณ ๖ ไร่ โจทก์เกรงว่าจะไม่ได้รับที่ดินเต็มตามสัญญาจึงไปอายัดเช็คไว้ ที่สุดคดีนั้นยอมความกันโดยจำเลยยอมเสียเงินให้นายกริช ต่อมาจำเลยได้แจ้งให้พนักงานสอบสวนจับกุมโจทก์ที่ ๒ในข้อหาอายัดเช็คพนักงานสอบสวนจับโจทก์ที่ ๒ ไปขัง โจทก์ที่ ๒จำต้องออกเช็คให้จำเลยใหม่ พนักงานสอบสวนจึงปล่อยตัว จำเลยมีเจตนาไม่สุจริต พยายามกลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความอับอายเดือดร้อนโจทก์ไม่ประสงค์จะซื้อที่ดินต่อไป จึงบอกเลิกสัญญาเสีย และให้จำเลยคืนเงินที่ได้รับไปแล้วกับเช็คคืน จำเลยไม่คืน จึงขอให้บังคับจำเลยคืนเงิน ๑๑๗,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ย กับให้จำเลยคืนเช็ครวม๓ ฉบับให้โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ที่ ๒ มิใช่คู่สัญญากับจำเลยมิได้มีส่วนได้เสียและไม่เสียหาย จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยได้ทำสัญญาจะขายที่ดินตามสัญญาท้ายฟ้องจริงตกลงผ่อนชำระราคากันเป็นงวด ๆในลักษณะเช่าซื้อ เมื่อชำระครบแล้วจำเลยจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ที่ ๑ ได้มอบเช็คสั่งจ่ายล่วงหน้าของโจทก์ที่ ๒ ให้จำเลยไว้รวม๕ ฉบับยังไม่ถือว่าจำเลยได้รับค่าที่ดินครบแล้ว จำเลยจึงยังไม่โอนโจทก์ที่ ๑ ซื้อที่ดินเพื่อแบ่งขายเงินผ่อนหรือให้เช่าซื้อ จำเลยได้มอบที่ดินให้โจทก์ที่ ๑ แล้ว โจทก์ที่ ๑ ใช้รถแทร็กเตอร์ไถเกลี่ยดินทับหลักซีเมนต์ที่ปักเป็นเขตเคลื่อนล้มและรุกล้ำที่ดินของนายกริชเป็นเนื้อที่ประมาณ ๖ ไร่ นายกริชฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้นายกริชเป็นเงิน ๑๒,๕๐๐ บาท โจทก์ที่ ๑รับรองด้วยวาจาว่าจะใช้ค่าเสียหายให้จำเลย แต่หาชดใช้ไม่จำเลยได้รับเงินงวดที่ ๑ และ ๒ เท่านั้น โจทก์ที่ ๑ ไม่มีเหตุและไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา จำเลยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต จะถือเป็นเหตุเลิกสัญญาไม่ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเอาค่าที่ดินคืน ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ที่ ๑ ชำระค่าที่ดินที่ค้าง ๑๓๐,๐๐๐ บาทกับค่าเสียหายที่โจทก์ที่ ๑ ทำละเมิดต่อนายกริชอีก ๑๒,๕๐๐ บาทให้จำเลยพร้อมดอกเบี้ย ถ้าไม่สามารถชำระค่าที่ดินก็ให้ส่งมอบที่ดินในสภาพที่ปราศจากข้อผูกพันคืนให้จำเลยริบเงินมัดจำและเงินที่โจทก์ที่ ๑ ชำระแล้ว ถือว่าเป็นค่าเช่า
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ที่ ๒ ออกเช็คชำระราคาที่ดิน จึงมีอำนาจฟ้อง รถแทร็กเตอร์ไถภายในเขตที่จำเลยนำชี้ โจทก์ไม่เคยรับรองออกค่าเสียหายให้นายกริชแทนจำเลย สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาจะซื้อขาย ไม่ใช่สัญญาเช่าซื้อโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทุกโอกาส ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาฟ้อง คำให้การ ฟ้องแย้ง และคำให้การแก้ฟ้องแย้งแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานเสียทั้งสองฝ่าย แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยด้วย
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยคืนเงิน ๑๑๗,๐๐๐ บาท และเช็คให้โจทก์ที่ ๑ ในเมื่อโจทก์ที่ ๑ มอบที่ดินคืนโดยปราศจากภาระผูกพันซึ่งโจทก์ที่ ๑ เป็นผู้ก่อขึ้น ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ที่ ๑ นับแต่โจทก์ที่ ๑ มอบที่ดินคืนโดยปลอดภาระผูกพันแต่หากว่าโจทก์ที่ ๑ ไม่ได้ทำให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินเลยก็ให้ชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้อง ทั้งนี้จนกว่าจะคืนเงินและเช็คเสร็จสิ้น
โจทก์ทั้งสองและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยผู้ขายและโจทก์ที่ ๑ ผู้ซื้อมีข้อความอยู่รวม ๙ ข้อ ความว่า ผู้ขายตกลงขายที่ดินเหมาทั้งแปลงโดยมิได้ระบุจำนวนเนื้อที่เป็นราคารวม ๒๕๐,๐๐๐ บาทผู้ขายมีหน้าที่ต้องไปทำโฉนดให้ตามความประสงค์ของผู้ซื้อและยอมให้ผู้ซื้อเอาโฉนดไปแบ่งแยกได้ ผู้ซื้อวางเงินมัดจำในวันทำสัญญา ๓,๐๐๐ บาทและตกลงจ่ายค่าที่ดินรวม ๕ งวด จะต้องชำระงวดสุดท้ายในวันที่ ๑๐สิงหาคม ๒๕๑๒ ซึ่งตรงกับวันที่ผู้ขายจะไปทำการโอนให้ผู้ซื้อ ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อเข้าครอบครองและจัดการแบ่งขายที่ดินนับแต่วันทำสัญญา หากผู้ขายผิดสัญญายอมให้ปรับสองเท่าราคาขาย ส่วนข้อ ๘ ระบุว่าถ้าผู้ซื้อผิดสัญญาโดยไม่ซื้อที่ดิน ยอมให้ผู้ขายริบเงินมัดจำ สัญญาข้อสุดท้าย ผู้ขายรับรองจะไม่เอา น.ส.๓ หรือโฉนดไปจำนองหรือขายฝากกับผู้อื่น เห็นว่าความในสำเนาหนังสือบอกเลิกสัญญาตามเอกสารท้ายฟ้องอ้างเหตุแตกร้าวที่โจทก์ที่ ๒ ถูกตำรวจจับเรื่องอายัดเช็ค ทั้งหาว่าจำเลยผิดสัญญาไม่สามารถโอนโฉนดให้ได้ในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๑๒ แต่ตามฟ้องโจทก์หาได้กล่าวอ้างตั้งประเด็นว่าจำเลยทำผิดสัญญาแต่ประการใดไม่ กลับอ้างเหตุเลิกสัญญามาใหม่ว่าจำเลยไม่สุจริต พยายามกลั่นแกล้งให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนอับอายโดยถูกพนักงานสอบสวนควบคุมตัว แสดงว่าเหตุเลิกสัญญาไม่ใช่เกิดจากจำเลยทำผิดสัญญาข้อใด ๆ แต่เป็นเพราะโจทก์ไม่พอใจจำเลยจึงไม่ต้องการซื้อเท่านั้น สัญญาข้อ ๘ ระบุว่า ถ้าผู้ซื้อผิดสัญญาโดยไม่ซื้อที่ดินผู้ซื้อยอมให้ผู้ขายริบเงินมัดจำทั้งหมด ความหมายของสัญญาข้อนี้มุ่งประสงค์ถึงเงินมัดจำโดยเฉพาะว่า ถ้าไม่มีการปฏิบัติตามสัญญาเพราะความผิดของโจทก์แล้ว ยอมให้จำเลยริบเงินมัดจำได้ซึ่งเป็นข้อสัญญาที่ให้ถือปฏิบัติไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๗๘ นั่นเองจะแปลความหมายให้เลยไปไกลถึงกับว่า โจทก์แสดงเจตนาไม่ซื้อเท่ากับผิดสัญญาแล้วไม่ได้เพราะจำเลยยังไม่เกิดสิทธิที่จะริบเงินมัดจำ โดยที่โจทก์ยังไม่ได้ทำผิดสัญญาแต่อย่างใด การเลิกสัญญานอกจากจะได้ระบุไว้ชัดในสัญญาว่าให้เลิกกันได้โดยเสรีหรือมีเงื่อนไขอย่างไรแล้วก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๗, ๓๘๘,๓๘๙ และมาตรา ๔๖๖ ฯลฯ สัญญาข้อ ๘ ไม่ได้ให้สิทธิแก่โจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยได้อย่างใดเลย การที่โจทก์บอกปัดเลิกสัญญาเสียตามชอบใจจึงไม่มีผลทำให้สัญญาจะซื้อขายที่ดินต้องระงับ โจทก์จะเรียกเอาเงินค่าที่ดินที่ชำระไปแล้ว รวมทั้งเช็คอีก ๓ ฉบับคืนจากจำเลยโดยอาศัยสิทธิเรียกเงินคืนจากการเลิกสัญญาตามมาตรา ๓๙๑ ไม่ได้ส่วนปัญหาเกี่ยวกับฟ้องแย้งนั้นเห็นว่า สัญญาจะซื้อขายที่ดินเป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งคู่สัญญาจะต้องพร้อมที่จะปฏิบัติตามสัญญาทั้งสองฝ่ายพร้อม ๆ กัน ตามความหมายในมาตรา ๓๖๙ กล่าวคือถ้าจำเลยจะให้โจทก์ชำระค่าที่ดินทั้งหมด จำเลยก็ต้องโอนที่ดินให้โจทก์ได้ในเวลาเดียวกัน จำเลยต้องการให้โจทก์จ่ายเงินหมดก่อนแล้วจะโอนให้ทีหลัง เป็นเรื่องขัดต่อสัญญาดังกล่าว จึงบังคับให้โจทก์ชำระค่าที่ดินที่ค้างไปก่อนทำโอน ตลอดจนส่งมอบที่ดินคืนตามฟ้องแย้งไม่ได้แม้โจทก์ที่ ๑ จะผิดนัดไม่ชำระเงินค่าที่ดินให้ถูกต้องตรงตามงวดที่กำหนดไว้ ตามข้อสัญญาก็มิได้ถือว่า เป็นเรื่องผิดสัญญาแต่อย่างใด
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งของจำเลยไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น