แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำเงินมาชำระค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ส่งมอบหรือส่งของออกจนถึงวันที่นำเงินมาชำระ แต่มิให้เรียกเก็บเงินเพิ่มดังกล่าวในกรณีที่มีการชำระอากรเพิ่มตามมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3” และเมื่อพิจารณาความในมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3 แล้ว เห็นว่า กรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาดและเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบอันเป็นผลให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกต้องชำระอากรเพิ่มเติม แต่ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง นั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมิได้กระทำผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรหรือสำแดงเท็จ แต่ได้สำแดงรายการในใบขนสินค้าขาเข้าหรือขาออกเป็นเหตุให้จำนวนเงินอากรขาดไป เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ความรับผิดของจำเลยในการชำระค่าอากรที่ขาดเกิดจากการที่จำเลยสำแดงเท็จในใบขนสินค้าขาเข้าพิพาท จึงไม่ต้องด้วยกรณีที่ไม่ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มเมื่อมีการชำระอากรเพิ่มตามมาตรา 112 ตรี อนุมาตรา 3
ส่วนที่ศาลภาษีอากรกลางยกคำขอให้ชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าโดยให้เหตุผลวินิจฉัยคดีประการหนึ่งว่า ตามคำฟ้องและแบบแจ้งการประเมินของโจทก์ที่ 1 มิได้เรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้านั้น เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ที่แก้ไขแล้วตอนท้ายได้บรรยายเกี่ยวกับเงินเพิ่มดังกล่าวแล้วว่าจำเลยต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนหรือเศษของเดือนนับตั้งแต่วันตรวจปล่อยคำนวณถึงวันฟ้อง สำหรับแบบแจ้งการประเมินของโจทก์ที่ 1 แม้จะมิได้ระบุจำนวนเงินเพิ่มอากรขาเข้าที่จำเลยจะต้องชำระ แต่ความในมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เรียกเก็บเงินเพิ่มดังกล่าวเมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำเงินมาชำระค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม โดยมิได้บัญญัติให้ความรับผิดในการเสียเงินเพิ่มดังกล่าวเกิดขึ้นจากการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่อันจะต้องระบุไว้ในใบแจ้งการประเมิน ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะมีการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือไม่ ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกก็ต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มดังกล่าว ดังนั้นแม้แบบแจ้งการประเมินของโจทก์ที่ 1 มิได้ระบุจำนวนเงินเพิ่มอากรที่ต้องชำระ จำเลยก็ต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มดังกล่าวโดยผลของกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าภาษีอากรจำนวน 2,406,135.58 บาท และเงินเพิ่มอากรขาเข้าอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากเงินค่าอากรขาเข้าจำนวน 600,699 บาท แก่โจทก์ทั้งสองนับแต่วันตรวจปล่อยจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,611,024 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองประการเดียวว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า กรณีของจำเลยเป็นการตรวจเก็บอากรขาดอันเนื่องมาจากความผิดฐานสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 1 และ 2 มิใช่ตรวจเก็บอากรขาดตามมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3 จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระตามมาตรา 112 จัตวา แม้โจทก์ที่ 1 จะมิได้ระบุในแบบแจ้งการประเมินให้จำเลยชำระเงินเพิ่มดังกล่าวก็ไม่เป็นการตัดสิทธิในการเรียกเก็บเงินเพิ่มส่วนนี้ เนื่องจากการเรียกเก็บเงินเพิ่มตามมาตรา 112 จัตวา ให้เรียกเก็บเมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำเงินมาชำระค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำเงินมาชำระค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระโดยไม่คิดทบต้น นับแต่วันที่ได้ส่งมอบหรือส่งของออกจนถึงวันที่นำเงินมาชำระ แต่มิให้เรียกเก็บเงินเพิ่มดังกล่าวในกรณีที่มีการชำระอากรเพิ่มตามมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3” ซึ่งมาตรา 102 ตรี บัญญัติว่า “ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งจ่ายเงินสินบนและรางวัลตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีในกรณีต่อไปนี้
1. ความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากร หรือของต้องห้าม ต้องกำกัดในการนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ให้หักจ่ายเป็นเงินสินบนและรางวัลร้อยละ 55 จากเงินค่าขายของกลาง แต่ในกรณีที่มิได้ริบของกลาง หรือของกลางไม่อาจจำหน่ายได้ให้หักจ่ายจากเงินค่าปรับ ส่วนรายที่ไม่มีผู้แจ้งความนำจับ ให้หักจ่ายเป็นเงินรางวัลร้อยละ 30
2. ความผิดฐานสำแดงเท็จ ให้หักจ่ายเป็นเงินสินบนและรางวัลร้อยละ 55 จากเงินค่าปรับ แต่ในรายที่ไม่มีผู้แจ้งความนำจับ ให้หักจ่ายเป็นเงินรางวัลร้อยละ 30
3. กรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาดและเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบ เป็นผลให้เรียกอากรเพิ่มเติมได้ ให้จ่ายเงินรางวัลร้อยละ 10 ของเงินอากรที่กรมศุลกากรเรียกเก็บเพิ่มเติมได้” เมื่อพิจารณาความในมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3 แล้ว เห็นว่า กรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาดและเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบอันเป็นผลให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกต้องชำระอากรเพิ่มเติม แต่ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง นั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมิได้กระทำความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรหรือสำแดงเท็จ แต่ได้สำแดงรายการในใบขนสินค้าขาเข้าหรือใบขนสินค้าขาออก เป็นเหตุให้จำนวนเงินอากรขาดไป เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ความรับผิดของจำเลยในการชำระค่าอากรที่ขาดเกิดจากการที่จำเลยสำแดงเท็จในใบขนสินค้าขาเข้าพิพาท จึงไม่ต้องด้วยกรณีที่ไม่ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มเมื่อมีการชำระอากรเพิ่มตามมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3 ส่วนที่ศาลภาษีอากรกลางให้เหตุผลในการวินิจฉัยคดีอีกประการหนึ่งว่า ตามคำฟ้องและแบบแจ้งการประเมิน โจทก์ที่ 1 มิได้เรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้านั้น เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ที่แก้ไขแล้วตอนท้ายได้บรรยายเกี่ยวกับเงินเพิ่มดังกล่าวแล้วว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนหรือเศษของเดือนนับแต่วันตรวจปล่อยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 795,111.58 บาท สำหรับแบบแจ้งการประเมินแม้จะมิได้ระบุจำนวนเงินเพิ่มอากรขาเข้าที่จำเลยจะต้องชำระ แต่ความในมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เรียกเก็บเงินเพิ่มดังกล่าวเมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำเงินมาชำระค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม โดยมิได้บัญญัติให้ความรับผิดในการเสียเงินเพิ่มดังกล่าวเกิดขึ้นจากการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่อันจะต้องระบุไว้ในแบบแจ้งการประเมิน ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะมีการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือไม่ ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกก็ต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนหรือเศษของเดือนของค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่มนับแต่วันที่ได้ส่งมอบหรือส่งของออกจนถึงวันที่นำเงินมาชำระ เว้นแต่กรณีที่มีการชำระอากรเพิ่มตามมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3 ดังนั้น แม้แบบแจ้งการประเมินภาษีที่พิพาทจะมิได้ระบุจำนวนเงินเพิ่มอากรที่จำเลยต้องชำระ จำเลยก็ต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มดังกล่าวโดยผลของกฎหมาย ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนเศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน จากต้นเงินอากรขาเข้าจำนวน 17,493 บาท นับแต่วันที่ 14 เมษายน 2538 จำนวน 24,600 บาท นับแต่วันที่ 17 เมษายน 2538 จำนวน 134,704 บาท นับแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2538 จำนวน 183,245 บาท นับแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2538 จำนวน 15,245 บาท นับแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2538 จำนวน 31,648 บาท นับแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2538 จำนวน 183,468 บาท นับแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2538 และจำนวน 10,296 บาท นับแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2538 จนถึงวันที่นำเงินมาชำระแก่โจทก์ทั้งสอง แต่เงินเพิ่มดังกล่าวเมื่อคำนวณถึงวันฟ้องรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 795,111.58 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.