คำวินิจฉัยที่ 15/2549

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๕/๒๕๔๙

วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๙

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองเชียงใหม่
ระหว่าง
ศาลจังหวัดเชียงใหม่

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองเชียงใหม่โดยสำนักงานศาลปกครองส่งความเห็นให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจของศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๘ นางนงลักษณ์ ถาวดี ที่ ๑ นางวิวัชรินทร์ ถาวดี ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลหนองหอย ที่ ๑ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต ๑ (ภาคเหนือ) จังหวัดเชียงใหม่ ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๘๑/๒๕๔๘ ความว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๐๙๕ เลขที่ดิน ๑๔๗๗ ตำบลหนองหอย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๒ กำนันตำบลหนองหอย พร้อมด้วยเจ้าของที่ดินข้างเคียงที่ดินของผู้ฟ้องคดีและเจ้าหน้าที่ของอำเภอเมืองเชียงใหม่ ขอให้ผู้ฟ้องคดีบริจาคที่ดินเพื่อเป็นทางสาธารณะเข้าสู่ที่ดินและที่อยู่อาศัยบริเวณนั้น โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่า เจ้าของที่ดินทุกแปลงที่ถนนตัดผ่านจะต้องยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะโดยมีความกว้างของถนนที่หักแบ่งให้เป็นทางสาธารณะคนละ ๒ เมตร เท่าๆ กัน และมีความยาวตลอดแนวความยาวของที่ดินแต่ละแปลง ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งสองตกลงยินยอมสละที่ดินด้านทิศตะวันตก ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ผู้ฟ้องคดีได้ขอรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินผลการรังวัดทำให้ทราบว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ได้สร้างถนนและปักเสาพาดสายไฟฟ้าตามข้อตกลงข้างต้น กล่าวคือ ถนนคอนกรีตของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตลอดจนเสาและสายไฟฟ้าของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งหมดซึ่งการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย อันเป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและสิ่งของอื่นใดที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำบนที่ดินของผู้ฟ้องคดี ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าที่ดินในส่วนที่รุกล้ำและชดเชยความเสียหายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจำนวน ๗๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซื้อที่ดินส่วนที่เป็นถนนและที่ดินส่วนที่ได้รับผลกระทบหากไม่มีวิธีการแก้ไขด้วยวิธีการใดๆ ในราคา ๗๐๐,๐๐๐ บาท
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ได้กระทำละเมิด เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสร้างถนนที่พิพาทมาแต่แรก การก่อสร้างถนนได้เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ขณะที่ยังมิได้ยกฐานะสภาตำบลหนองหอยเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลหนองหอย เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๓๔ กำนันตำบลหนองหอยในขณะนั้นได้รับแจ้งความจำนงยินยอมสละที่ดินยกให้เป็นถนนสาธารณประโยชน์ (ถนนดิน) โดยเจ้าของที่ดินแต่ละแปลงได้ทำบันทึกการตกลงยินยอมสละที่ดินเพื่อการดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรคิดเป็นความกว้างของถนนที่หักแบ่งให้เป็นทางสาธารณะคนละ ๒ เมตร เท่าๆ กัน และมีความยาวตลอดแนวความยาวของที่ดินแต่ละแปลง แต่ได้ตรวจสอบพบว่าผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และสามีซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทในขณะนั้น ได้แสดงความจำนงยินยอมสละที่ดินด้านตะวันตกเพื่อเป็นถนนสาธารณะประโยชน์ ความกว้างและความยาวของที่ดินมิได้ระบุ แต่ได้ตกลงยกให้ตามที่คณะกรรมการหมู่บ้านเห็นชอบ และในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ทางหมู่บ้านได้รับการจัดสรรงบประมาณผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อดำเนินการก่อสร้างถนนดังกล่าวเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยสร้างตามแนวถนนเดิมที่มีการตกลงยินยอมสละที่ดินเพื่อเป็นทางสาธารณะ ประกอบกับการก่อสร้างถนนได้กำหนดแนวถนนให้ตรงกับสะพานข้ามลำเหมืองพญาคำซึ่งมีอยู่เดิมโดยไม่ทราบแนวเขตของโฉนดแต่ละแปลง งบประมาณในการก่อสร้างดังกล่าวได้จัดสรรโดยตรงสู่หมู่บ้าน มิได้ผ่านองค์การบริหารส่วนตำบลหนองหอยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ในฐานะผู้รับมรดกจากนายดวงคำ ถาวดี สามีของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้ยินยอมบริจาคหรือสละที่ดินส่วนหนึ่งด้านทิศตะวันตกเพื่อให้เป็นถนนสาธารณะใช้ประโยชน์ร่วมกันความยาวตามกรรมการหมู่บ้านเห็นชอบ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ก็ได้ปักเสาพาดสายลงบนทางสาธารณะดังกล่าวตามเจตนาและวัตถุประสงค์ของกรรมการหมู่บ้าน ผู้ร่วมบริจาครายอื่นรวมถึงผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับทราบเหตุในคดีนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ จนถึงปัจจุบัน เมื่อนับเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งเป็นปีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองบริจาคให้เป็นทางสาธารณะ และปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ซึ่งเป็นปีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ทำการปักเสาพาดสายไฟฟ้ามาตามทางสาธารณะที่มีผู้บริจาคดังกล่าวข้างต้นตามแนวที่มีอยู่แต่เดิมโดยสุจริตเป็นเวลาเกิน ๑๐ ปีแล้ว ที่ดินบริเวณนี้จึงตกเป็นภาระจำยอมโดยอายุความ ประกอบกับผู้ฟ้องคดีทั้งสองก็ได้รับทราบภาระจำยอมดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นโดยมิได้ทักท้วงแต่ประการใด จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ทำการสำรวจเพื่อให้บริการแก่ประชาชนในบริเวณดังกล่าวเพื่อให้เป็นมาตรฐานและความปลอดภัยตามระเบียบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงประสานงานกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพื่อขอชี้แนวเขตของถนนสาธารณะเพื่อจะดำเนินการปักเสาไฟฟ้า ซึ่งแนวถนนดังกล่าวเป็นที่ดินแปลงพิพาทในคดีนี้ เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ทราบจากการชี้แนวเขตจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ว่าเป็นทางสาธารณะที่ประชาชนที่อยู่บริเวณดังกล่าวใช้ร่วมกัน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงทำการปักเสาและพาดสายไฟฟ้าเพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในบริเวณนั้นจำนวน ๑ ต้น ส่วนเสาไฟฟ้าอีก ๒ ต้น ตามผังการรุกล้ำที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีได้แนบท้ายคำฟ้องมา มิใช่เป็นเสาไฟฟ้าของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แต่อย่างใด อนึ่ง ปัจจุบันผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ทำความตกลงกับผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ในเรื่องรุกล้ำที่ดิน โดยทำการย้ายเสาไฟฟ้าออกจากที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าที่ดินจำนวน ๗๐๐,๐๐๐ บาท ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า ได้ปักเสาไฟฟ้าอยู่ในตำแหน่งขอบทางสาธารณะซึ่งมิใช่ที่ดินของผู้ฟ้องคดี และตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ปักเสาไฟฟ้ารุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีจำนวน ๓ ต้น นั้น ตามข้อเท็จจริงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ปักเสาและพาดสายอยู่ในขอบทางสาธารณะเพียง ๑ ต้น ส่วนเสาไฟฟ้าต้นอื่นๆ มิใช่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ หากผู้ฟ้องคดีจะคิดค่าเสียหายในการใช้ที่ดินก็คิดเป็นเงินไม่เกิน ๒๐๐ บาท และขอปฏิเสธที่จะซื้อที่ดินพิพาทตามคำขอท้ายฟ้องของผู้ฟ้องคดี เพราะมิใช่วัตถุประสงค์ที่มุ่งหมายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คำฟ้องคดีนี้เป็นการเรียกค่าผลประโยชน์ในการใช้ที่ดินและเป็นเรื่องเกี่ยวกับละเมิดทางแพ่งซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับการใช้ที่ดินระหว่างผู้ฟ้องคดีทั้งสองและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม
ศาลปกครองเชียงใหม่เห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าถนนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ก่อสร้างเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดีผิดจากข้อตกลง ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ปักเสาไฟฟ้าเข้ามาในถนนดังกล่าว การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายจึงนำคดีฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการแก้ไขความเดือดร้อนเสียหายและชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครองที่มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๖๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ที่จะต้องจัดให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำและทางบก การจัดให้มีถนนจึงเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นหน่วยงานทางปกครองมีอำนาจหน้าที่ในการสร้างและบำรุงรักษาซึ่งระบบการส่งพลังงานไฟฟ้าตามหมวด ๓ แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ การตั้งเสาไฟฟ้าเพื่อส่งพลังงานไฟฟ้าจึงเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เมื่อเป็นคดีพิพาทระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองกับผู้ฟ้องคดี อันเกี่ยวกับการกระทำตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายได้กำหนดไว้ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายซึ่งมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และตามมาตรา ๗๒ แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันได้กำหนดว่า ในกรณีที่มีการฟ้องเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ศาลปกครองมีอำนาจที่จะกำหนดคำบังคับได้โดยการสั่งให้ใช้เงินหรือให้ส่งมอบทรัพย์สินหรือให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทที่เกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามนัยมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดเชียงใหม่เห็นว่า คำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ฟังได้ด้วยว่าผู้ถูกฟ้องคดี ๑ ยกข้อต่อสู้ขึ้นว่า สามีของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทในขณะนั้นได้ยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะแล้ว ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การโต้แย้งว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นทางสาธารณะ มิฉะนั้นตกเป็นภาระจำยอมโดยอายุความ ดังนั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรือเป็นทางสาธารณะ หากเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ที่ดินพิพาทเป็นภาระจำยอมโดยอายุความหรือไม่ ซึ่งเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์และสิทธิในทรัพย์สินซึ่งจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นราษฎร ยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลหนองหอยและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต ๑ (ภาคเหนือ) จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๐๙๕ เลขที่ดิน ๑๔๗๗ ตำบลหนองหอย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองพร้อมด้วยเจ้าของที่ดินข้างเคียง กำนันตำบลหนองหอย และเจ้าหน้าที่ของอำเภอเมืองเชียงใหม่ ได้ทำข้อตกลงร่วมกันบริจาคที่ดินเพื่อเป็นทางสาธารณะเข้าสู่ที่ดินและที่อยู่อาศัยบริเวณนั้น โดยเจ้าของที่ดินทุกแปลงที่ถนนตัดผ่านตกลงยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะโดยมีความกว้างของถนนที่หักแบ่งให้เป็นทางสาธารณะคนละ ๒ เมตร เท่าๆ กัน ความยาวตลอดแนวความยาวของที่ดินแต่ละแปลง ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งสองตกลงยินยอมสละที่ดินด้านทิศตะวันตก แต่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองทราบว่าการก่อสร้างถนนผิดไปจากข้อตกลง ถนนคอนกรีตของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตลอดจนเสาและสายไฟฟ้าของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งหมด ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นการกระทำละเมิด ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและสิ่งของอื่นใดที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำบนที่ดินของผู้ฟ้องคดีให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าที่ดินในส่วนที่รุกล้ำและชดเชยความเสียหายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นหรือให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซื้อที่ดินส่วนที่เป็นถนนและที่ดินส่วนที่ได้รับผลกระทบ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่าไม่ได้กระทำละเมิดเพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสร้างถนนที่พิพาท แต่ตรวจสอบแล้วพบว่าในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และสามีซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทในขณะนั้น ได้แสดงความจำนงยินยอมสละที่ดินด้านตะวันตกของที่ดินเพื่อเป็นถนนสาธารณประโยชน์ ความกว้างและความยาวมิได้ระบุ แต่ตกลงยกให้ตามที่กรรมการหมู่บ้านเห็นชอบ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นภาระจำยอมโดยอายุความ เนื่องจากผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ได้ยินยอมบริจาคหรือสละที่ดินส่วนหนึ่งด้านทิศตะวันตกเพื่อให้เป็นถนนสาธารณะ ความยาวตามกรรมการหมู่บ้านเห็นชอบตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ และในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ทำการปักเสาพาดสายลงบนทางสาธารณะที่มีผู้บริจาคตามแนวที่มีอยู่แต่เดิมโดยสุจริตเป็นเวลาเกิน ๑๐ ปีแล้ว โดยผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับทราบเหตุในคดีนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ จนถึงปัจจุบัน ประกอบกับผู้ฟ้องคดีทั้งสองก็ได้รับทราบภาระจำยอมดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นโดยมิได้ทักท้วงแต่ประการใด จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ สำหรับการปักเสาและพาดสายไฟฟ้าเพื่อให้บริการแก่ประชาชนบริเวณดังกล่าว เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ดำเนินการปักเสาไฟฟ้าจำนวน ๑ ต้น ตามแนวเขตที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชี้ว่าเป็นทางสาธารณะ อย่างไรก็ตาม ภายหลังมีการฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ย้ายเสาไฟฟ้าของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จำนวน ๑ ต้น ออกจากที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองเรียบร้อยแล้ว ส่วนเสาไฟฟ้าอีก ๒ ต้น ตามผังการรุกล้ำที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีได้แนบท้ายคำฟ้องมา มิใช่เป็นเสาไฟฟ้าของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นกรณีที่ยังมีการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน และผู้ฟ้องคดีทั้งสองมุ่งประสงค์ให้ศาลมีคำพิพากษารับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินเป็นสำคัญ การที่จะพิจารณาว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำละเมิดหรือไม่ จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเพียงใด ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางนงลักษณ์ ถาวดี ที่ ๑ นางวิวัชรินทร์ ถาวดี ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี องค์การบริหารส่วนตำบลหนองหอย ที่ ๑ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต ๑ (ภาคเหนือ) จังหวัดเชียงใหม่ ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ชาญชัย ลิขิตจิตถะ (ลงชื่อ) วิชัย วิวิตเสวี
(นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) (นายวิชัย วิวิตเสวี)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share