แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อประธานศาลปกครองสูงสุดยังมิได้ประกาศกำหนดให้ศาลปกครองกลางเปิดทำการในวันที่โจทก์ยื่นฟ้อง ต้องถือว่ายังไม่มีศาลปกครองกลางที่จะรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา ศาลชั้นต้นที่มีเขตอำนาจซึ่งเป็นศาลยุติธรรมย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของโจทก์ได้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. 2542 มาตรา 105 บัญญัติให้ศาลอื่นที่รับฟ้องคดีปกครองหรือที่คดีปกครองอยู่ในระหว่างการพิจารณาในวันที่ พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับ มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาต่อไปจนคดีนั้นถึงที่สุดเป็นเหตุผลที่แสดงว่าศาลยุติธรรมไม่มีอำนาจรับฟ้องคดีปกครองที่ยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่อีกต่อไป คงมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาได้เฉพาะคดีที่ยังค้างพิจารณาอยู่ในศาลนั้นมาตรา 105 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเพียงแต่บัญญัติรับรองอำนาจของศาลยุติธรรมที่รับฟ้องคดีปกครองหรือที่คดีปกครองอยู่ในระหว่างการพิจารณาในวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเหล่านั้นต่อไปได้โดยไม่ต้องจำหน่ายคดีให้ไปฟ้องต่อศาลปกครองที่จะเปิดทำการในเวลาต่อมาหาใช่ประสงค์จะจำกัดอำนาจศาลยุติธรรมไม่ให้รับฟ้องคดีปกครองในระหว่างที่ศาลปกครองกลางยังไม่ได้เปิดทำการดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่
แม้โจทก์อาจใช้สิทธิร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ได้ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2542 มาตรา 12 แต่การดำเนินการดังกล่าวเป็นเพียงการร้องทุกข์ต่อหน่วยงานของฝ่ายบริหาร ไม่ใช่เป็นการฟ้องคดีปกครองต่อศาลตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองในขณะที่ศาลปกครองกลางยังมิได้เปิดทำการ ศาลยุติธรรมชอบที่จะรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดและเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 10283, 10284, 10285, 10286,10287, 10288, 10289, 10290, 10291, 10292, 10293, 10294,10298, 10299, 10300, 10301, 10302, 10303, 10304, 10305,10306, 10307, 10308 และ 10309 มีเนื้อที่รวมกันประมาณ1,584 ตารางวา จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลโดยเป็นกระทรวงในรัฐบาลมีจำเลยที่ 2 เป็นรัฐมนตรีว่าการ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2539ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงพิเศษหมายเลข 36 สายกรุงเทพมหานคร- ระยอง ตอนกรุงเทพมหานคร – เมืองพัทยา รวมทางแยกไปบรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (บางวัว) และทางแยกเข้าท่าเรือแหลมฉบังที่ทางแยกต่างระดับร่มเกล้าและเพื่อขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3119 สายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304(มีนบุรี) บรรจบถนนอ่อนนุช (ลาดกระบัง) ที่ทางแยกต่างระดับร่มเกล้า พ.ศ. 2539 ออกใช้บังคับ มีผลให้ที่ดินทั้งยี่สิบสี่แปลงของโจทก์ถูกเวนคืนทั้งหมด คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯที่จำเลยที่ 1 แต่งตั้งขึ้นกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ในราคาตารางวาละ 6,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 9,504,000 บาทซึ่งไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ เพราะที่ดินของโจทก์มีราคาตารางวาละ45,000 บาท โจทก์ได้อุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 2 ขอให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์เป็นตารางวาละ 45,000 บาท จำเลยที่ 2 วินิจฉัยให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินเป็นตารางวาละ 22,000 บาท ซึ่งไม่ถูกต้องโจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มอีกตารางวาละ 23,000 บาท รวมเป็นเงิน 36,432,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินซึ่งโจทก์ขอคิดเพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน2539 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 8,017,535.35 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น44,449,535.35 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน44,449,535.35 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในต้นเงิน 36,432,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2542 คดีของโจทก์อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 9 และตามมาตรา 105 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนั้นบัญญัติว่า บรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องหรืออยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอื่นอยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ ให้ศาลนั้นดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาต่อไปจนคดีนั้นถึงที่สุด โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2542 ภายหลังวันที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. 2542 ใช้บังคับแล้ว ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 271จึงไม่มีอำนาจรับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา ไม่รับฟ้อง คืนคำฟ้องและคืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542มาตรา 8 บัญญัติว่า “ให้จัดตั้งศาลปกครองสูงสุดขึ้นมีที่ตั้งในกรุงเทพมหานครหรือในจังหวัดใกล้เคียง
ให้จัดตั้งศาลปกครองกลางขึ้นมีที่ตั้งในกรุงเทพมหานครหรือในจังหวัดใกล้เคียง โดยมีเขตตลอดท้องที่กรุงเทพมหานครจังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดราชบุรีจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดสมุทรสาคร”
และความในวรรคสุดท้ายว่า “ศาลปกครองสูงสุดศาลปกครองกลาง และศาลปกครองในภูมิภาค จะเปิดทำการเมื่อใดให้ประธานศาลปกครองสูงสุดประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดวันเปิดทำการของศาลปกครอง”
ตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นแสดงว่า ในวันที่ 11 ตุลาคม2542 อันเป็นวันที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มีผลบังคับใช้ ได้มีการจัดตั้งศาลปกครองสูงสุดศาลปกครองกลางและศาลปกครองในภูมิภาคขึ้นแล้ว เพื่อทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีปกครองตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ แต่ศาลปกครองเหล่านั้นจะเปิดทำการเมื่อใดต้องเป็นไปตามประกาศของประธานศาลปกครองสูงสุดที่จะกำหนดวันเปิดทำการของศาลปกครองนั้น ๆ เมื่อประธานศาลปกครองสูงสุดยังมิได้ประกาศกำหนดให้ศาลปกครองกลางเปิดทำการในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องก็ต้องถือว่ายังไม่มีศาลปกครองกลางที่จะรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาศาลชั้นต้นที่มีเขตอำนาจซึ่งเป็นศาลยุติธรรมย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของโจทก์ได้ มิฉะนั้นสิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องหน่วยราชการหรือหน่วยงานของรัฐ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนชาวไทยตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช2540 มาตรา 62 ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 105 บัญญัติให้ศาลอื่นที่รับฟ้องคดีปกครองหรือที่คดีปกครองอยู่ในระหว่างการพิจารณาในวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับ มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาต่อไปจนคดีนั้นถึงที่สุดเป็นเหตุผลที่แสดงว่าศาลยุติธรรมไม่มีอำนาจรับฟ้องคดีปกครองที่ยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่อีกต่อไป คงมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาได้เฉพาะคดีที่ยังค้างพิจารณาอยู่ในศาลนั้น เพราะบทบัญญัติดังกล่าวเพียงแต่บัญญัติรับรองอำนาจของศาลยุติธรรมที่รับฟ้องคดีปกครองหรือที่คดีปกครองอยู่ในระหว่างการพิจารณาในวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเหล่านั้นต่อไปได้โดยไม่ต้องจำหน่ายคดีให้ไปฟ้องต่อศาลปกครองที่จะเปิดทำการในเวลาต่อมา หาใช่ประสงค์จะจำกัดอำนาจศาลยุติธรรมไม่ให้รับฟ้องคดีปกครองในระหว่างที่ศาลปกครองกลางยังไม่ได้เปิดทำการดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่ ส่วนที่จำเลยทั้งสองแก้อุทธรณ์ว่า ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2542 มาตรา 12 บัญญัติให้การร้องทุกข์ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 ยังคงมีผลบังคับอยู่ต่อไปจนกว่าศาลปกครองกลางจะเปิดทำการ โจทก์ย่อมใช้สิทธิร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้รับรองหรือคุ้มครองสิทธิของโจทก์ได้อยู่แล้ว ศาลยุติธรรมไม่มีอำนาจรับฟ้องของโจทก์นั้น เห็นว่า แม้โจทก์อาจใช้สิทธิร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ได้ตามบทกฎหมายที่จำเลยทั้งสองยกขึ้นอ้างก็ตาม แต่การดำเนินการดังกล่าวเป็นเพียงการร้องทุกข์ต่อหน่วยงานของฝ่ายบริหาร ไม่ใช่เป็นการฟ้องคดีปกครองต่อศาลตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองในขณะที่ศาลปกครองกลางยังมิได้เปิดทำการ ศาลยุติธรรมชอบที่จะรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฟ้องของโจทก์
พิพากษากลับ ให้รับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา