คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3799/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคแรกที่บัญญัติให้เจ้าหนี้เป็นผู้มีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น หมายถึงเจ้าหนี้ผู้ไม่มีอำนาจเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้เท่านั้น ส่วนกรณีตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 10ที่ได้กำหนดไว้เป็นพิเศษให้อธิบดีกรมแรงงานมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ยึด อายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ไม่จ่ายเงินสมทบและหรือเงินเพิ่มได้ กรมแรงงานผู้ร้องจึงเป็นบุคคลผู้มีอำนาจดังกล่าวด้วย โดยมีสิทธิจะบังคับเหนือทรัพย์สินของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 แม้ผู้ร้องจะไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ตาม ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจำเลยยอมจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ ต่อมา จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้ โจทก์จึงนำยึดทรัพย์ของจำเลยขายทอดตลาด กรมแรงงานยื่นคำร้องว่าจำเลยค้างจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนตามกฎหมายแก่ผู้ร้อง ขอให้ผู้ร้องเฉลี่ยทรัพย์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า ผู้ร้องมิได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ให้ยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ได้ความตามคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้ร้องเป็นกรมในรัฐบาลสังกัดกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานกองทุนเงินทดแทนเป็นหน่วยงานหนึ่งของผู้ร้องซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับเงินทดแทนตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ข้อ 2(6) และข้อ 3 จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบกิจการผลิตสิ่งของจากกระดาษซึ่งมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนในแต่ละปีให้แก่ผู้ร้องตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องประเภทขนาดของกิจการและท้องที่ที่นายจ้างจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนข้อ 2 เมื่อ พ.ศ. 2528 ถึง พ.ศ. 2530 ผู้ร้องได้ประเมินเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนในแต่ละปีจำนวนหนึ่งให้จำเลยจ่ายให้แก่ผู้ร้อง และเรียกเก็บจากจำเลยแล้ว แต่จำเลยผิดนัดโดยมิได้จ่ายให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมายื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยในคดีนี้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ผู้ร้องมีสิทธิเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 290 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น หมายถึงเจ้าหนี้ผู้ไม่มีอำนาจเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้เท่านั้น แต่กรณีนี้ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ข้อ 10 ได้กำหนดไว้เป็นพิเศษ โดยให้อธิบดีกรมแรงงานมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ไม่จ่ายเงินสมทบและหรือเงินเพิ่มได้ ผู้ร้องจึงเป็นบุคคลผู้มีอำนาจยึด อายัด หรือขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยได้โดยไม่ต้องนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลก่อน ซึ่งถือว่า ผู้ร้องมีสิทธิที่จะบังคับเหนือทรัพย์สินของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 แม้ผู้ร้องจะมิได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหากข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำร้อง ผู้ร้องก็มีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยได้ ที่ศาลแรงงานกลางสั่งยกคำร้องของผู้ร้องนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น
อนึ่ง เนื่องจากศาลแรงงานกลางยังมิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 และยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดว่า จำเลยค้างจ่ายเงินสมทบให้แก่ผู้ร้องตามคำร้องหรือไม่ เป็นเงินเท่าใดและจำเลยมีทรัพย์สินอื่นพอที่จะชำระหนี้ผู้ร้องหรือไม่ จำเป็นต้องให้ศาลแรงงานกลางดำเนินการให้ถูกต้องก่อน”
พิพากษายกคำสั่งศาลแรงงานกลาง ให้ดำเนินการตามนัยที่กล่าวแล้วมีคำสั่งใหม่

Share