คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8367/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สำหรับข้อหาที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 25 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 238 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 แต่เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลภาษีอากรกลางฟังมาดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงเดียวกันกับข้อหาอื่นที่มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันเกินกว่า 50,000 บาท ซึ่งไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง และทุกข้อหาตามฟ้องเกิดจากการที่โจทก์ได้รับเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับพิพาทเพียงฉบับเดียว แต่โจทก์ได้รับเงินเป็นงวดๆ และถูกประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นรายเดือนที่ได้รับเงินมาและถูกประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามปีภาษีที่ได้รับเงินมานั้น หากโจทก์ผู้ถูกเรียกเก็บภาษีไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้โจทก์ต้องเสียภาษีดังกล่าว ย่อมเป็นการประเมินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งปัญหาว่าบุคคลใดต้องเสียภาษีหรือได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยให้โจทก์ต้องเสียภาษีโดยรับฟังข้อเท็จจริงผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวนและเป็นกรณีที่โจทก์อุทธรณ์ข้อเท็จจริงเดียวกันนั้นได้สำหรับข้อหาที่ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจึงมีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่แทนข้อเท็จจริงที่ศาลภาษีอากรกลางรับฟังมาสำหรับข้อหาที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงนั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 246 และ 142 (5) ประกอบพ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29
โจทก์กับ ส. ตกลงเป็นหุ้นส่วนซื้อที่ดิน ต่อมา จ. สามีของ ส. จดทะเบียนซื้อขายที่ดินดังกล่าวและนำที่ดินนั้นไปจดทะเบียนจำนองโดยไม่ปรากฏว่า จ. เป็นตัวแทนของโจทก์และ ส. แต่อย่างใด ต่อมาโจทก์กับ ส. ขัดแย้งกันในการดำเนินงานหุ้นส่วน โจทก์กับ ส. ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความยกเลิกห้างหุ้นส่วนโดยตกลงคืนเงินทุนของโจทก์ เงินที่โจทก์ได้รับมาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวเป็นเงินทุนของโจทก์เอง มิใช่ค่าตอบแทนการโอนสิทธิการเป็นหุ้นส่วนซึ่งจะถือได้ว่าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ส่วนของที่ดินให้แก่ ส. จึงมิใช่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่ง ป.รัษฎากร และมิใช่รายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง ป.รัษฎากร ซึ่งจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีธุรกิจเฉพาะตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 12) เลขที่ 4610010/1/100565 และเลขที่ 4610010/1/10568 (ที่ถูก 100568) และเลขที่ 4610010/1/10567 (ที่ถูก 100567) ทุกฉบับลงวันที่ 29 มิถุนายน 2542 และขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ภ.ส.7) เลขที่ อน/0013/2545 เลขที่ อน/0014/2545 และเลขที่ อน/0015/2545 ให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ. 73.1) เลขที่ 4610010/6/100015 ถึง 100021 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2542 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ภ.ส.7) เลขที่ อน/0016/2545 (ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2545) งดหรือลดเงินเพิ่มตามหนังสือแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ทั้งหมดแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความให้ 6,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เงินจำนวน 1,100,000 บาท ที่โจทก์ได้รับคืนจากนางสุจิตราตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ และเป็นเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรหรือไม่ ซึ่งในเบื้องต้นเห็นว่า ปรากฏจากคำฟ้องของโจทก์ว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะเดือนภาษีสิงหาคม 2537 ถึงกุมภาพันธ์ 2538 รวม 7 เดือนภาษี แต่ละเดือนภาษีมีจำนวนภาษีธุรกิจเฉพาะและเงินเพิ่มรวมไม่เกิน 50,000 บาท แต่ละเดือนภาษีมีจำนวนเงินแยกออกจากกันได้ จึงมีสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับแตกต่างกัน แต่ละเดือนภาษีจึงมีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันไม่เกิน 50,000 บาท และสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2538 (ครึ่งปี) และปีภาษี 2538 (เต็มปี) ก็มีจำนวนทุนทรัพย์พิพาทรวมกันไม่เกิน 50,000 บาท ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลภาษีอากรได้ทำความเห็นแย้งไว้ หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ หรือถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 25 โจทก์อุทธรณ์ว่า เงินจำนวน 1,100,000 บาท ตามที่โจทก์ได้รับมาจากหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความโดยรับมาในปี 2537 และ 2538 เป็นเงินส่วนของโจทก์ที่จ่ายไปในการเป็นหุ้นส่วนกับนางสุจิตราจึงไม่เป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและไม่เป็นเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงอุทธรณ์ได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายและศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 โดยศาลภาษีอากรกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ปรากฏตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2533 เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 152 ว่า โจทก์และนายเจริญตกลงร่วมกันซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 1023, 10432 และ 14480 ในราคา 1,400,000 บาท จากนายเสริมและนางแป๊วต่อมาวันที่ 13 พฤษภาคม 2534 นายเสริมและนางแป๊วได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์และนายเจริญตามภาพถ่ายโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 153 ถึง 160 โดยมีนายเจริญเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนแต่ผู้เดียว ทั้งนี้เป็นไปตามคำให้การของโจทก์และนายเจริญซึ่งให้การต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากรของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 134 ถึง 135 และ 165 ถึง 166 ส่วนที่ปรากฏในเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 135 ว่า นายเจริญได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสามแปลงจากผู้ขายโดยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์จึงไปสอบถามนายเจริญและเกิดการเข้าใจผิดกัน ทำให้โจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลจังหวัดอุทัยธานี โดยฟ้องนายเจริญในข้อหาร่วมกันซื้อที่ดิน แต่นายเจริญมีชื่อถือกรรมสิทธิ์เพียงคนเดียว ก็ไม่ทำให้การรวมหุ้นซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวยกเลิกสิ้นสุดลงแต่อย่างใด และถึงแม้นายเจริญใส่ชื่อตนถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสามแปลงแต่ผู้เดียว การเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์ดังกล่าวก็ไม่หมดไป ต่อมาวันที่ 17 สิงหาคม 2537 โจทก์และนางสุจิตราได้ทำหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีหมายเลขดำที่ 476/2535 ของศาลจังหวัดอุทัยธานี โดยบันทึกสัญญาประนีประนอมยอมความว่า โจทก์ได้รับชำระค่าตอบแทนจำนวน 1,100,000 บาท จากการที่โจทก์โอนสิทธิการเป็นหุ้นส่วนที่ดินโฉนดทั้งสามแปลงดังกล่าว และหนี้สินอื่น ๆ อันเกิดจากการเป็นหุ้นส่วนในการซื้อที่ดินให้แก่นางสุจิตรา ตามภาพถ่ายหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 164 และคำพิพากษาตามยอมเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 169 แล้ววินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ได้รับค่าตอบแทนการโอนสิทธิการเป็นหุ้นส่วนดังกล่าวตามภาพถ่ายใบรับเงินเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 122 ถึง 127 เงินตอบแทนการโอนสิทธิจำนวนดังกล่าวถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่โจทก์ต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์และเงินได้จากการโอนสิทธิการเป็นหุ้นส่วนซึ่งก็คือโอนสิทธิส่วนของโจทก์ในที่ดินสามแปลงดังกล่าว จึงเป็นการขายตามมาตรา 91/1 (4) แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าว จึงเข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 3 (6) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 โจทก์จึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร นั้น แต่อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงที่ศาลภาษีอากรกลางฟังมาดังกล่าว เป็นข้อเท็จจริงเดียวกันกับที่ต้องวินิจฉัยสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2537 (ครึ่งปี) และปีภาษี 2537 ซึ่งมีจำนวนทุนทรัพย์พิพาท 57,282.56 บาท และไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ประกอบกับมูลคดีพิพาทในกรณีภาษีธุรกิจเฉพาะตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะทุกเดือนภาษี และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2538 (ครึ่งปี) และปีภาษี 2538 ก็เกิดจากการที่โจทก์ได้รับเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับพิพาทเพียงฉบับเดียว แต่โจทก์ได้รับเงินเป็นงวด ๆ และถูกประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นรายเดือนที่ได้รับเงินมาและถูกประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามปีภาษีที่ได้รับเงินนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า หากโจทก์ผู้ถูกเรียกเก็บภาษีไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีธุรกิจเฉพาะตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้โจทก์ต้องเสียภาษีดังกล่าว ย่อมเป็นการประเมินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งปัญหาว่าบุคคลใดต้องเสียภาษีหรือได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยให้โจทก์ต้องเสียภาษีโดยรับฟังข้อเท็จจริงผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวนและเป็นกรณีที่โจทก์อุทธรณ์ข้อเท็จจริงเดียวกันนั้นได้สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2537 (ครึ่งปี) และภาษี 2537 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจึงมีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่แทนข้อเท็จจริงที่ศาลภาษีอากรกลางรับฟังมาสำหรับภาษีธุรกิจเฉพาะรายพิพาทและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2538 (ครึ่งปี) และภาษี 2538 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 และ 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 โดยเห็นว่า คดีนี้โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า นางสุจิตราใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงให้โจทก์นำเงินที่เก็บออมไว้มาร่วมเป็นหุ้นส่วนคนละครึ่งในการซื้อที่ดินดังกล่าวทั้งสามแปลง ในราคา 1,400,000 บาท ซึ่งโจทก์หลงเชื่อจึงตกลงที่จะร่วมหุ้นซื้อที่ดินด้วย แต่นางสุจิตราไม่มีเจตนาให้โจทก์ร่วมเป็นหุ้นส่วนตั้งแต่ต้น โดยให้นายเจริญมาเข้าชื่อร่วมทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวกับหลอกลวงโจทก์ให้โจทก์จ่ายเงินค่าที่ดินในงวดแรก ส่วนนางสุจิตราจ่ายในงวดหลัง เพื่อความสะดวกในการจดทะเบียนรับโอนที่ดินดังกล่าวให้นายเจริญเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว ซึ่งต่อมานายเจริญได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสามแปลงเพียงผู้เดียวโดยโจทก์ไม่ได้ยินยอมหรือรู้เห็น วันรุ่งขึ้นนายเจริญนำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองโดยโจทก์ไม่ทราบเรื่อง การที่นายเจริญจดทะเบียนรับโอนที่ดินทั้งสามแปลงเพียงคนเดียว ทำให้โจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินทั้งสามแปลงในฐานะเจ้าของรวมแต่อย่างใด และมีนายศุภชัยทนายความของโจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ 476/2535 ของศาลจังหวัดอุทัยธานี เป็นพยานเบิกความว่า พยานได้สอบข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า นางสุจิตราไม่มีเจตนาเข้าหุ้นกับโจทก์ แต่เป็นการหลอกลวง พยานแนะนำให้โจทก์ไปร้องทุกข์ตามภาพถ่ายรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 1 ต่อมาโจทก์และนางสุจิตรากับนายเจริญไปที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองอุทัยธานี แจ้งว่ามาทำความตกลงตามที่นัดไว้ตามรายงานประจำวัน โดยฝ่ายโจทก์ทำค่าใช้จ่ายรวม 5 รายการ รวมเป็นเงิน 1,1800,000 บาท ฝ่ายนางสุจิตรากับนายเจริญมีรายจ่าย 6 รายการ รวมเป็นเงิน 1,059,440 บาท ฝ่ายนายเจริญและนางสุจิตราไม่ยอมรับค่าใช้จ่ายของโจทก์อันดับที่ 5 ซึ่งเป็นการชำระเงินให้ผู้ใหญ่แววจำนวน 80,000 บาท คู่กรณีจึงตกลงกันไม่ได้ ต่อมาพยานเป็นทนายความให้โจทก์ฟ้องนางสุจิตราเป็นจำเลยฐานลาภมิควรได้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ 476/2535 ของศาลจังหวัดอุทัยธานี โดยยื่นฟ้องตามภาพถ่ายคำฟ้องเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 16 ถึง 31 ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาอ้างว่า โจทก์กับนางสุจิตราเป็นหุ้นส่วนร่วมกันซื้อที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าว เรียกค่านายหน้าและดอกเบี้ยจากนางสุจิตรา นางสุจิตราได้ให้การและฟ้องแย้งตามคำให้การและฟ้องแย้งเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 27 ถึง 30 ซึ่งนางสุจิตรายอมรับว่า โจทก์กับนางสุจิตราเป็นหุ้นส่วนกัน ได้ตกลงออกค่าใช้จ่ายคนละครึ่งเพื่อซื้อที่ดินและพัฒนาที่ดินดังกล่าว ฝ่ายใดมีเงินก็ทดรองจ่ายไปก่อน ฝ่ายใดไม่มีเงินในขณะนั้นจะหามาทดแทนให้ภายหลัง ต่อมาได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้งสามแปลงกับเจ้าของที่ดิน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร เห็นว่า ตามคำให้การและฟ้องแย้งของนางสุจิตราไม่เคยกล่าวว่า นายเจริญร่วมกับโจทก์เป็นหุ้นส่วนซื้อขายที่ดินแต่อย่างใด และไม่ปรากฏว่านายเจริญทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสามแปลงแทนโจทก์และนางสุจิตราซึ่งตกลงเป็นหุ้นส่วนกัน พยานหลักฐานของจำเลยคงมีเพียงบันทึกคำให้การของโจทก์และนายเจริญซึ่งให้การต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากรของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 134 ถึง 135 และ 165 ถึง 166 ตามลำดับ ตามคำให้การของโจทก์เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 135 มีข้อความว่า โจทก์ฟ้องคดีนายเจริญ ซึ่งขัดแย้งกับคำฟ้องของโจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ 476/2535 ของศาลจังหวัดอุทัยธานีและคำให้การและฟ้องแย้งของนางสุจิตราดั่งได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จำเลยไม่ได้นำนางสุจิตราและนายเจริญมาเบิกความต่อศาล บันทึกคำให้การของนายเจริญดังกล่าวเป็นเพียงพยานบอกเล่า แม้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่า เป็นการชำระค่าตอบแทนในการที่โจทก์โอนสิทธิในการเป็นหุ้นส่วนในการขายที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวให้แก่นางสุจิตราและหนี้สินอื่น ๆ อันเกิดจากการเป็นหุ้นส่วนในการซื้อที่ดินดังกล่าว แต่โจทก์มีนายศุภชัยเป็นพยานเบิกความว่า เงินจำนวน 1,100,000 บาท ซึ่งนางสุจิตราตกลงชำระคืนตามสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อต้องการให้ระงับทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาและเพื่อให้มีผลบังคับได้ ซึ่งจำนวนเงิน 1,100,000 บาท ตามหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นจำนวนเท่ากันกับจำนวนเงินที่โจทก์กับนางสุจิตราและนายเจริญรับกันที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองอุทัยธานี ตามภาพถ่ายรายงานประจำวันเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 2 และ 3 ดังนั้นคำเบิกความของนายศุภชัยมีเหตุผลน่าเชื่อ เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นหุ้นส่วนกับนางสุจิตรา และการที่นายเจริญรับโอนที่ดินทั้งสามแปลง ตลอดจนการนำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเป็นเรื่องเฉพาะตัวของนายเจริญ นายเจริญมิได้เป็นตัวแทนของโจทก์และนางสุจิตราแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อโจทก์กับนางสุจิตราเกิดความขัดแย้งในการดำเนินงานหุ้นส่วน จึงถือว่าการทำสัญญาประนีประนอมยอมความข้างต้นเป็นการยกเลิกห้างหุ้นส่วนโดยตกลงให้คืนเงินทุนของโจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับนางสุจิตราซึ่งเป็นหุ้นส่วนกัน เงินจำนวน 1,100,000 บาท ที่โจทก์ได้รับตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวเป็นเงินลงทุนของโจทก์เอง ซึ่งนางสุจิตราคืนให้ มิใช่ค่าตอบแทนการโอนสิทธิการเป็นหุ้นส่วนซึ่งจะถือได้ว่าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ส่วนของที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวให้แก่นางสุจิตรา จึงมิใช่เงินได้พึงประเมินของโจทก์ที่จะต้องนำมายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและมิใช่เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหากำไรซึ่งจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แต่อย่างใด การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่ชอบ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 12) เลขที่ 4610010/1/100565 และเลขที่ 4610010/1/100567 ถึง 100568 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2542 และเพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ. 73.1 ) เลขที่ 4610010/6/100015 ถึง 100021 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2542 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ (ภ.ส.7) เลขที่ อน/0013 ถึง 0016/2545 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2545 ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท.

Share