แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.รัษฎากรมิได้บัญญัติว่า การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรหมายความว่าอย่างไร จึงต้องถือความหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 608 และมาตรา 610 จากบทบัญญัติดังกล่าว การให้บริการขนส่งจึงหมายถึงการรับขนส่งของหรือคนโดยสารจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเพื่อบำเหน็จคือค่าระวางพาหนะเป็นทางค้าปกติของผู้ขนส่ง ฉะนั้น หากบำเหน็จที่ได้รับมิใช่ค่าระวางพาหนะแล้ว การให้บริการนั้นก็ไม่ถือเป็นการให้บริการขนส่ง ซึ่งค่าระวางพาหนะจะมากหรือน้อยย่อมขึ้นอยู่กับระยะทาง ความยากง่ายและระยะเวลาขนส่งเป็นสำคัญ เมื่อบำเหน็จที่โจทก์ได้รับจากลูกค้าเป็นค่าตอบแทนการที่โจทก์ส่งพนักงานไปส่งเอกสารให้ลูกค้าตามที่ลูกค้าสั่ง เป็นค่าตอบแทนที่โจทก์ได้รับเป็นรายเดือนจำนวนแน่นอนตามที่ตกลงในสัญญาจ้างบริการโดยมิได้คำนึงถึงระยะทาง ความยากง่ายและระยะเวลาขนส่งในแต่ละคราวเป็นสำคัญ ค่าบำเหน็จที่โจทก์ได้รับจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นค่าระวางพาหนะ การให้บริการของโจทก์ในลักษณะดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นการให้บริการขนส่งอันจะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 81 (1) (ณ) แม้จะเป็นการให้บริการในราชอาณาจักรก็ตาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 73.1) เลขที่ 1002071/5/103345 ถึง 1002071/5/103368 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ สภ. 1 (อธ. 3)/107/2547 ถึง สภ. 1 (อธ. 3)/130/2547 ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 5,021,305.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 4,656,170.94 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2546 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีหนังสือแจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีมกราคม 2543 ถึงธันวาคม 2544 รวมเป็นเงิน3,282,402.11 บาท เบี้ยปรับรวม 6,775,950.20 บาท และเงินเพิ่มรวม 1,373,780.39 บาท รวมค่าภาษีอากรทั้งสิ้น 11,432,132.70 บาท อ้างว่าการให้บริการของโจทก์อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์ชำระค่าภาษีอากรดังกล่าวแต่อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ว่าการให้บริการของโจทก์เป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าการประเมินชอบแล้ว แต่งดเบี้ยปรับจำนวน 6,775,950.20 บาท แก่โจทก์ คงให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม 3,282,402.11 บาท และเงินเพิ่ม 1,373,780.39 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,656,182.50 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงฟ้องคดีนี้ ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า การให้บริการของโจทก์เป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77/2 การให้บริการในราชอาณาจักรโดยผู้ประกอบการอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม คำว่า “บริการ” นั้น ประมวลรัษฎากร มาตรา 77/1 (10) ให้หมายความว่าการกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่การขายสินค้า แต่ถ้าการให้บริการนั้นเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรก็ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 81 (1) (ณ) การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรหมายความอย่างไร ประมวลรัษฎากรมิได้ให้ความหมายไว้ เมื่อการให้บริการขนส่งเป็นการให้บริการตามสัญญาขนส่งจึงต้องถือความหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 8 รับขน ซึ่งเป็นเอกเทศสัญญาโดยมาตรา 608 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า “อันว่าผู้ขนส่งภายในความหมายแห่งกฎหมายลักษณะนี้คือบุคคลผู้รับขนส่งของหรือคนโดยสารเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติของตน” และมาตรา 610 บัญญัติว่า “อันบุคคลผู้ทำความตกลงกับผู้ขนส่งเพื่อให้ขนของส่งไปนั้น เรียกว่าผู้ส่ง หรือผู้ตราส่ง บุคคลผู้ซึ่งเขาส่งของไปถึงนั้น เรียกว่าผู้รับตราส่ง บำเหน็จอันจะต้องจ่ายให้เพื่อการขนส่งของนั้น เรียกว่าค่าระวางพาหนะ” จากบทบัญญัติดังกล่าวการให้บริการขนส่งจึงหมายถึงการรับขนของหรือคนโดยสารจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเพื่อบำเหน็จคือค่าระวางพาหนะเป็นทางค้าปกติของผู้ขนส่ง ฉะนั้น หากบำเหน็จที่ได้รับมิใช่ค่าระวางพาหนะแล้ว การให้บริการนั้นก็ไม่ถือเป็นการให้บริการขนส่ง ทั้งเมื่อพิจารณาความในมาตรา 613 (3) ที่กำหนดให้ใบตราส่งต้องระบุจำนวนค่าระวางพาหนะด้วย ยิ่งแสดงให้เห็นว่าบำเหน็จที่ได้รับจะต้องเป็นค่าระวางพาหนะ การให้บริการนั้นจึงจะถือเป็นการให้บริการขนส่ง ค่าระวางพาหนะมากหรือน้อยย่อมขึ้นอยู่กับระยะทาง ความยากง่ายและระยะเวลาขนส่งเป็นสำคัญ คดีนี้บำเหน็จที่โจทก์ได้รับจากลูกค้าเป็นค่าตอบแทนการที่โจทก์ส่งพนักงานไปส่งเอกสารให้ลูกค้าตามที่ลูกค้าสั่ง เป็นค่าตอบแทนที่โจทก์ได้รับเป็นรายเดือนจำนวนแน่นอนตามที่ตกลงในสัญญาจ้างบริการโดยมิได้คำนึงถึงระยะทางความยากง่ายและระยะเวลาขนส่งในแต่ละคราวเป็นสำคัญ ค่าบำเหน็จที่โจทก์ได้รับจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นค่าระวางพาหนะ การให้บริการของโจทก์ในลักษณะดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นการให้บริการขนส่ง การให้บริการของโจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากรมาตรา 81 (1) (ณ) แม้จะเป็นการให้บริการในราชอาณาจักรก็ตาม การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.